จุฬาฯ สร้างเกมสุดล้ำ บำบัดสมาธิสั้น ป้องกันโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์

ใครว่า “เกมไร้สาระ?” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดตัวเกมไฮเทค ใช้อุปกรณ์รับคลื่นสมองมาบังคับเกม ช่วยเพิ่มสมาธิ รวมถึงป้องกันโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ได้

brain-game-chula

เมื่อวานนี้ (27 ก.ค.) ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ แถลงข่าวเปิดตัว “เกมคลื่นสมอง…พิชิตอัลไซเมอร์” ซึ่งเกมดังกล่าวใช้เทคนิคใหม่นำคลื่นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาธิ มากรองสัญญาณให้ชัดเจนมากขึ้น จนนำมาสู่การต่อยอดเป็นเกมที่ออกแบบเฉพาะเพื่อความเหมาะสมกับกลุ่มเด็กสมาธิสั้นและผู้สูงอายุที่มีระดับความรู้คิดเสื่อมถอยและผู้ป่วยสมองเสื่อม จนได้รับรางวัลเหรียญทองนวัตกรรมทางสมองระดับโลก จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ที่นิทรรศการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 44 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเทคนิคใหม่นี้ได้มีการจดสิทธิบัตรแล้ว

เกมคลื่นสมองดังกล่าวนำมาใช้ทางการแพทย์ 2 ส่วน คือ ป้องกันและชะลอภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ และเพิ่มสมาธิให้แก่เด็กสมาธิสั้น เนื่องจากเกมออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสามารถของสมาธิการจดจ่อและคงสภาพการจดจ่อให้ได้นาน ซึ่งอุปกรณ์สวมหัวจะรับสัญญาณจากคลื่นสมองเบตาและอัลฟามาขยายสัญญาณ และคำนวณระดับความจดจ่อ จากนั้นแสดงค่าผ่านโปรแกรมเกมทำให้ทราบถึงระดับสมาธิการจดจ่อ และพยายามรักษาสภาวะจดจ่อตลอดการเล่นเกม ทำให้สมาธิจดจ่อ เมื่อฝึกได้ในระดับหนึ่งแล้วจะสามารถควบคุมจัดการสมาธิได้ดีขึ้น ยกตัวอย่าง เกมชูตลูกบาสสำหรับผู้สูงอายุ หากผู้เล่นไม่มีสมาธิจะไม่สามารถชูตลูกบาสเข้าแป้นได้ หรือเกมหมีเก็บเหรียญ ถ้าไม่มีสมาธิ คลื่นสมองก็จะไม่สามารถบังคับให้หมีเดินไปเก็บเหรียญได้ แต่หากมีสมาธิดีหมีจะวิ่งได้เร็ว ซึ่งทั้งหมดบังคับด้วยคลื่นสมองของผู้เล่น

ผู้เล่นจะต้องสวมหมวกที่เป็นอุปกรณ์สำหรับรับคลื่นสมองของผู้เล่น เพื่อใช้บังคับเกม ถ้าไม่มีสมาธิ เกมก็ไม่เล่น ก็จะต้องพยายามปรับการจดจ่อให้มีสมาธิและเล่นเกมได้ เมื่อเล่นเกมนี้เสร็จทำให้คลื่นสมองส่วนสมาธิเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจะส่งผลให้มีสมาธิแลความจำดีขึ้น

เกมนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสมอง เพราะใช้การรับคลื่นจากสมองส่วนของสมาธิมาบังคับเกม ไม่ได้ส่งคลื่นอะไรเข้าไปในสมอง อย่างไรก็ตาม เกมนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเฉพาะเพื่อใช้ในการชะลอโรคอัลไซเมอร์ และรักษาสมาธิสั้น ไม่ใช่ว่าจะเล่นเกมอื่น ๆ แล้วจะทำให้มีสมาธิที่ดีขึ้นด้วย เพราะพบว่าการเล่นเกมบางชนิดทำลายสมาธิ ซึ่งผู้ที่สนใจใช้บริการ ค่าใช้จ่ายครั้งละ 200 บาท เล่นได้ 30 นาที และในอนาคตหวังว่าจะมีการพัฒนาต่อยอดให้มีราคาอุปกรณ์ลดลงและใช้ในบ้าน

 

ที่มา

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here