ถอดรหัสเกมดังในตำนาน ลงมือถือแล้วดับ! จริงหรือไม่ ?

สืบเนื่องจากข่าว Pangya Mobile เตรียมยุติบริการเร็ว ๆ นี้ จนหลายคนอาจข้อกังขาว่า ”ลงมือถือมันไม่เวิร์คจริง ๆ” โดยเฉพาะ ‘เกมดัง’ ในตำนาน ที่แทบทุกเกมจะมีกลิ่นอายความขลังเป็นของตัวเอง มีภาพจำชัดเจน แต่พอมาอยู่ในเวอร์ชั่นมือถือแล้ว… มันกลับหายไป !! ในบทความนี้จะมาไขข้อกังขานี้กันครับ

มารู้จักคำว่า Pay to Win กันก่อน

This image has an empty alt attribute; its file name is pexels-1534495-1024x768.jpg

ความหมายของ Pay to Win ก็ตรงตามชื่อเลยคือ จ่าย เพื่อ ชนะ ในเกมออนไลน์หลาย ๆ เกม มักจะเปิดให้ผู้เล่นสามารถจ่ายเงินจริง ๆ เพื่อเสริมการเล่นให้สนุกขึ้นหรือง่ายขึ้น เช่น ซื้อคอสตูมเสริมความสวยความเท่ให้ตัวละคร ซื้อใบเพิ่ม EXP เพื่อให้ปั้ม Level ได้ไวขึ้น หรือซื้อไอเทมในเกมช่วยเพิ่มความสะดวก ถือเป็นสิทธิ์ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ ตราบใดที่มีงบ ซ้ำยังเป็นการช่วยสนับสนุนผู้ให้บริการเกมด้วย

แต่มันจะมีประเด็นทันที หากเกมออนไลน์นั้นมีโหมด ‘แข่งขันกับผู้เล่นคนอื่น’ เช่นเกมแนว FPS ที่ผู้เล่นต้องเติมเงินซื้อปืน (ปืนทอง : b) ซื้อเกราะ และซื้อไอเทมช่วยเสริมพลังต่าง ๆ ในเกม ถึงจะสามารถสู้กับผู้เล่นอื่นได้ง่ายขึ้น หากใครที่ไม่ได้เติม ก็จะมีเฉพาะปืนเริ่มต้นเท่านั้น ไม่มีเกราะหรือไอเทมเสริมอะไรทั้งสิ้น ทันทีที่เจอกับผู้เล่นเติมเงินแบบจัดเต็ม ก็อาจเกิดช่องว่างระหว่างผู้เล่นด้วยกันเอง เป็นที่มาของคำว่า Pay to Win นั้นแล

สมดุลคือสิ่งสำคัญ

การเติมเงินเพื่อให้เราเก่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องผิด ย้ำ ไม่ใช่เรื่องผิดเลย เหมือนที่กล่าวไปตอนแรก เป็นสิทธิ์ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ และเป็นการช่วยสนับสนุนผู้ให้บริการเกมเช่นกัน ประเด็นจริง ๆ อยู่ที่ความสมดุลของเกม ‘ช่องว่าง’ ระหว่างผู้เล่นที่เติมและไม่เติมต้องไม่ห่างกันจนเกินไป เหมือนที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า “คนที่ไม่เติม (หรือสาย Free) ก็ lnw ได้” สามารถเข้าถึงไอเทมเจ๋ง ๆ หรือคอนเทนต์ของเกมนั้น ๆ ได้เหมือนกัน แม้ต้องใช้เวลากับความขยันมากหน่อยก็ตาม

ในหลาย ๆ เกมก็ทำได้ดีแล้ว แต่ก็มีหลาย ๆ เกมที่เห็นเลยว่า มีช่องว่าง ครั้งนี้เราจะมาพูดถึงช่องว่างกับ Pay to Win ในเกมออนไลน์บนมือถือกัน และเจาะประเด็นที่ว่า เกมดังในตำนาน ทำไมลงมือถือแล้วดับ ไปไม่รุ่ง จริงหรือไม่

ภาพจำเปลี่ยนไป

This image has an empty alt attribute; its file name is images_1459252729contra.jpg

เมื่อมี Reference จากเกมดังในตำนาน ย่อมต้องมีการเปรียบเทียบ โดยมีทั้งหมดตามนี้

  • Energy หมดคือเลิกเล่นเลย ?

เกมมือถือส่วนใหญ่จะมีระบบ ‘Energy’ หรือค่าพลังงาน ค่า AP ค่าน้ำมัน ฯลฯ ที่ต้องใช้สำหรับเข้าด่าน ลงดันเจี้ยน หรือเข้าเล่นในโหมดต่าง ๆ ซึ่งหากหมดเมื่อไร ก็ต้องรอให้มันฟื้นฟูตามเวลาจริงเลย (หนึ่งวันขึ้นไป : b) ไม่งั้นก็เล่นอะไรไม่ได้ หรือบางเกมต้องเติมหรือปลดล็อคด่านใหม่ก็มี จะมองว่าเป็นระบบที่ช่วยกันไม่ให้คนอยู่กับมือถือเกินไปก็ได้อยู่ ทว่าเรากลับสามารถ “เติมเงินซื้อพลังงานได้” เพื่อให้เล่นต่อได้

อย่างไรก็ตาม ในบางเกมจะมีระบบช่วยเพิ่มค่า Energy แม้ไม่ต้องเติม เช่น Level อัพ รี Energy ใหม่ ทำเควสเพิ่ม Energy หรือกดรับ Energy จากกิจกรรม พอให้เราสะสม Energy ไว้เล่นอย่างต่อเนื่องได้ แต่สุดท้ายหากหมดเมื่อไร ก็ต้องรอหรือเติมเงินอยู่ดี แน่นอนว่าคนที่เติมก็จะไปได้ไวกว่าคนที่ไม่เติม

ทีนี้หากเป็นเกมออนไลน์ในตำนาน จากในเวอร์ชั่น PC มันไม่มีระบบ Energy ผู้เล่นสามารถเล่นได้เรื่อย ๆ แต่พอมาอยู่ในเวอร์ชั่นมือถือกลับมี Energy มาขั้นไว้ แฟนเกมนั้น ๆ อาจมีขัดใจกันบ้าง ไม่มากก็น้อย

  • UI ยุบยับ Notification เต็มจอ

ภาพจำที่เห็นกันตั้งแต่แรก และเห็นจนชินตา คือหน้าเมนูหรือ UI ต่าง ๆ ของเกม โดยใน PC ส่วนใหญ่จะมี UI ที่วางไว้อย่างสะอาดตา มีความคลีน และความขลัง แต่พอมาอยู่ในเวอรชั่นมือถือ ด้วยความที่จอมือถือไม่ใหญ่เท่า PC ทุกอย่างก็เลยมาอัด ๆ กันในหน้าเดียว ยิ่งถ้าเป็นช่วงกิจกรรม Notification หรือการแจ้งเตือนกิจกรรมนั้น ๆ ก็จะเด้งมาให้เพียบ มีจุด ‘แดง’ ให้ลายตา หากเกมมือถือไหนออกแบบ UI มาได้ไม่ดี ก็จะกลายเป็นรกจอไปเลย

  • รูปแบบการเล่นคล้ายเดิม แต่ระบบเปลี่ยนไป

This image has an empty alt attribute; its file name is pangya_screen.jpg

ข้อนี้สำคัญมาก คือจากที่เคยชินกับการคลิกเมาส์ กดคียบอร์ด หรือควงจอย ก็ต้องมาจิ้มหน้าจอสัมผัสของมือถือแทน เป็นขีดจำกัดที่เลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้รูปแบบการควบคุมบางอย่างถูกตัดออกไป แล้วแทนที่ด้วย ‘ระบบใหม่’ เช่น Dragon Nest จากเกมออนไลน์แนว Action RPG ชื่อดังใน PC ที่สามารถลากเมาส์เปลี่ยนมุมได้อย่างอิสระ กดคอมโบท่าบนแป้นคียบอร์ดได้อย่างเมามัน ใน Dragon Nest M เวอร์ชั่นมือถือ ก็เปลี่ยนมาเป็นมุมกล้องแบบ Auto พร้อมแผงควบคุมทิศทางและปุ่มกดสกิลแทรกในจอ ซึ่งหากมือถือใครจอเล็ก ปุ่มก็จะเล็กตาม อาจทำให้กดพลาดหรือกดไม่โดนได้

ใน Pangya Mobile ก็เช่นกัน จากที่เคยกดท่า Tomahawk ด้วยปุ่ม Alt + ขึ้นลง ก็เปลี่ยนมาเป็นกดใช้สกิลของตัวละครตรง ๆ เลย การอัพสกิล จากที่เคยอิงจากชุดที่ใส่เป็นหลัก ก็เปลี่ยนมาเป็นเลือกอัพตรง ๆ แทน และด้วยความที่เป็นเกมมือถือ เวลาจะอัพก็ต้องมีไอเทมมีเงื่อนไขตามระดับกันไป จุดนี้หากเป็นเกมใหม่ ไม่เคยมีเวอร์ชั่นไหนมาก่อน ก็คงไม่มีปัญหาอะไร (คนที่เล่นเกมมือถือบ่อย ๆ คงชิน) แต่ถ้าเป็นเกมที่มีต้นแบบจาก PC และมีชื่อพอควร ก็ไม่พ้นการเปรียบเทียบแน่นอน ถ้าแฟน ๆ ถูกใจก็ดีไป  

  • กาชาปอง ระบบสุ่มหรรษา

This image has an empty alt attribute; its file name is 81887036_2472233899703135_746728434331287552_n-1024x575.jpg

คืออารยธรรมที่ชั่วร้าย !! ต้องถูกกำจัด มันทำลายมนุษย์ จักต้องสูญสิ้น ข้าไม่ชอบเกลือ มันเค็ม มันแสบ และมันก็มีไปทุกที่ ว๊ากกกกกก …..โอเคครับ  กาชาหรือระบบสุ่ม มันคือสิ่งที่มีมานานแล้ว ก่อนที่เกมมือถือจะมาซะอีก หากแต่หลังเกมมือถือมาแรง บทบาทมันเลยชัดเจนขึ้นมาก

อย่างเกมหนึ่งที่เมื่อก่อนไม่เคยมี ก็มามีในมือถือซะได้ เช่น Tekken หรือ ‘ลูกทรพีซีรีย์’ ที่มาในชื่อ Tekken Mobile ซึ่งมีระบบสุ่มหรรษาอยาง Waza Card สุ่มกาชาเอาท่าคอมโบโจมตีพิเศษ หากเป็นในเวอร์ชั่นเดิม เรากดเอาเองได้ แต่ในมือถือ คุณต้องสุ่มกาชาเท่านั้น เช่นเดียวกับ Pangya Mobile ชุดตัวละครสวย ๆ หรือไม้กอล์ฟงาม ๆ จากที่ซื้อเองได้ ก็เปลี่ยนมาเป็นสุ่มกาชาแทน

  • Pay to Win กับช่องว่างที่เด่นชัด

จากที่ร่ายยาวมาทั้งหมด พอจะเห็นอะไรแล้วใช่ไหมครับ เริ่มจาก Pay to Win ที่ทุกคนคงเข้าใจความหมายแล้ว อยากที่บอกไป เติมได้ ซื้อได้ ไม่ผิด แต่ในเกมขออย่างเดียวคือ ความสมดุล ทว่าผู้พัฒนาก็ต้องกินต้องใช้ ดังนั้นจึงมีแต่ สมดุลน้อย กับ สมดุลมาก การจะทำเกมมือถือออนไลน์นั้น ต้องใช้งบและค่าใช้จ่ายมหาศาล ยิ่งบวกกับกระแสที่ฮิตกันมาก พอมีคนเล่นเยอะ ก็ยิ่งต้องใช้งบในการดูแลมากตาม

เป็นเหตุให้เกมมือถือออนไลน์หลาย ๆ เกม มีระบบคล้ายกันหมด ไม่ว่าจะเป็น ระบบ Energy ระบบดันเจี้ยน ระบบกาชา ระบบอัพเกรด (พร้อมสารพัดเงื่อนไข) ระบบเควสรายวัน/รายเดือน ระบบ Season Pass ระบบ 30 วัน และอื่น ๆ ที่มาแนวเดียวกันหมด แน่นอนว่าทุกอย่างจะง่ายขึ้น หากมีการ ‘เติมเงิน’ ยิ่งเติมเยอะ ก็ยิ่งก้าวหน้าไว หากไม่เติมเลย หรือเติมน้อย ก็ต้องใช้ความขยันและระยะเวลาในการเล่นแทน แต่ก็มีกรณีที่ความขยันไม่ช่วยอะไรเหมือนกัน…

หากเป็นเกมที่เน้นแข่งกับผู้เล่นอื่น ก็ต้องควานหาไอเทมมาช่วยเสริมความได้เปรียบ จุดนี้คำว่า Pay to Win จะเด่นถึงที่สุด เช่นเกม Red Alert Mobile ที่ผู้เล่นจ่ายเงินซื้อ Unit พิเศษเอาเอง ใครมีแต่ Unit ธรรมดา ก็ยากที่จะสู้กับคนที่เติมได้ จนปัจจุบันเกมนี้ก็ถูกวิจารณ์ในแง่ลบอย่างหนักไปเรียบร้อย ฉะนั้นเกมมือถือไหนที่มีความสมดุลน้อย ก็จะเป็นเช่นนี้แล เอวัง

  • บรรยากาศที่ไม่เหมือนเดิม

This image has an empty alt attribute; its file name is 640120.jpg

แม้ทุกวันนี้มือถือหรือสมาร์ทโฟนจะมีชิปกราฟฟิกที่ทรงพลังขึ้นมาก แต่มือถือก็ยังเป็นมือถือ จะให้อลังการเหมือนใน PC คงยาก ฉะนั้นภาพจำจะชัดเจนอีกครั้ง หากเป็นเกมดังที่เมื่อก่อนเคยมีภาพสวยสมจริงมาก ๆ พอมาอยู่ในมือถือ ก็ไม่พ้นถูกดรอปคุณภาพกรากฟิก ถึงอย่างนั้นก็มีบางเกมที่พอรักษาคุณภาพได้อยู่ เช่น Lineage 2 Mobile กับ Call of Duty: Mobile แต่รูปแบบการเล่นก็ไม่พ้น Mobile สไตล์อยู่ดี บรรยากาศเก่า ๆ ของเกมดังสมัยก่อน ยังไงก็ไม่เหมือนเดิม

สรุป

เกมมือถือก็เป็นเกมมือถือ จะให้ยกมาทั้งหมดมันเป็นไปได้ยาก (ถ้าไม่ใช่กรณี ‘พอร์ต’ มาตรง ๆ อย่างเกม Final Fantasy หรือ Dragon Quest ในบางภาค) หลายคนอาจมีภาพจำเก่า ๆ ก็ต้องรับสภาพกันไป เกมที่กลับมาทำใหม่ ส่วนใหญ่จะกลายเป็นเกมออนไลน์หมด ขนาดเกมออฟไลน์บางเกม ก็ยังกลายมาเป็นเกมออนไลน์ในมือถือได้ หรือเกมออนไลน์ใน PC ก็มาย่อส่วนในมือถือแทน เมื่อมาอยู่ในมือถือแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่นระบบ Mobile สไตล์ทั้งหลาย ซึ่งมีได้ ขอแค่เล่นแล้วสนุก แต่สุดท้ายนี้ Pay to Win ต้องไม่มากจนเกินไป แม้ต่อให้ทำเกมสนุกแค่ไหน หรือมี Reference เป็นเกมดังในตำนานมายังไง ถ้ามีช่องว่างมากหรือสมดุลน้อยไป เกมก็ตายได้ครับ