ถึงเวลาเอาคืนพวก Scammer หรือมิจฉาชีพไซเบอร์

เป็นความโหดร้ายของโลกไซเบอร์ ที่คนซึ่งเพิ่งเข้าสู่อินเทอร์เน็ตใหม่ ๆ ต้องเจอกับสารพัดภัย แต่วันนี้มีอีกหนึ่งไอเดียไฮเทคในการ “เอาคืน” พวกมิจฉาชีพเหล่านี้แล้ว

Scam (“สแกม”) อาจจะฟังคล้าย ๆ “สแปม” หรือ “สแกน” แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไหร่ “สแกม” นั้นคือการหลอกลวง ซึ่งในที่นี้เราจะพูดถึงการเข้ามาหลอกลวงฉ้อฉลบนออนไลน์

อย่างที่เคยเล่าไปแล้วในครั้งก่อน ๆ ว่า นักสแกมจอมต้มตุ๋นมักจะใช้ช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ส่งข้อความเข้ามาทำให้คุณหลงเชื่อ ชักแม่น้ำทั้งห้าขึ้นมาสร้างแรงกระทบทางอารมณ์ จนคุณเผลอตอบสนองโดยขาดการยั้งคิด
หนึ่งในช่องทางหลักที่นักสแกมใช้มานาน คือ อีเมล อาจจะเป็นเพราะง่ายต่อการจัดการ ดำเนินการหลอกลวงได้พร้อมกันหลายราย และต้นทุนต่ำมาก ๆ

คนพวกนี้จะส่งอีเมลมาเกริ่น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความสนใจในตัวคุณ สนใจในสินค้าของคุณ หรือแจ้งเตือน หรือข่มขู่คุณ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ให้คุณตอบกลับไป แล้วเขาก็จะส่งข้อความลำดับต่อไปมาให้ ซึ่งก็จะทำให้คุณถลำลึกลงไปกว่าเดิม เช่น เขียนมาว่า อยากจะสั่งซื้อสินค้าจากคุณล็อตใหญ่ พอคุณตอบกลับไปขอรายละเอียด เขาก็จะเขียนกลับมา ชมคุณอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ล่อหลอกให้คุณเริ่มไว้ใจและเปิดเผยตัวตน ซึ่งในช่วงเวลานี้อาจจะมีอีเมลโต้ตอบกันไปมาจำนวนมากมาย

ก่อนที่จะเผด็จศึกด้วยการ “ล้วง” เงินออกไปจากกระเป๋าของคุณ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น ให้คุณช่วยจ่ายค่าธรรมเนียมอะไรบางอย่าง ที่จะปลดล็อกและทำให้คุณได้เงินก้อนใหญ่กว่า พอคุณจ่ายไป พวกนี้ส่วนใหญ่ก็จะอันตรธานหายไป เว้นเสียแต่ว่า คุณยังมีทีท่าที่จะถูกหลอกลวงต่อไปได้อีก
แล้วเราจะ “เอาคืน” พวกนี้อย่างไร ?

แน่นอนว่า วิธีการตอบสนองที่ดีที่สุดกับคนพวกนี้ คือ ไม่ต้องตอบสนอง ไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวายตอบสนอง เพราะไม่แค่เสียเวลา แต่จะเสียเงินฟรี ซึ่งวิธีตรวจสอบดูก็ไม่ได้ซับซ้อน ถ้าเป็นอีเมล (หรือไลน์) จากคนที่ไม่รู้จัก (หรือรู้จักก็ตาม – เขาอาจจะโดนแฮกหรือสวมรอย) คุณต้องรู้ตัวก่อนแล้วว่ามันอาจจะมีโอกาสที่ไม่เป็นความจริง และง่าย ๆ คือ ถ้าคุณจะต้องจ่ายเงิน หรือเสียเงินออกไป
และหากคุณคิดว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง ก่อนจ่ายเงิน คุณต้องทำยังไงก็ได้ให้รู้ว่า คุณได้จ่ายเงินให้กับคนที่คุณต้องการจ่ายจริง ๆ

การที่คุณเพิกเฉยไม่ตอบสนองนั้นปลอดภัยต่อตัวคุณ แต่คนพวกนี้ก็มีเครื่องมือที่มีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปถึงคนจำนวนมากได้ในเวลาเดียวกัน และไม่ได้คาดหวังอยู่แล้วว่าทุกคนจะต้องตอบสนอง ดังนั้น เมื่อคุณไม่สนใจ เขาก็มีเวลาไปหาเหยื่อรายใหม่

ดังนั้น การ “เอาคืน” จึงต้องย้อนกลับไปพิจารณาตรงวิธีการหลอกลวง ส่วนที่มิจฉาชีพกลุ่มนี้ต้องใช้เวลามากที่สุด คือ การสร้างความไว้วางใจ และการสนทนาหว่านล้อมคุยมาคุยไปคือเครื่องมือเดียวที่พวกเขามี

ตรงนี้จุดประกายให้องค์กร Netsafe ที่ประเทศนิวซีแลนด์สร้างเครื่องมือที่ชื่อว่า Re:Scam ขึ้นมาเพื่อ “เอาคืน” มิจฉาชีพพวกนี้ โดยการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์และบอตในการโต้ตอบอีเมลแทน ลองเข้าไปดูที่ rescam.org

ผลที่เกิดขึ้นคือ เราได้หลอกให้นักสแกมหลอกลวงหลงเชื่อ และ “ใช้เวลา” นั่งตอบอีเมลหุ่นยนต์กันทั้งวันทั้งคืน ซึ่งจะช่วยลดเวลาคนกลุ่มนี้ในการไปหาเหยื่อรายใหม่ ไม่มากก็น้อย
ส่วนที่งดงามของโครงการนี้คือ ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งทำให้ไม่ต้องเปลืองแรงมนุษย์มานั่งอ่านนั่งตอบ

ถ้าเราอยากจะใช้งาน ก็แค่ forward หรือส่งต่ออีเมลหลอกลวงนั้นไปที่ me@rescam.org แล้วระบบจะทำการตรวจสอบยืนยันว่าเป็นสแกมจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าใช่ ระบบก็จะเริ่มส่งอีเมลจำนวนมากไปท่วมกล่องอีเมลของคนร้าย จนแยกไม่ออกว่าอันไหนของจริงหรือของปลอม

ทางคนสร้าง ReScam ประกาศเปิดรับอีเมลหลอกลวงไม่อั้น เพื่อเขาจะได้สร้างฐานข้อมูลอีเมลของนักต้มตุ๋น แล้วจะได้สั่งให้คอมพิวเตอร์ส่งอีเมลไปป่วนหลอกคนกลุ่มนี้ให้อยู่หมัด

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คือมาตรการระยะสั้นและเฉพาะหน้ามาก ๆ เพราะทางที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลให้ทุกคนรู้ทันและไม่ตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป

จากคอลัมณ์ ทันดิจิทัล ประจำ Comtoday ฉบับที่ 554 เขียนโดย YOWARE