เจาะความสำเร็จแบรนด์ใหญ่ Cloud Service ในงาน AWS Summit Bangkok 2025 

AWS Summit Bangkok 2025 

AWS Summit Bangkok 2025 เป็นงานสัมมนาใหญ่ด้านเทคโนโลยีประจำปีที่จัดขึ้นโดย Amazon Web Services (AWS) ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของ AWS Summit Series ซึ่งจัดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกครับ

ในครั้งนี้ ได้มีการหยิบ Study Case จากบริษัทชั้นนำ ที่มีการนำบริการต่าง ๆ ของ AWS ไปใช้ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในการธุรกิจมากขึ้น จะน่าสนใจขนาดไหน เดี๋ยว Techhub บอกให้ฟังครับ 

ในช่วงเปิดงาน คุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์  Country Manager ของ AWS ประเทศไทย  ได้กล่าวถึงการเดินทางของ AWS ในประเทศไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้เห็นการเติบโตของชุมชนผู้ใช้เทคโนโลยีคลาวด์และ AI อย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเปิดตัว AWS Asia Pacific Region อย่างเป็นทางการ

 หัวใจสำคัญของการมี Region ในประเทศไทยคือการนำเสนอเทคโนโลยีที่อยู่ภายใต้มาตรฐานระดับโลกของ AWS ทั้งในด้านประสิทธิภาพ, เสถียรภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยและการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้าน Data literacy ที่ข้อมูลบน Cloud นั้น จะอยู่ภายในประเทศ  สามารถเข้าถึงบริการคลาวด์และ AI ได้อย่างรวดเร็ว มีความหน่วงต่ำ (Low Latency) ซึ่งจำเป็นสำหรับแอปพลิเคชันที่ต้องการการตอบสนองแบบเรียลไทม์ 

 ภายในงาน ได้เชิญผู้บริหารบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ที่ได้มาเล่าถึงความสำเร็จขององค์กร โดยได้นำเทคโนโลยี จาก AWS โดยเฉพาะ AI มาปรับใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น 

 LINE MAN Wongnai 

คุณยอด ชินสุภัคกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ LINE MAN Wongnai (LMWN) ได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับแพลตฟอร์มที่ของ AWS ทำให้บริษัทก้าวสู่การเติบโตได้มากขึ้นคือ

 1.โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ (Cloud Infrastructure) ที่ยืดหยุ่นและปรับขนาดได้

  • LMWN ใช้ AWS เป็นพาร์ทเนอร์หลักในการให้บริการคลาวด์มาตั้งแต่ปี 2013 (Wongnai เริ่มใช้) ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันที่มีธุรกรรมและผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล
  • ตัวอย่างความสำเร็จคือ โครงการ คนละครึ่ง ที่ LMWN สามารถพัฒนาระบบและเปิดให้บริการได้ภายใน 28 วัน รองรับผู้ใช้งานจำนวนมากได้ตั้งแต่วันแรก ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการปรับขนาด (Scalability) และความน่าเชื่อถือ (Reliability) ของ AWS ที่รองรับภาระงานหนักได้

 2.พลังการประมวลผลสำหรับระบบซับซ้อน

  • LMWN ใช้ AWS ในการรัน ระบบจำลองสถานการณ์ หรือ Simulation System สำหรับการจ่ายงานให้กับไรเดอร์ ในธุรกิจ Food Delivery โดยจะนำข้อมูลต่าง ๆ มาประมวลผล โดยระบบนี้มีการคำนวณและจำลองสถานการณ์มากกว่า 300 ครั้งต่อสัปดาห์  ทำให้สามารถช่วยลลดต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจได้

 CP Group

คุณสรรเสริญ สมัยสุต ประธานคณะผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) และกรรมการผู้จัดการบริษัท แอ็คซอน (AXONS) กล่าวในงาน AWS Summit 2025 ว่า AWS มีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนและจัดทำ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านเทคโนโลยีให้กับเครือ CP Group โดยโครงสร้างพื้นฐานนี้เป็นส่วนสำคัญที่รองรับการดำเนินงานและการทรานส์ฟอร์เมชันทางเทคโนโลยีของเครือฯ

 ในกลุ่มธุรกิจอาหาร เช่น CPF ซึ่งการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานมีความซับซ้อนและมีตัวแปรควบคุมไม่ได้จำนวนมาก เช่น สิ่งมีชีวิต, สภาพแวดล้อม AWS ได้เข้าไปร่วมช่วยพัฒนา ในส่วนของการบริหารจัดการข้อมูลเบื้องหลัง ซึ่งจำเป็นสำหรับการเชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพและต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันในระดับโลกได้

 คุณสรรเสริญ ยังเน้นย้ำว่าการเข้าสู่ยุค AI ให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องมี ความพร้อมของข้อมูล,กระบวนการทำงานที่เป็นดิจิทัลบนแพลตฟอร์มและ เทคโนโลยี  ซึ่ง AWS ได้เข้ามาช่วยในส่วนของ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในทุกส่วนงานอีกด้วย

 ปตท.

 ปตท. ตัดสินใจที่จะปรับปรุงระบบ SAP ERP เดิมที่ใช้งานมากว่า 20 ปี โดยเลือกใช้โซลูชัน RISE with SAP ซึ่งเป็นการที่ SAP ให้บริการซอฟต์แวร์ SAP S/4HANA และบริหารจัดการระบบทั้งหมดบนคลาวด์

สำหรับ ปตท. นั้น โซลูชัน RISE with SAP ที่เลือกใช้ ทำงานอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานของ AWS Infrastructure  ซึ่งหมายความว่าระบบ SAP S/4HANA และข้อมูลที่เกี่ยวข้องของ ปตท. จะถูกโฮสต์และประมวลผลบนดาต้าเซ็นเตอร์ของ AWS โดยมี SAP เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการ

 ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ ปตท. เลือกใช้โซลูชันนี้บน AWS คือ การที่ AWS มี Region ตั้งอยู่ในประเทศไทย (AWS Thailand Region) สิ่งนี้ช่วยตอบโจทย์เรื่อง Data Residency หรือการจัดเก็บข้อมูลไว้ภายในประเทศ ซึ่งเป็นข้อกังวลและสอดคล้องกับแนวนโยบายภาครัฐที่ ปตท. ให้ความสำคัญ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในด้านอื่น ๆ ที่ช่วยให้ธุรกิจคล่องตัวมากขึ้นทั้ง 

 ความยืดหยุ่น โดยโซลูชั่นจาก AWS สามารถปรับเพิ่มหรือลดทรัพยากรได้ตามความต้องการทางธุรกิจ ซึ่งยืดหยุ่นกว่าการลงทุนและดูแลฮาร์ดแวร์เอง

การเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน จากการลงทุนซื้อฮาร์ดแวร์เอง (CapEx) ไปเป็นการจ่ายค่าบริการตามการใช้งาน (OpEx) ซึ่งนำไปสู่การประหยัดต้นทุนในระยะยาว

การเข้าถึงนวัตกรรม การอยู่บนคลาวด์ของ AWS ช่วยให้ SAP สามารถนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับ ปตท. ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น โซลูชัน AI และโซลูชันที่เกี่ยวกับความยั่งยืน ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ของ SAP ก็จะทำงานบนพื้นฐานของ AWS อีกทอดหนึ่ง

การมุ่งเน้นธุรกิจหลัก โดยปตท. สามารถลดภาระในการดูแลระบบ IT Infrastructure และหันไปมุ่งเน้นการพัฒนากลยุทธ์และธุรกิจหลักของตนเองได้มากขึ้น เนื่องจาก SAP เป็นผู้ดูแลระบบบน AWS ให้

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 

 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ใช้โซลูชันจาก AWS เป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้าน AI และการย้ายระบบต่าง ๆ สู่คลาวด์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและยกระดับประสบการณ์ลูกค้าต่าง ทั้ง

Amazon Bedrock  

ใช้พัฒนา  Generative AI Agent ซึ่งเป็น เอเจนต์ AI แบบเฉพาะทาง เพื่อแปลงโค้ดโปรแกรมจากระบบภายในองค์กร (on-premise) สู่ระบบคลาวด์โดยอัตโนมัติ ในการย้ายดาต้าแพลตฟอร์ม ซึ่งรวมถึงคลังข้อมูลและโมเดล Machine Learning

การทำแบบนี้ ช่วยลดระยะเวลาการย้ายระบบสู่คลาวด์ได้มากกว่า 50% เมื่อเทียบกับวิธีเดิม  สามารถนำ AI Agent มาใช้ซ้ำสำหรับการย้ายระบบในอนาคตและการแปลงข้อมูลรูปแบบอื่นๆ ยังสามารถทำให้ย้าย Machine Learning Model จากแพลตฟอร์มเดิมไปยัง Amazon SageMaker ได้อย่างไร้รอยต่อ

 Amazon SageMaker

 ธนาคารกรุงศรี ใช้ช่วยตรวจจับบัญชีม้า ทำให้ยกระดับการตรวจจับบัญชีม้าไปอีกขั้น จากเดิมที่ต้องรอข้อมูลภายนอก มาเป็นระบบตรวจจับอัตโนมัติเชิงรุก และทำให้ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้ง 

  • เพิ่มความแม่นยำสูงในการตรวจจับ และลดการแจ้งเตือนที่ผิดพลาด (false positives)
  • ปกป้องลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดรับกับกฎระเบียบใหม่

 นอกจากนี้ ยัใช้เพื่อปรับปรุงระบบเติมเงินที่เครื่อง ATM และบริการรถขนเงิน ด้วยการรวมโมเดล Machine Learning (จาก 6,000 โมเดล เหลือเพียง 3 โมเดล) เพื่อคาดการณ์และจัดการความต้องการใช้เงินสดได้แม่นยำขึ้น ทำให้เครื่อง ATM ของกรุงศรีพร้อมให้บริการลูกค้าอยู่เสมอ และบริหารจัดการการกระจายเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความพึงพอใจให้ลูกค้า

มหาวิทยาลัย เชียงใหม่

หาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Generative AI ของตนเองคือ ChatGen และ Matthew มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการเรียนรู้ให้แก่บุคลากรและนักศึกษากว่า 52,000 คน และขับเคลื่อน มช. สู่การเป็น มหาวิทยาลัย AI โดยโซลูชันต่าง ๆ จาก  AWS คือ

Amazon Bedrock

  • เป็นหัวใจหลักที่ช่วยให้แพลตฟอร์ม ChatGen และ Matthew สามารถเข้าถึงและใช้งานโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Models – LLMs) พื้นฐานหลากหลายรุ่น (เช่น Claude, Llama, Mistral) เพื่อสร้างความสามารถด้าน Generative AI ต่างๆ เช่น การตอบคำถาม การสรุปเนื้อหา การวิเคราะห์ข้อมูลและรูปภาพ การสร้างเอกสาร และการแปลภาษา ทำให้ มช. สามารถสร้างเครื่องมือ AI ที่หลากหลายและทรงพลังสำหรับบุคลากรและนักศึกษา

Amazon Nova 

  • ผสานการทำงานเข้ากับ ChatGen เพื่อรองรับฟังก์ชันการสนทนาอัจฉริยะและระบบให้คำแนะนำอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น การแนะนำวิชาเรียนที่เหมาะสมสำหรับการลงทะเบียนของนักศึกษา โดยสามารถสร้างผู้ช่วยอัจฉริยะที่สามารถให้คำแนะนำเฉพาะบุคคลและตอบโต้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

สำหรับChatGen ถูกนำไปใช้พัฒนา Student Compass AI ซึ่งเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะให้นักศึกษาวางแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับเส้นทางอาชีพ, แนะนำรายวิชา, จัดตารางเรียน และติดตามความก้าวหน้า นอกจากนี้ยังใช้ในการสรุปรายงานการประชุม, ประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร และสร้างระบบตอบคำถามอัตโนมัติเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ 

ส่วน  Matthew ได้เปิดโอกาสให้คณาจารย์สามารถสร้างผู้ช่วยอัจฉริยะที่ปรับแต่งให้เหมาะสมกับแต่ละรายวิชาได้ โดยปัจจุบันมีการสร้างแล้วมากกว่า 1,000 รูปแบบ เช่น Kathi เป็น AI ที่ช่วยแนะนำนักศึกษาในการเขียนคำสั่ง Prompt Engineering เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาในหลากหลายด้าน เช่น การเตรียมเนื้อหาการเรียน และการพัฒนาระบบติวเตอร์อัจฉริยะ 

สำหรับงาน AWS Summit 2025 Bangkok ในครั้งนี้ได้ฉายภาพความก้าวหน้าและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคลาวด์และ AI ในภาคธุรกิจไทยอย่างชัดเจน ซึ่งการเปิดตัว AWS Asia Pacific Region ในประเทศไทยนับเป็นหมุดหมายสำคัญที่ช่วยลดข้อจำกัดด้าน Data Residency และเพิ่มความเร็วในการเข้าถึงบริการ ทำให้องค์กรต่างๆ สามารถนำนวัตกรรมระดับโลกของ AWS มาปรับใช้ได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพสูงสุด