ทำไมเครื่องมือตรวจวินิจฉัยที่ขับเคลื่อนด้วยระบบคลาวด์จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเอาชนะในการต่อสู้กับโควิด-19

ปีเตอร์ มัวร์ กรรมการผู้จัดการประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น Public Sector, Amazon Web Services (AWS)

เอดับบลิวเอส เปิดตัวโครงการพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยในระยะถัดไป รวมถึงขยายขอบเขตการระดมทุน

ปี 2563 นับเป็นปีที่แตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด โดยภายในเดือนมีนาคมในปีที่ผ่านมาโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อทั้งครอบครัว ธุรกิจ และชุมชน จากนั้น เวลาผ่านมาแล้ว 1 ปี หลาย ๆ พื้นที่ยังคงต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของไวรัสที่กลายพันธุ์โดยแตกออกเป็นหลายสายพันธ์คุกคามสังคมมนุษย์ของเรา ความรวดเร็วในการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นได้ทำให้การตรวจวินิจฉัยโรคเกิดความล่าช้า ในขณะเดียวกันบุคลากรทางสาธารณสุขจึงต้องเร่งค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ในการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

ขณะที่หลายประเทศกำลังต่อสู้กับความท้าทายในการหาชุดตรวจโควิด-19 เราได้เปิดตัว Amazon Web Services (AWS) Diagnostic Development Initiative  เพื่อช่วยให้องค์กรทั่วโลกสามารถใช้คลาวด์มาเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อเร่งงานวิจัยและพัฒนาการตรวจวินิจฉัย ด้วยแนวคิดนี้ AWS ได้มุ่งมั่นด้วยงบประมาณลงทุน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 628 ล้านบาทไทย) ในรูปแบบของเครดิตเพื่อใช้การประมวลบนคลาวด์และความเชี่ยวชาญจากทีมงาน AWS Professional Services เพื่อรองรับลูกค้าที่ใช้ AWS ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านการตรวจวินิจฉัย

ในระยะแรกของโครงการ AWS ได้ช่วยองค์กรต่าง ๆ ถึง 87 องค์กรจาก 17 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรด้านสตาร์ทอัพ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร สถาบันวิจัย ไปจนถึงธุรกิจต่าง ๆ เราได้มอบงบประมาณจำนวน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 252 ล้านบาทไทย) เพื่อการสนับสนุนโครงการด้านการตรวจวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจหาระดับโมเลกุลสำหรับแอนติบอดี แอนติเจนและกรดนิวคลีอิก การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพ อุปกรณ์สวมใส่ และเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่อาศัยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (Machine Learning: ML) ในการตรวจจับไวรัส

ในขณะที่ระยะถัดไปของโครงการกำลังมาถึง เรามีความยินดีที่จะขยายขอบเขตการดำเนินงานของโครงการ AWS Diagnostic Development Initiatives และมอบงบประมาณที่เหลืออีก 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 377 ล้านบาทไทย) ในปีนี้ จากวันนี้เป็นต้นไป เราได้เริ่มขยายขอบเขตโครงการไปสู่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การสืบหาโรคในระยะเริ่มต้น เพื่อระบุถึงการระบาดของโรคทั้งระดับปัจเจกบุคคลและระดับชุมชน 2) การพยากรณ์โรค (prognosis) เพื่อทำความเข้าใจถึงการดำเนินโรค (disease trajectory) ได้ดีขึ้นและ 3) การศึกษาจีโนม (genomics) ด้านสาธารณสุขเพื่อช่วยการจัดลำดับเบสของจีโนม (genome sequencing) ของเชื้อไวรัสทั่วโลก ถึงแม้ว่า AWS จะให้ความสำคัญกับโครงการที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ก่อนกว่าสิ่งใด แต่เราก็ยังคงประเมินโครงการที่เกี่ยวกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เราจะยังคงรับใบสมัครไปจนถึงสิ้นปีนี้ แต่จะเริ่มพิจารณาจากใบสมัครที่ได้รับก่อน 31 กรกฎาคม สำหรับองค์กรที่สนใจ สามารถสมัครได้ที่นี่

AWS เล็งเห็นถึงนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ของวิธีที่บรรดาธุรกิจสตาร์ทอัพและองค์กรต่าง ๆ ตรวจวินิจฉัยโรคในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การวิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ที่ขับเคลื่อนด้วย ML ไปจนถึงพัฒนาการใหม่ ๆ สำหรับชุดตรวจโรคแบบรวดเร็ว คุณภาพสูง และส่งตรงถึงผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะยังคงพัฒนาต่อไปและจะทำให้ความสามารถของประเทศไทยในการรับมือกับโรคระบาดอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

เร่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อลูกค้า

AWS Diagnostic Development Initiative นั้นช่วยผลักดันโครงการต่าง ๆ อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วยการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์และสร้างผลกระทบต่อการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้อย่างฉับพลัน โครงการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์สามารถตอบสนองต่อเชื้อโควิด–19 ได้อย่างทันท่วงทีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสามารถในการต่อกรกับโรคติดต่ออื่น ๆ ได้อีกด้วย ตัวอย่างของโครงการที่ได้รับทุนจาก AWS Diagnostics Development Initiative ได้แก่:

Medo ใช้ AI เพื่อช่วยดูแลบุคคลากรด้านสาธารณสุขในการระบุเคสผู้ป่วยโควิด-19 ที่รุนแรงได้อย่างรวดเร็ว

Medo ก่อตั้งขึ้นที่สิงคโปร์ และมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเอ็ดมันตัน แคนาดา เป็นสตาร์ทอัพด้านการดูแลสุขภาพที่ใช้ AI ในการขับเคลื่อน ใช้ประโยชน์จาก AWS Diagnostics Development Initiative เพื่อเร่งการพัฒนาโซลูชัน Medo Lung โดยที่ Medo Lung สามารถสแกนอัลตราซาวด์ที่ปอดได้อย่างรวดเร็วและนำไปวิเคราะด้วย AI อัลกอริทึม ซึ่งสามารถตรวจจับความผิดปกติของปอดคนไข้ หรือแม้กระทั่งภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การอักเสบของผนังถุงลม (interstitial pneumonitis) ซึ่งนำไปสู่อาการแทรกซ้อนร่วมกับโรคโควิด-19 การสแกนปอดดังกล่าวสามารถทำได้กับคนไข้หลายพันคน พร้อมกับการเก็บตัวอย่าง (swabs) เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่คลินิกตรวจคัดกรอง ช่วยให้การคัดกรองคนไข้เป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยสามารถระบุตัวผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล วิธีนี้จะช่วยลดความจำเป็นของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ในการเดินทางออกจากบ้านหรือเพื่อไปพบแพทย์ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริง ๆ ทั้งนี้เพื่อสงวนทรัพยากรของโรงพยาบาล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างทาง

Medo ใช้ประโยชน์จาก AWS และอัลตราซาวด์ในการช่วยรังสีแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจวินิจฉัยอาการป่วยอื่น ๆ นอกเหนือจากปอดได้อย่างสะดวกได้อีกด้วย ดังนั้น ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงสามารถวินิจฉัยอาการป่วยร่วม รวมถึงอาการป่วยขั้นวิกฤตได้อย่างว่องไวและแม่นยำยิ่งขึ้น และยังสามารถเข้าใจถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่ถูกต้องได้เร็วขึ้น

Medo กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบนำร่องการใช้งานโซลูชัน Medo Lung ที่แคนาดา นอกจากนี้ Medo Lung ยังสามารถสแกนตรวจโรคต่าง ๆ ได้อีก เช่น โรคปอดอักเสบ (pneumonia) ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (pleural effusions) ภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) และภาวะน้ำท่วมปอด (pulmonary edema)

“โควิด-19 เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่มาตกผลึกวิสัยทัศน์ของเราให้เป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการสร้างภาพทางการแพทย์ (medical imaging) ได้ ไปจนถึงการนำโซลูชันของเราไปให้คนได้ใช้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเน้นถึงความจำเป็นสำหรับการตรวจวินิจฉัยด้วย AI ที่บุคลากรผู้ดูแลสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตามที่จำเป็น สร้างความสะดวกและปลอดภัยให้กับผู้ป่วย ด้วยความก้าวล้ำของบริการ AI และ ML จาก AWS อย่างเช่น Amazon SageMaker และ Amazon Textract เราจึงสามารถพัฒนา Medo Lung ที่สร้างความแตกต่างให้กับผู้ป่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวหลังจากโรคระบาดนั้นได้ลดความรุนแรงลง” — เดวิด เควล ผู้ร่วมก่อตั้ง Medo กล่าว

“AI และ ML ช่วยให้เราทุกคนเข้าถึงการวินิจฉัยโรคด้วยอัลตราซาวด์ด้วยตัวเองได้ทั่วโลกผ่านการช่วยเหลือของ AWS โดยเทคโนโลยีคลาวด์ทำให้เราสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการเข้าถึงผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลอันปราศจากสาธารณูปโภคในการดำเนินการหรือจัดการผู้ป่วยนั้น ๆ การสแกนอวัยวะของผู้ป่วยนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที และอัลกอริทึมของเรานั้นให้ผลลัพธุ์ที่เชื่อถือได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที ซึ่งทำให้ทุกคนเข้าถึงการสร้างภาพทางการแพทย์และการวินิจฉัยที่น่าเชื่อถือได้อย่างรวดเร็วซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง” – ดร. จีเวช คาปูร์ รังสีแพทย์ และผู้ร่วมก่อตั้ง Medo กล่าว

Oncophenomics ตรวจจับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วผ่านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ลำดับเบสยุคใหม่ (next-generation sequencing: NGS)

Oncophenomics เป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสุขภาพที่พัฒนาโซลูชันการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งและโรคติดต่ออื่น ๆ มีสำนักงานอยู่ที่เมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย ทั้งนี้บริษัท Oncophenomics กำลังศึกษาทางระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ (genetic epidemiology) ของโรคโควิด-19 ในอินเดีย และบริษัทกำลังเร่งจัดการแก้ไขเรื่องการตรวจหาเชื้อที่รวดเร็ว แม่นยำ และมีราคาที่เหมาะสม รวมถึงนำไปตรวจหาได้ในวงกว้าง ช่วยให้อินเดียสามารถดำเนินการตรวจหาและติดตามเพื่อระบุตัวผู้ติดเชื้อ รวมถึงกำหนดมาตรการกักกันตัวผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่อันตรายกว่าเดิม

ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกชุดตรวจวินิจฉัยในตลาดจะสามารถตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อันเป็นที่น่ากังวลนี้ได้ จากภาวะการเผชิญกับการขาดแคลนเครื่องมือตรวจ Oncophenomics จึงได้พัฒนาโซลูชันเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางน้ำลายแบบสองขั้นตอน ซึ่งสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ในผู้ป่วยในเพียงเวลาไม่กี่นาที (สามารถตรวจหาเชื้อได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องใช้วิธี swabs ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่หรือนักเทคนิคการแพทย์คอยช่วยเหลือ) และตัวอย่างเชื้อที่มีผลเป็นบวกนั้นจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการกลางเพื่อตรวจวินิจฉัยหาเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ โดยใช้วิธีการตรวจแบบ third-generation real time long read sequencing (Oxford Nanopore Technologies) เพื่อลำดับ RNA ของไวรัสโดยสมบูรณ์จากตัวอย่างน้ำลายเดิม

การลำดับข้อมูลจะถูกอัปโหลดและวิเคราะห์บน AWS Cloud ที่ใช้ระบบส่งชีวสารสนเทศ (bioinformatics pipelines) ภายใต้กรรมสิทธิ์ของ Oncophenomics โดยการลำดับข้อมูลนี้ทำให้ Oncophenomics สามารถเปรียบเทียบตัวอย่างเชื้อทั้งหมดจากผู้ป่วยกับตัวอย่างเชื้อที่อยู่ในคลังเก็บจีโนมไวรัสโควิด-19 มากกว่า 1 ล้านคู่จากทั่วโลกผ่าน GISAID (Global Initiative on Sharing Avian Influenza Data – ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์รวมถึงเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างว่องไว) ภายในเวลาไม่กี่นาทีและสร้างรายงานของไวรัสโควิด-19 แต่ละสายพันธุ์ ได้อย่างรวดเร็วด้วยลักษณะอาการทางคลินิก (clinical correlation)

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล โครงการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ ห้องปฏิบัติการ ไปจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ ก็สามารถใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อระบุตัวผู้ป่วยโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถวางแนวทางการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายออกไปสู่ชุมชน การแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วนเช่นนี้จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการต่อสู้กับการระบาดระลอกที่สองของโควิด-19 ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในอินเดียและประเทศอื่น ๆ

โซลูชันตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทางน้ำลายของ Oncophenomics นั้นดำเนินการผ่าน ICMR (Indian Council of Medical Research – หน่วยงานสูงสุดของอินเดียที่กำหนด ประสานงานและส่งเสริมการวิจัยทางชีวเวชศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานการวิจัยทางการแพทย์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก) โดยทำหน้าที่ประเมินผลงานและตรวจสอบความถูกต้องทางคลินิกหรือการแพทย์ภายในเดือนมิถุนายน 2564 สำหรับ CDSCO (Central Drugs Standard Control Organization – หน่วยงานแห่งชาติของอินเดียที่กำกับดูแลด้านเภสัชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์) เพื่ออนุมัติตามกฎข้อบังคับและจะเปิดตัวในอินเดียก่อน ตามด้วยสิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

“AWS ช่วยให้เราทำงานบนคลาวด์ได้สะดวก เป้าหมายของพวกเราคือการจัดการปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการตรวจหาโควิด-19  สายพันธุ์ใหม่ซึ่งกระทบต่อการตรวจแบบ RT PCR (Real-Time Polymerase Chain Reaction) หรือแบบดั้งเดิม ในเรื่องความแม่นยำ การเจาะจง และการตอบสนอง เราได้ทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดของเราเพื่อการพัฒนาโซลูชันตรวจวิเคราะห์โควิด-19 ได้รวดเร็วและครบวงจรภายในระยะเวลาอันสั้นในช่วงวิกฤต ทั้งนี้ โลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังจะมาถึง การวิเคราะห์ข้อมูลบางส่วนมีการประมวลผลอย่างละเอียดถี่ถ้วน และสามารถใช้งานได้บนคลาวด์เท่านั้น

หากไม่ได้ชุดข้อมูล (GISAID) ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมถึงความสามารถในการประมวลผลบนระบบคลาวด์ของ AWS ที่ขยายได้ ก็คงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะสามารถพัฒนาโซลูชันตรวจเชื้อโควิด-19 ทางน้ำลาย ปัจจุบันโซลูชันตรวจเชื้อโควิด-19 ทางน้ำลายของเรา ซึ่งเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ณ จุดที่ดูแลผู้ป่วย ส่วนที่ 1 (part-1 point of care test: POCT) มุ่งเน้นการตรวจจับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ในอินเดียโดย (ในขณะที่เทคโนโลยีการวิเคราะห์ลำดับเบสโดยนำสายดีเอ็นเอผ่านรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระดับนาโนเมตรหรือนาโนพอร์ ส่วนที่ 2 (part-2 nanopore sequencing) สามารถค้นพบการกลายพันธุ์ของเชื้อได้ทั้งหมด) แต่เราหวังไว้ว่าจะสามารถปรับแต่งเชื้อเพื่อเอาชนะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคใดในโลกก็ตาม’’ดร. นายแพทย์ ชิบิชัคราวาร์ธี คันนัน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Oncophenomics Inc. กล่าว

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University School of Medicine) พัฒนา “ระบบเตือน” บนสมาร์ตวอทช์สำหรับการตรวจวินิจฉัย

นักวิจัยจากศูนย์ปฏิบัติการนวัตกรรมดูแลสุขภาพของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University School of Medicine’s Healthcare Innovation Lab) ได้พัฒนาแอปพลิเคชันของสมาร์ตวอทช์ที่ออกแบบขึ้นเพื่อระบุสัญญาณในการต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง โดยแอปพลิเคชันนี้ซึ่งขับเคลื่อนโดยอัลกอริทึมจะตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจระหว่างการพักผ่อนรวมถึงการนับจำนวนก้าวเดินของคน เป็นที่รับรองว่าได้ผลลัพธ์เร็วและการทดลองแบบนำร่องนี้สามารถแจ้งเตือนผู้ติดเชื้อใหม่ได้อย่างสำเร็จ โดยสามารถแจ้งเตือนได้เร็วถึง 10 วันก่อนที่พวกเขาจะแสดงอาการใด ๆ

ทั้งนี้ตัวแอปพลิเคชันได้เข้าสู่ขั้นตอนต่อไปของการวิจัย โดยทีมจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกำลังเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วม โดยตั้งเป้าไว้ถึง 10 ล้านคน เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจจับเชื้อโควิด-19 แบบทันที (real time) ระบบการตรวจเชื้อโควิด-19 บนสมาร์ตวอทช์นั้นถูกสร้างขึ้นบน AWS โดยได้รับการช่วยเหลือจากทีม AWS Professional Services ที่ได้ร่วมงานกับนักวิจัยเพื่อช่วยให้งานวิจัยสามารถวัดระบบประมวลข้อมูล (data processing pipeline) ได้

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่องโดยใช้อุปกรณ์สวมใส่ (wearable device) นั้นสามารถมอบโซลูชันการตรวจวินิจฉัยเพื่อเอาชนะอุปสรรคการตรวจในปัจจุบัน และช่วยขยายการเข้าถึงข้อมูลไปยังกลุ่มนักวิจัยในวงกว้าง ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ ที่ช่วยพัฒนาเรื่องสุขภาพของมนุษย์ เราหวังว่าเราจะยังคงมุ่งมั่นฉีกทุกกฎข้อจำกัดให้แตกต่างและเป็นไปได้ด้วยคลาวด์” – ไมเคิล สไนเดอร์ ศาสตราจารย์และประธานภาควิชาพันธุศาสตร์ Stanford University’s School of Medicine กล่าว

เรายังคงได้รับแรงบันดาลใจจากความชาญฉลาดของลูกค้าของเราทั่วโลกในการใช้เทคโนโลยีคลาวด์เพื่อเร่งการตรวจวินิจฉัย ต่อสู้กับโรคโควิด-19 ในระหว่างช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนภาครัฐในการลำดับความสำคัญของทรัพยากรด้านสาธารณสุขเพื่อช่วยช่วยชีวิตผู้คนได้มากยิ่งขึ้น เราหวังว่าจะสามารถสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ได้อย่างกว้างขวางขึ้น เพื่อทำให้องค์กรตลอดจนชุมชนรับมือและตอบสนองต่อการระบาดในอนาคตได้เร็วขึ้น