ลดความซับซ้อน สคก.จับมือ Microsoft นำ AI ช่วยเทียบกฎหมายไทย

[Top Stories] เมื่อพูดถึง “กฎหมาย” หลายคนอาจอาจรู้จักอยู่ไม่กี่ข้อ หากต้องเจาะลึกไปอีก ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของทนายหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่เข้าถึงกฎหมายได้มากกว่าคนทั่วไป ทว่าแม้แต่คนเหล่านั้นก็คงเหนื่อย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายในระบบกว่า 70,000 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับก็อยู่ในเอกสารกองโต ทำให้มีความซับซ้อนและเข้าถึงยาก (เหลือเกิน) จนล่าสุดทางหน่วยงานสำคัญในไทยอย่าง “สคก.” กับ “สลค.” ได้ร่วมมือกับ Microsoft เตรียมนำ AI เข้ามาช่วยจัดระเบียบกฎหมายไทย ให้กลายเป็นข้อมูลที่ “ค้นหาได้ทันที” ช่วยย่นเวลา วิเคราะห์แม่นยำ และรองรับมาตรฐานสากลด้วย

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) , สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลค.) และ Microsoft ได้จับมือกัน เซ็น MOU ตั้งเป้าปฏิวัติระบบกฎหมายของประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว

สืบเนื่องจากไทยมีเป้าหมายเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งจะช่วยเปิดประตูสู่โอกาสทางการค้าและการลงทุนระดับโลก ฉะนั้นระบบกฎหมายก็ต้องทันสมัยตามไปด้วย เพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานโลกหรือตามข้อกำหนดของ OECD นี้เอง

อย่างไรก็ตาม การจะแปลงกฎหมายไทยกว่า 70,000 ฉบับ ให้กลายเป็นข้อมูลดิจิทัลที่สามารถค้นหาได้ทันที และต้องมีระบบแปลอัตโนมัติ [ไทย-อังกฤษ] ให้รองรับงานระดับนานาชาติได้ด้วย จุดนี้เองจึงเป็นหน้าที่ของ AI หรือ NLP (Natural Language Processing) ที่เข้ามาช่วยวิเคราะห์ เปรียบเทียบ แปลภาษา และเป็นฐานข้อมูลกลาง ที่แชร์ข้อมูลด้านกฎหมายได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

ระบบ TH2OECD: ปัญญาประดิษฐ์ช่วยจัดระเบียบกฎหมายไทย

เพื่อก้าวข้ามความท้าทายนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (OCS) ได้จับมือกับ STelligence พัฒนาระบบ TH2OECD ขึ้นบนแพลตฟอร์ม Microsoft Azure OpenAI ซึ่งเปรียบเสมือนตัวหลักของการปฏิรูปครั้งนี้เอง โดยหน้าที่หลัก ๆ ก็มีตามนี้

  • วิเคราะห์เรียลไทม์: เปรียบเทียบกฎหมายไทยกว่า 70,000 ฉบับ กับข้อกำหนดของ OECD กว่า 270 ฉบับได้ทันที
  • แปลภาษาทะลุกำแพง: “ภาษาเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ” นายปกรณ์กล่าว แต่ AI ช่วยแปลกฎหมายไทยเป็นอังกฤษ และแปลข้อกำหนด OECD เป็นไทยได้อัตโนมัติ
  • จับคู่ความต่างอย่างแม่นยำ: ใช้เทคโนโลยีประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) ช่วยไฮไลต์ความแตกต่างระหว่างกฎหมายไทยและมาตรฐานสากล ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายและแม่นยำขึ้น
  • ขับเคลื่อนบนคลาวด์เต็มรูปแบบ: ทำงานบน Microsoft Azure เปลี่ยนข้อมูลกฎหมายจากไฟล์ PDF ที่ค้นหายาก ให้กลายเป็นข้อมูลที่มีโครงสร้างและพร้อมใช้งานทันที

สรุปง่าย ๆ คือ TH2OECD ช่วยเปลี่ยนไฟล์หน้ากฎหมายที่อาจถูกแสกนเป็นไฟล์ PDF ให้กลายเป็นข้อมูลที่ค้นหาได้ทันที ทั้งยังวิเคราะห์และเปรียบเทียบเนื้อหากฎหมายไทยกว่า 70,000 ฉบับ กับข้อกำหนดของ OECD กว่า 270 ฉบับ ได้อย่างรวดเร็วแบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังทลายกำแพงภาษารองรับการทำงานข้ามภาษาทั้งไทยและอังกฤษ ด้วยระบบแปลภาษาอัตโนมัติที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งสำคัญมากเพราะภาษาไทยไม่ใช่ภาษาราชการของ OECD ซึ่งทั้งหมดนี้ทำงานอยู่บนระบบคลาวด์ Microsoft Azure ที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง

อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของโครงการนี้คือ การสร้างฐานข้อมูลช่วยยกระดับบุคลากรภาครัฐให้ใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถแชร์ข้อมูลกฎหมายเพื่อช่วยออกแบบแนวทางธรรมาภิบาล-จริยธรรม AI ได้ และอาจนำไปสู่การส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐอื่นนำ AI มาใช้งานจริง สุดท้ายคึอการตั้งศูนย์กลาง AI ระดับภูมิภาค ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการใช้ AI ของภาครัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในที่สุด

“ในอดีต การทำงานต้องพึ่งพาเอกสารฉบับพิมพ์และฐานข้อมูลที่มีข้อจำกัด ทำให้การสืบค้นและเข้าถึงข้อมูลเป็นไปได้ยาก แต่ตอนนี้ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป”

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าว พร้อมมองว่าเอกสารกฎหมายกว่า 70,000 ฉบับ ที่มีทั้ง พ.ร.บ. , กฎกระทรวง และประกาศต่าง ๆ ทั้งหมดถูกเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ดังนั้นการจะปรับปรุงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลแต่ละครั้ง จึงเป็นภารกิจที่ใหญ่และใช้เวลามหาศาลทีเดียว

“การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่คือเรื่องของคน และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น และสนับสนุนความก้าวหน้าของประเทศไทย” นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทางด้าน Microsoft ก็มองว่าภารกิจนี้มีความท้าทายมาก การเปรียบเทียบกฎหมายไทยกว่า 70,000 ฉบับกับเครื่องมือทางกฎหมายของ OECD กว่า 276 รายการภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี เป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องใช้เวลาหลายปีในการดำเนินการ ซึ่งทาง สคก. ได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าและความเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

สุดท้ายนี้หาก AI ได้เรียนรู้เรื่องกฎหมายไทยได้ 100% ในอนาคตผู้ใช้ในไทยก็อาจใช้งาน Copilot ช่วยถามตอบเรื่องกฎหมายได้เลย แต่นั้นก็เป็นเรื่องของอนาคตจริง ๆ เพราะข้อมูลกฎหมายนั้น ต้องห้ามผิดพลาดเด็ดขาดเลย