รีวิว​ : Samsung Galaxy​ Note​ ​10​+ สมาร์ทโฟน​สาย​ Creator​ ใช้คล่อง​ด้วย​ S-Pen​

ห่างหายไปนานมาก ๆ สำหรับรีวิวสมาร์ทโฟนใน Aripfan รอบนี้ผมได้มีโอกาสลองใช้งานเจ้า Samsung Galaxy Note 10+ เป็นเวลาถึงหนึ่งเดือนเต็ม ๆ รีวิวจึงออกช้าไปบ้าง ฉะนั้นในรีวิวนี้ผมก็จะขอเจาะลึกเรื่องความสามารถด้าน Content Creator เป็นพิเศษแทน สืบเนื่องจากทาง Samsung ได้ชู Note 10+ หรือ Note 10 ว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่เกิดมาเพื่อ New Work Tribe หรือ ลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ในยุคนี้ ที่มีไลฟ์สไตล์ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตผสมควบคู่กันไป” โดยเฉพาะ สรุปง่าย ๆ คือ เหมาะสำหรับกลุ่มคนทำ Content อาทิ Blogger , Vloger (หรือ Youtuber), Writer หรือกลุ่ม Creator เช่น นักตัดต่อ, นักวาด และ นักออกแบบ เป็นต้น ในรีวิวนี้จึงขอพิสูจน์จุดนี้แบบเจาะลึกไปเลยว่า มันดีสำหรับสายนี้จริงไหม ? ใช้ลุยงานได้ขนาดไหน และตัว Samsung Galaxy Note 10+ ยังมีความสามารถเจ๋ง ๆ อะไรบ้าง ลองมาดูกันเลยครับ

สเปก Samsung Galaxy Note 10+

Display : Dynamic AMOLED ขนาด 6.8 นิ้ว ความละเอียด Quad HD+ 498 ppi รองรับ HDR10+
CPU : Exynos 9825 64-bit Octa-core (Max. 2.7 GHz + 2.4 GHz + 1.9 GHz)
GPU : Mali-G76 MP12
RAM : 12GB
ROM : 256GB รองรับ MicroSD
Main Camera : กล้องหลัง 4 ตัว (รวมกล้องชัดลึก TOF 3D) แบ่งเป็น เลนส์หลัก ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล F1.5/F2.4 กับกันสั่น OIS ในตัว เลนส์มุมกว้าง ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล F2.2 กับมุมกว้างระดับ 123 องศา และเลนส์ซูม ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล F2.1 กันสั่น OIS ในตัว กับซูมแบบ Optical หรือไม่เสียความละเอียดได้ 2 เท่า
Front Camera : ความละเอียด 10 ล้านพิกเซล พร้อมรูรับแสง F/2.2 ใช้เลนส์มุมกว้างขนาด 26mm
Battery : Li-Ion 4300 mAh รองรับชาร์จไร้สาย Fast Qi / PMA wireless charging 15W / Fast Charging 45W / USB Power Delivery 3.0 / Reverse wireless charging 9W
Connect : USB Type-C (ไม่มีช่องหูฟัง 3.5 mm)
Bluetooth : 5.0, A2DP, LE, aptX
Wi-Fi : Wi-Fi 802.11 a/b/g/n/ac/ax (รองรับ Wi-Fi 6)
ขนาดตัวเครื่อง : 162.3 x 77.2 x 7.9 mm
น้ำหนัก : 162 g
ระบบปฏิบัติการ : Android 9 Pie
สีให้เลือก : Aura Glow (รุ่นที่รีวิว) , Aura Black และ Aura White

แกะกล่อง

อุปกรณ์ภายในกล่องก็ประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง Note 10+ พร้อมปากกา S-Pen ในตัว, หูฟัง In-Ear จาก AKG , Adapter ชาร์จไฟ 45W, สาย USB Type – C to Type – C , หัวแปลง USB A 3.0 to USB Type – C, หัวแปลง USB Type – C to Micro USB, ใส้ปากกา S-Pen สำรอง x 2, เข็มจิ้ม SIM, ชุดคู่มือ และสุดท้ายเคสซีลีโคนแบบใสสำหรับ Note 10+

อุปกรณ์ภายในกล่องของ Samsung Galaxy Note 10+ และ Note 10 รุ่นวางขายจริง

วัสดุและดีไซน์

รอบนี้ทาง Samsung ได้เปิดตัวสีเครื่องใหม่อย่าง Aura Glow สีเงินสะท้อนแสงสีรุ้ง (อารมณ์เดียวกับแผ่น CD) ที่จะมีลวดลายเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแสง ซึ่งในรุ่นที่นำมารีวิวนี้ก็เป็นรุ่นสี Aura Glow ตามภาพ คือสะดุดตามาก ๆ ใครใช้รุ่นนี้สีนี้แบบไม่ใส่เคสแล้วยกโชว์กลางแจ้ง มันต้องมีคนเหลียวมองบ้างละ ด้านวัสดุใช้ Stainless Steel แบบขัดเงา ครอบทับด้วยกระจก Corning Gorilla Glass 6 ทั้งหน้าและหลัง ส่วนดีไซน์ ก็มาในร่างผอมบาง ซึ่งก็บางพอ ๆ กับ S10 เลย และยังมีความโค้งมนแบบเดียวกับ Note 9+ ส่วนตัวเครื่องจะมีหน้าจอขนาดใหญ่ถึง 6.8 นิ้ว แต่ก็ถือจับได้สะดวก (สำหรับมือผู้ชายนะ) และยังมีน้ำหนักเพียง 162 กรัมเท่านั้น

Samsung Galaxy Note 10+ จะมาพร้อมหน้าจอขนาด 6.8 นิ้ว ส่วนรุ่น Note 10 ก็มีขนาด 6.3 นิ้ว ใช้ดีไซน์แบบ Infinity-O Display คือมีรูกล้องเล็ก ๆ อยู่ตรงกลางขอบบนหน้าจอ

จุดสังเกตอย่างหนึ่งของ Note 10+ และ Note 10 คือ ปุ่มตรงขอบได้ย้ายมาฝั่งขวามือหมดเลย และที่สำคัญคือ ปุ่ม Bixby ได้หายไปแล้ว…..ซะเมื่อไร มันย้ายมาอยู่ปุ่มเดียวกับปุ่ม Power เปิดปิดเครื่องแทน ฮ่า ฮ่า แต่แน่นอนว่าเราสามารถตั้งค่าปิดได้​ ส่วนขอบฝั่งซ้ายมือของตัวเครื่อง ก็โล่งราบเรียบ ไร้ปุ่มกดอีกต่อไป สำหรับช่องใส่ SIM ก็ย้ายมาอยู่ตรงขอบบนตัวเครื่องเลย สามารถใส่ SIM ได้ 2 ช่อง หรือ 1 ช่อง หากใส่ Micro SD ด้วย ด้านขอบล่างก็ตามภาพ ไม่มีรูเสียบหูฟัง 3.5 mm อีกต่อไป จะมีเฉพาะพอร์ต USB Type – C และช่องเสียบปากกา S-Pen พร้อมรูลำโพง

สำหรับกล้องหลัง จากเดิมในรุ่น Note 9+ เคยอยู่ตรงกลาง รอบนี้ก็ย้ายมาชิดขอบฝั่งซ้ายมือแทน โดยตัวกล้องก็มีมากถึง 4 ตัว แบ่งเป็น เลนส์หลัก ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล  เลนส์มุมกว้าง ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล ะเลนส์ซูม ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล และสุดท้าบเลนส์ถ่ายภาพชัดลึก TOF 3D

ส่วนกล้องหน้า ก็มาฝังอยู่กลางจอตามฉบับ Infinity-O Display มาพร้อมความละเอียด 10 ล้านพิกเซล ส่วนตัวก็แอบมีรำคาญนิด ๆ แต่ยังดีที่เลนส์กล้องหน้าไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก จึงพอมองข้ามในบ้างจังหวะได้บ้าง

จุดเด่นที่ไม่เหมือนใครของ Note 10+ และ Note 10 ก็ไม่พ้นปากกา S-Pen ที่อยู่ติดกับตัวเครื่องมาทุกซีรีย์

แต่หลังเปิดตัว Note 9 และ Note 10 ในปัจจุบัน ตัวปากกา S-Pen ก็เริ่มมาพร้อมสีที่แตกต่างจากตัวเครื่องแล้ว ส่วนรุ่น Note 10+ สี Aura Glow ที่รีวิวนี้ ก็มาพร้อมปากกา S-Pen กับด้ามจับสีน้ำเงินเข้ม ดูตัดกับสีเงินของรุ่นนี้ได้ลงตัว

ปากกา S-Pen กับตัวเครื่อง Note 10+

สำหรับปากกา S-PEN ของ Note 10+ ก็มีการเปลี่ยนแปลงภายในหลายอย่างมาก โดยจะมีอะไรบ้างนั้น ลองดูได้ในหัวข้อต่อไปนี้เลย

การใช้งาน (Creator)

แต่เดิมตระกูล Galaxy​ Note ก็เป็นสมาร์ทโฟนที่เหมาะสำหรับคนทำงานหรือนักเรียนมานานแล้ว ด้วยความที่มาพร้อมกับปากกา S-Pen ซึ่งสามารถจดบันทึกตัวอักษรลงบนหน้าจอได้ราวกับกระดาษ ทำให้มันทันใจกว่าการที่ต้องมาจิ้มแป้นพิมพ์บนหน้าจอ แต่ในรุ่น Note 10+ นี้ ได้เพิ่มฟีเจอร์อะไรใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเสริมให้ S-Pen ทำได้มากกว่าขีดเขียน ก่อนหน้านี้ผมได้เขียนบทความแนะนำ 10 ฟีเจอร์​เด่น​ Samsung​ Galaxy​ Note​ 10+ ที่คนทำงานถูกใจสิ่ง​นี้​ โดยรวมฟีเจอร์ที่ใช้สร้าง Content จาก Note 10+ โดยเฉพาะ ในรีวิวนี้ก็จะขอพิสูจน์ไปเลยว่า มันลุยได้ขนาดไหน โดยเลือกมา 7 หัวข้อที่คิดว่าเราได้ใช้แน่นอนตามนี้

S-Pen

ทันทีที่ถอดปากกา S-Pen ออกจากเครื่อง ตัว Note 10+ ก็จะมีหน้าตัวเลือกเล็ก ๆ 8 หัวข้อออกมาทันที คือพร้อมใช้งานเลยครับ หรือเราจะปรับการใช้งาน S-Pen อย่างปุ่มลัด หรือการควบคุมอื่น ๆ ก็ได้

หากเราต้องการจะจดบันทึกอะไรสักอย่าง ก็เลือกที่ปุ่ม ‘สร้างบันทึก’ เพื่อขีดเขียนข้อความได้ทันที หรือจะดูข้อความที่สร้างไว้ผ่านตัวเลือก ‘ดูบันทึกทั้งหมด’ ก็ได้

สำหรับสายเขียนบทความ ที่ต้องมองหา Ref. อ้างอิงข้อมูลอยู่เสมอ หากเราเจอข้อมูลที่น่าสนใจ แล้วอยากแกะมันออกมา ก็ทำได้ด้วย ‘การเลือกอัจฉริยะ’ มันจะช่วย Crop หน้าจอบางส่วนให้เราได้ทันที และความเจ๋งอย่างหนึ่งคือ มันสามารถแกะข้อความที่เรา Crop ออกมาเป็น Text ได้ด้วย

แปลภาษาแบบ Realtime ต้องบอกก่อนว่าตัว S-Pen เวลาเราเอาหัวปากกาไปจอใกล้ ๆ กับหน้าจอ (โดยที่ยังไม่แตะโดนจอ) มันจะมีจุดเล็ก ๆ บอกตำแหน่งที่ตัว S-Pen กำลังจิ้มลงไป จุดนี้เราสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างมาก ตัวอย่างแรกคือ ‘แปลภาษา’ โดยจะเป็นหัวข้อท้ายสุดของหน้าเมนู S-Pen ทั้ง 8 ตัวเลือก เมื่อเราใช้ตัวเลือกนี้ ตัว S-Pen จะตั้งค่าให้แปลภาษาจากการเอาปากกาไป ‘จ่อ’ ตัวอักษรที่ต้องการแปล จากนั้นก็จะมีหน้า Pop Up เล็ก ๆ บอกคำแปลให้ทันที สำหรับใครที่อยากแปลแบบทั้งประโยค ก็ใช้ S-Pen ลากประโยคยาว ๆ แล้วใช้ Google Translate แทนก็ได้

Handwriting to Text

น่าจะเป็นฟีเจอร์ยอดนิยม สำหรับคนที่ใช้ Note 10 และ Note 10+ ไปแล้ว ตัว S-Pen สามารถแปลภาษาจากลายมือเรา แล้วแปลงเป็น Text ลงตัวเครื่อง จากการใช้งาน ก็ต้องยอมรับเลยว่า ตัว AI ของเครื่องฉลาดมาก สามารถแกะลายมือได้ค่อนข้างแม่นยำดี และใช้เวลาประมวลผลรวดเร็วพอควร

Drawing

ใน Note 10+ จะมีแอปฯ พิเศษที่ชื่อ ‘PENUP’ เป็นแอปฯ สำหรับวาดรูปด้วยปากกา S-Pen โดยเฉพาะ ความพิเศษคือ ตัวแอปฯ จะรวมผลงานจากผู้ใช้คนอื่น ๆ มาแล้วหลายภาพ และเราสามารถ เรียนรู้วิธีวาดจากภาพนั้น ๆ แบบ Step By Step

เมื่อลองเลือกรูปภาพมาภาพหนึ่ง มันจะมีปุ่ม ‘เรียนรู้การวาด’ หากกดเข้าไป มันจะเปิดคลิปการวาดภาพนั้นแบบตั้งแต่ขั้นตอน​แรก เราสามารถดูได้เลยว่า เค้าใช้เครื่องมืออะไรและวาดส่วนไหนก่อน ระหว่างนี้เราจะลองวาดทับหรือลอง Draft ภาพวาดของเราเองก็ได้

ส่วน Feeling การวาดเป็นไง สารภาพก่อนว่า ผมยังไม่เคยใช้ตระกูล Note มาก่อน เลยไม่รู้ว่าตัว Note 10+ มีการพัฒนาอะไรไหม แต่จากที่ลองได้วาดดูด้วยตัวเองแล้ว ขอชมจากใจเลยว่า เหมือนได้วาดลงบนกระดาษจริง ๆ ประมาณ 90% (ตัด 10% เพราะยังไงก็รู้สึกว่าวาดบนจอกระจกอยู่) อย่างแรก เวลาเราขีดเขียนหรือวาดภาพผ่าน S-Pen มันจะมีเสียงเอฟเฟคจำลองผิวกระดาษจริง ๆ ดังออกมา อย่างที่สอง ระดับแรงกดที่ใกล้เคียงกับการวาดบนกระดาษ เราสามารถลากเส้นเบา​ เส้นหนัก กดให้เข้ม ตวัด หรือไล่ลงเงาได้สมใจ เมื่อเจอแบบนี้ เลยขอละเลงไปหนึ่งภาพงาม ๆ ผ่านแอปฯ PENUP (Ref. ภาพปก Art Book ครบรอบ 10 ปี ของอาจารย์ Hiro Kiyohara)

Live Focus

ในแอปฯ กล้องของ Note 10+ จะมีตัวเลือก ‘วิดีโอไลฟ์โฟกัส’ ให้เราสามารถปรับโฟกัสหรือหน้าชัดหลังละลายของวิดีโอได้เลย และนอกจากนี้ยังมีตัวเลือกเอฟเฟคโบเก้สวย ๆ ให้ใช้เพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตาม จากที่ลองดูแล้ว เราสามารถปรับได้เฉพาะก่อนถ่าย หลังถ่ายแล้วจะปรับได้เฉพาะความสว่างเท่านั้น

ตัวอย่างการเทส Live Focus

Video Editor

เดี๋ยวนี้สมาร์ทโฟนหลายรุ่น สามารถถ่ายวิดีโอและตัดต่อวิดีโอผ่านแอปฯ ได้แล้ว แต่งานตัดต่อนั้น ก็ต้องยอมรับเลยว่ามันต้องใช้ความแม่นยำสูง หากเรามีเมาส์ก็หายห่วง แต่บนสมาร์ทโฟน นิ้วมือของเราไม่ได้แม่นยำขนาดนั้น ยกเว้นเรามี S-Pen (เสียงเอคโค่) ใน Note 10+ ก็ได้อานิสงส์ไปเต็ม ๆ​ เมื่อ​มีปากกา S-Pen มาช่วยจิ้มหรือควบคุมการตัดต่อแทนนิ้วมือเรา ความดีงามมันเห็นได้ชัด เหมือนเราได้ใช้เมาส์ยังไงยังงั้น

และสำหรับตัว Note 10+ ก็มาพร้อมแอพฯ Video Editor ที่สามารถใช้ตัดต่อคลิปแบบสั้น ๆ หรือพอใช้จบงานได้เลย ตัวแอพฯ ใช้งานง่ายมาก ๆ แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างคือ ไม่มี Save Project เพื่อกลับมาแก้ไขต่อภายหลังไม่ได้ ตัดแล้วต้องจบงานเลย อย่างที่สองคือไม่มีหน้า Layer แบ่งช่องวิดีโอกับช่องใส่เสียงแบบในโปรแกรมตัดต่อบน PC แต่ปัญหานี้ก็แก้ด้วย Adobe Premiere Rush for Samsung แอพฯ ตัดต่อวิดีโอระดับโปรจาก Adobe เครื่องมือมีครบ ตัดต่องานแบบมืออาชีพได้เลย ซึ่งสามารถโหลดได้ฟรีบน Galaxy Store

ปล.เวอร์ชั่นฟรีสร้างเอ็กพอร์ทโปรเจ็คได้แค่ 3 ครั้งนะฮะ..

ตัวอย่างคลิปวิดีโอที่ถ่ายและตัดต่อผ่าน Video Editor โดย Samsung​ Galaxy​ Note​ 10+

Screen Recorder

ใน Note 10+ จะมีฟีเจอร์ Screen Recorder ช่วยบันทึกวิดีโอหน้าจอสมาร์ทโฟน ความเจ๋งของมันคือ มันไม่ใช้เพียงบันทึกหน้าจอเท่านั้น แต่ยังเปิดกล้องหน้า เพื่อบันทึกภาพใบหน้าของเราระหว่างเปิดฟีเจอร์นี้ไปพร้อมกันได้ ใครที่อยากทำคลิป How to หรือแคซเกม ฟีเจอร์นี้น่าจะได้ใช้ประโยนช์แน่ ๆ แต่จากที่ลองใช้แล้ว คำตอบก็อยู่ในคลิปข้างล่างนี้เลยครับ

เทส Screen Recorder บันทึกหน้าจอพร้อมเปิดกล้องหน้า Samsung​ Galaxy​ Note​ 10+

Samsung DeX

จากที่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ (แท่นวาง) ปัจจุบันสามารถต่อสาย USB เข้ากับ Desktop PC หรือโน๊ตบุ๊คได้เลยทันที ส่วน Samsung DeX ก็คือฟีเจอร์ช่วยแปลงให้จอคอมหรือ TV กลายเป็นเครื่องคอมฯ ขนาดย่อม โดยใช้ Note 10+ เป็นตัวประมวลผลหลัก จะเรียกว่าเป็นการแปลง Android ให้มีหน้าตา UI คล้าย Windows เพื่อช่วยให้ทำงานผ่าน Note 10+ ได้สะดวกขึ้นก็ว่าได้

จากที่ลองใช้ ตัว Samsung DeX สามารถให้ความรู้สึกเหมือนกำลังใช้ PC ได้ดีเลย เปิดแอพฯ ใน Note 10+ แบบเป็น Pop Up ซ้อนกันได้หลายแอปฯ กดลากวางไฟล์หรือไอคอนได้เหมือน Windows มีหน้าแสดงแอปฯ เรียงให้กดได้สะดวก สรุปใช้ได้ดี แต่ใช้ไปนาน ๆ แอบมีหน่วง ๆ อยู่​เหมือนกัน

ปล. หากจะใช้ Samsung DeX เครื่อง PC ที่จะเอา Note 10+ มาเชื่อมต่อ จำเป็นต้องลงโปรแกรม Samsung DeX ก่อน ถึงจะเสียบใช้งานได้นะเออ

เล่นเกมผ่าน Samsung DeX ได้ (แต่ไม่แนะนำ)

พิมพ์งานผ่าน Samsung DeX จุดนี้หากไม่มีชุดแอปฯ Microsoft Office ก็ใช้แอปฯ Samsung Notes แทนได้ หากจะพิมพ์ไทย ก็ต้องกดเปลี่ยนภาษาผ่านหน้าตั้งค่าคียบอร์ดของ Samsung ก่อนตามภาพ

Link To Windows

จุดนี้ ใครที่บ้านต่อจอ Monitor สองตัว จะใช้งานฟีเจอร์นี้ร่วมกับ Samsung DeX ได้สะดวกขึ้นมาก ตัว Link To Windows ก็คือฟีเจอร์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Samsung และ Microsoft ให้เราสามารถลากและวางไฟล์ระหว่าง Note 10+ ผ่านเครื่อง PC หรือโน๊ตบุ๊คได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เหมือนกับ Samsung DeX ต้องลงแอปฯ สำหรับ Windows อย่าง “Your Phone” ก่อน ถึงจะใช้งานฟีเจอร์นี้ได้

ประสิทธิภาพ

ขุมพลังหลักของ Note 10+ คือ ซีพียู Exynos 9825 + ชิปกราฟฟิก Mali-G76 MP12 และแรมขนาด 12GB ก็นับเป็นสเปกที่สมฐานะ Hi-End หรือเรือธงรุ่น Top สุด ส่วนจะมีประสิทธิภาพขนาดไหนนั้น ก็ตามนี้เลย

เทส AnTuTu Benchmark ก็ได้คะแนนไป 352,470 เกือบเทียบเท่ากับ Note 10+ ที่ใช้ซีพียู Snapdragon 855 ส่วน AndroBench เทสความเร็วอ่านเขียน ROM หรือหน่วยความจำภายใน 256GB ก็ได้ไป 1500 MB/s สำหรับความเร็วการเขียน และ 571 MB/s สำหรับความเร็วการอ่าน

ลองเทสเกม Super Mecha Champions (ปรับสุด) บน Samsung​ Galaxy​ Note​ 10+

ผลการเทส

กล้อง (Main Camera)

การเทสกล้องรอบนี้ ผมจะไม่บอกว่าภาพสวยหรือคมชัดขนาดไหน จุดนี้อยากให้ผู้อ่านลองดูด้วยตาตัวเองเลยครับ​ สำหรับกล้องหลังของ Note 10+ ทั้ง 4 ตัว หรือ 4 เลนส์ อาทิ 12 + 12 + 12 ล้านพิกเซล แบ่งเป็น เลนส์หลัก + เลนส์มุมกว้าง + เลนส์ซูม + เลนส์กล้องชัดลึก Time Of Flight หรือ TOF จุดที่ Note 10+ ชูเป็นพิเศษเลยคือ เลนส์มุมกว้าง ถือเป็นของใหม่สำหรับ Note 10+ ที่ช่วยให้ถ่ายภาพแบบมุมกว้างได้สะดวก บันทึกภาพได้เต็มตาจริง ๆ ตามนี้

เทสประสิทธิภาพการซูม

หน้า UI กล้องของ Note 10+

เทสวิดีโอ Full HD จากกล้องหลัง Note 10+

รวมภาพจากกล้องหลัง Note 10+ 

สรุป

สรุปการใช้ชีวิตร่วมกับ Samsung​ Galaxy​ Note​ 10+ เป็นเวลาหนึ่งเดือน เมื่อช่วงต้นเดือน ผมมีโอกาสได้ไปทำข่าวที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ตอนนั้นผมพกเจ้า Note 10+ ไปด้วย เพื่อเอาไปช่วยลุยงานเขียนข่าวกับถ่ายภาพข่าวแบบเต็มที่ สิ่งที่ต้องพูดก่อนเลยคือ แบตฯ ที่อยู่ทนพอควร ตลอดทั้งวันผมต้องถ่ายรูปด้วย Note 10+ พร้อมเปิดโรมมิ่งเขียนข่าวบน Facebook และเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง ผมสามารถฝากชีวิตให้มันทั้งวันได้ โดยไม่ต้องเพิ่ง Power Bank เลย ด้านการชาร์จ จาก 0% ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง ก็ชาร์จได้ถึง 95% ขึ้นไป

กลับมาที่สรุปจริง ๆ ล่ะ ตัวเครื่องดีไซน์สวย จอใหญ่ จับกระชับมือดี ปากกา S-Pen ตอนลุยงานได้ใช้ตลอด และมันก็ตอบโจทย์การทำงานได้หลาย ๆ อย่างดี จนหลัง ๆ เริ่มติด บางครั้งตอนใช้งานทั่วไป​ ก็ต้องมีเผลอถอดมันออกมาควงเล่นแบบไม่รู้ตัวซะงั้น

ฟีเจอร์ Creator ด้านฟีเจอร์ที่ต้องใช้ร่วมกับปากกา S-Pen คือผ่านเลย ใช้ได้ดีจริง จดงาน วาดรูป เหมือนเขียนใส่กระดาษอยู่พอควร ส่วนการตัดต่อวีดีโอ กับ Samsung DeX และ Screen Recorder ก็ใช้งานได้ระดับหนึ่ง

เรื่องกล้อง โดยรวมคิดว่าถ่ายได้หลายมุมมองมากขึ้นด้วยเลนส์มุมกว้าง ในภาพจากกล้องที่โชว์ในรีวิวนี้ ก็เป็นการถ่ายจากโหมด Auto ทั้งหมด ผลก็ได้ตามภาพเลย

สุดท้าย Samsung​ Galaxy​ Note​ 10+ ก็สนนราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 37,900 บาท เป็นรุ่น 12GB/256GB ส่วนรุ่น Top สุด 12GB/512GB ก็อยู่ที่ 40,900 บาท นับว่ามีราคาอยู่เหมือนกันครับ