จับโป๊ะคนก็อปโค้ด มหิดลสร้างเครื่องมือใหม่ ส่องโปรแกรม ละเมิดลิขสิทธิ์

อวสานโค้ดดิ้งเถื่อน เมื่อนักวิจัย ม.มหิดล พัฒนาเครื่องมือตรวจสอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ละเมิดลิขสิทธิ์ และความปลอดภัยจากการนำโค้ดมาใช้ซ้ำ

บ่อยครั้งผู้พัฒนาโปรแกรมเลือกที่จะสร้างโค้ดโคลน “Code Clone” หรือการคัดลอกชุดคำสั่งที่เขียนไว้แล้วจากแหล่งข้อมูลโค้ด อย่าง เว็บไซต์ Stack Overflow หรือ GitHub มาใช้ในซอฟต์แวร์ที่กำลังพัฒนา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่วางแผนไว้ 

แต่สุดท้ายกลับต้องพบกับความเสียหายในภายหลัง เมื่อโค้ดที่เลือกนำมาใช้นั้นติดลิขสิทธิ์ มี License ที่ไม่ตรงกับซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้น หรือเป็นโค้ดที่มาพร้อมกับปัญหาต่างๆ เช่น บั๊ก และความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

ดร.ชัยยงค์ รักขิตเวชสกุล อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้เริ่มศึกษาวิจัย เรื่อง “การตรวจวัดความเหมือนของโค้ดและการค้นหาโค้ดโคลนในข้อมูลโค้ดขนาดใหญ่” (Code Similarity and Clone Search in Large-Scale Source Code Data) จนสามารถสร้างเครื่องมือตรวจสอบการนำโค้ดข้อมูลมาใช้ซ้ำได้สำเร็จ 

นับเป็นการนำเครื่องมือมาใช้เพื่อศึกษา Code Clone ที่เสี่ยงละเมิดลิขสิทธิ์ หรือมีปัญหาความปลอดภัย ซึ่งเครื่องมือนี้สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อช่วยเหลือนักพัฒนาในระหว่างการพัฒนาโปรแกรมได้ด้วย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ >> https://www.muict-seru.org

https://cragkhit.github.io/publications/chaiyong_thesis.pdf

#TechhubUpdate #coding #mahidol