แม้แต่โดรนสี่ใบพัด ที่บินได้คล่องแคล่วที่สุด ก็ยังคงเจอปัญหาในการหยุดตัวเองทันทีเมื่อกำลังเคลื่อนที่ไปด้านข้างด้วยความเร็วสูง
ทำให้ความสามารถในการบังคับหลบหลีกมีจำกัด แต่โดรนทดลองลำใหม่ได้เข้ามาแก้ปัญหานี้ โดยเลียนแบบกลไกจากธรรมชาติ นั่นคือการกางปีกแผ่นบางๆ คล้ายกับของกระรอกบินออกมาเมื่อต้องการเบรก
โดยปกติแล้ว โดรนขนาดเล็กนี้จะบินเหมือนควอดคอปเตอร์ทั่วไป คือมีโครงสร้างแบบสี่ใบพัด มีแกนกลางสำหรับใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแขนสี่ข้างที่ปลายติดใบพัด
แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่ปีกแผ่นซิลิโคนบางๆ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากกระรอกบิน ติดตั้งอยู่ระหว่างแขนใบพัดด้านหน้าและด้านหลังของโดรนแต่ละข้าง ปีกเหล่านี้จะถูกพับเก็บไว้แนบกับลำตัวขณะบินเดินทางตามปกติ เพื่อให้ตัวโดรนเพรียวลม ลดแรงต้านอากาศ
ทว่าเมื่อต้องการเบรกหรือลดความเร็วอย่างกะทันหัน ปีกทั้งสองข้างจะถูกกางออกพร้อมกันอย่างรวดเร็วด้วยกลไกพิเศษที่ควบคุมโดยเซอร์โวมอเตอร์ (มอเตอร์ควบคุมขนาดเล็ก) ในขณะเดียวกัน โดรนก็จะกดส่วนท้ายต่ำลงเล็กน้อย เพื่อให้ปีกที่กางออกมารับลมได้เต็มที่และสร้าง แรงต้านอากาศ หรือ Aerodynamic Drag สูงสุด ซึ่งช่วยให้โดรนหยุดการเคลื่อนที่ไปด้านข้างได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมมาก
จากการทดสอบด้วยการจำลองบนคอมพิวเตอร์ พบว่าเทคโนโลยีนี้ช่วยให้โดรนสามารถบินหลบหลีกสิ่งกีดขวางในสภาพแวดล้อมจำลองที่ซับซ้อนคล้ายป่าได้สำเร็จถึง 90.5% เปรียบเทียบกับโดรนทั่วไปที่ไม่มีปีกพิเศษนี้ซึ่งทำได้เพียง 9.52%
ต้องยอมรับว่า มันเหมาะกับการเอาไปใช้กับโดรนขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก เช่น โดรนการเกษตร ที่มีความเสี่ยงว่าจะชนสิ่งกีดขวางมากกว่าโดรนถ่ายภาพ ผู้พัฒนาโดรนในไทย น่าเอาไปบ้างเลยนะ
ที่มา
https://newatlas.com/drones/flying-squirrel-inspired-drone/