หากติดอยู่ภายในถ้ำ เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ตัวไหนจะช่วยเราได้

Cave Porch Potholing Reflection

จากกรณีที่มีน้อง ๆ และโค้ชทีมฟุตบอล “หมูป่า” ทั้ง 13 คน ติดอยู่ใน “ถ้ำหลวง” เขตอุทยานขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย หากเกิดขึ้นกับเรา จะมีอุปกรณ์เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์อะไร มาช่วยยื้อชีวิตเราได้บ้าง

หลังมีข่าวน้อง ๆ และโค้ชทีมฟุตบอล “หมูป่า” ติดอยู่ในถ้ำหลวง เขตอุทยานขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มิ.ย 61 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน (ที่เขียนบทความนี้) ยังไม่ทราบชะตาชีวิตทั้ง 13 คนเลย ล่าสุดเจอแล้ว ปลอดภัยทุกคน !! แทบไม่อยากจินตนาการเลยว่า สภาพของคนที่ติดอยู่ในถ้ำจะเป็นอย่างไร ในที่ที่ทั้งมืด ทั้งชื้น ทั้งหนาว และกดดันสุดขีดแบบนั้น แถมต้องติดเป็นเวลานานอีก ในกรณีนี้จึงเกิดเป็นคำถามว่า หากเราไปเจอเอง จะมีเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์อะไรมาช่วยให้เอาตัวรอดได้บ้าง

อย่างแรกที่จำเป็นแน่นอน และคงเป็นอะไรที่ทุกคนพกติดตัวเสมอคือ “สมาร์ทโฟน” เพราะสามารถใช้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือเป็นสิ่งช่วยประคองจิตใจไปเลยก็ได้ (เช่น บางคนอาจมีรูปครอบครัวในเครื่องเป็นต้น) แต่สมาร์ทโฟนอย่างเดียวคงไม่พอ ลองมาดูกันว่า ยังมีอะไรที่จะสามารถช่วยเราหากติดอยู่ภายในถ้ำได้บ้างครับ

Power Bank กันน้ำ

เพื่อช่วยยื้อพลังงานของสมาร์ทโฟนที่เป็นปัจจัยสำคัญ สิ่งเดียวที่ทำได้ก็ไม่พ้น Power Bank หรือแบตฯ สำรอง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยชาร์จพลังงานแก่อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ใช้งานต่อไปได้ ส่วนใหญ่ก็เอามาชาร์จสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตนี้เอง แต่สำหรับกรณีที่ต้องเอาไปลุยในถ้ำ ที่อาจได้เจอน้ำดินทรายหรือการปืนป่ายกับหมอบคลาน Power Bank ทั่วไปไม่เหมาะแน่ ๆ ดังนั้นจึงต้องหา Power Bank ที่มีความทนทานสูง ๆ หน่อย อย่างพวกรุ่นที่สามารถกันน้ำกับกันกระแทกได้ดี (บางรุ่นจะมีแผง Solar Cell ด้วย แต่คงไม่มีประโยชน์หากต้องติดอยู่ในถ้ำมืด ๆ) และควรมีความจุอย่างน้อย 10,000 mAh ขึ้นไปก็จะดีมาก เผื่อเราอาจต้องติดอยู่ในนั้นเป็นเวลาหลายวัน…

ไฟฉาย

ก่อนที่จะติดอยู่ในถ้ำหรือติดจนได้ ไฟฉายถือเป็นอุปกรณ์แรก ๆ สำหรับที่ใครกำลังจะไปสำรวจถ้ำหรือเดินป่า ต้องพกติดตัวแน่นอน เพราะมันคืออุปกรณ์กำเนิดแสงสว่าง ที่มนุษย์เราต้องเพิ่งมันในการส่องทางในที่มืด หรือเอาไว้ใช้แทนโคมไฟชั่วคราวก็ยังได้ ทั้งนี้มันจะมีไฟฉายแบบหนึ่งที่มีอายุการใช้งานนานเป็นพิเศษคือ “ไฟฉายเขย่า” เวลาพลังงานใกล้หมด ก็สามารถชาร์จมันด้วยการเขย่าได้ บางตัวก็ชาร์จโดยการเอามือบีบหลาย ๆ ครั้งก็มี ซึ่งก็ทำให้เราแทบจะมีไฟฉายใช้งานได้เรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ควรเอาไฟฉายประเภทนี้ไว้เป็นอุปกรณ์สำรองดีกว่า เพราะความสว่างยังถือว่าน้อยกว่าไฟฉายปกติ และจริง ๆ แล้วมันไม่ได้มีอายุการใช้งานได้ตลอดกาลซะทีเดียว

หลอด LED แบบ USB

เมื่อเรามี Power Bank ความจุสูง ๆ แล้ว ก็แนะนำหลอดไฟพกพาเล็ก ๆ ที่ใช้พลังงานจากช่อง USB-A โดยตรง เมื่อนำไปต่อกับ Power Bank ก็จะได้เป็นโคมไฟขนาดย่อม ที่มีอายุการใช้งานนานได้ระดับหนึ่ง (ขึ้นอยู่กับความทนทานของตัวหลอดไฟและความจุของ Power Bank) เชื่อว่าคงไม่มีใครชอบอยู่ในที่มืดเป็นเวลานาน ๆ แน่

เครื่องกรองน้ำพกพา

ภาพจาก : http://www.portablewaterfilters.org

ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากคนเราไม่สามารถขาดน้ำได้เลย (ประมาณ 3 – 4 วัน หรือเต็มที่อาจ 1 สัปดาห์ แล้วแต่สภาพร่างกาย) ในถ้ำส่วนใหญ่มักจะมีน้ำจืดขังอยู่ โดยอาจมาจากน้ำฝนหรือแม่น้ำภายนอกไหลซึมเข้ามา แต่น้ำเหล่านี้คงเทียบกับน้ำที่ดื่มกินปกติได้ไม่แน่ เพราะมักจะมีเศษตะกอนมากมาย และอาจมีเชื้อโรคพอควร จึงเป็นที่มาของ “เครื่องกรองน้ำพกพา” ซึ่งปัจจุบันพัฒนาจนสามารถกรองน้ำได้แทบทุกที่แล้ว (ยกเว้นน้ำทะเล…) ส่วนตัวอุปกรณ์นี้ก็จะมีหลายชนิด หลายไส้กรองแตกต่างกันไป บางชนิดสามารถตักน้ำใส่แล้วกินได้เลย บางชนิดอาจต้องใช้แรงหรือเวลาในการกรอง

ออกซิเจนกระป๋อง

ภาพจาก : Youtube

บางที่ในถ้ำอาจมีออกซิเจนเบาบางหรือมีคาร์บอนไดออกไซด์สูง ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายได้ อุปกรณ์ที่พอช่วยในสถานการณ์แบบนี้ได้ก็คงมี “ออกซิเจนกระป๋อง” ที่ช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง มีข้อดีคือพกพาง่าย ข้อเสียคือ มีปริมาณอากาศไม่มากนัก (ขึ้นอยู่กับขนาดกระป๋อง) และเป็นแบบใช้แล้วทิ้งเลย แต่มีไว้ดีกว่าไม่มีเลย

Estream แบตฯ สำรองพลังกระแสน้ำ

หลังจากนี้จะเป็นอุปกรณ์ที่มีความเฉพาะพอควร เริ่มจาก Enomad Uno เป็น Power Bank แบบพิเศษ ที่เป็นทั้ง แบตฯ สำรอง, หลอดไฟ และ เครื่องปั่นไฟ ในตัว !! ซึ่งก็พัฒนาต่อจาก Estream ที่เคยเปิดระดมทุนในเว็บ Kickstarter กับ Indiegogo จนประสบความสำเร็จมาแล้วนี้เอง สำหรับตัว Enomad Uno ก็จะมีรูปร่างเป็นท่อเล็ก ๆ ติดใบพัดที่ถอดแยกออกจากกันได้ เมื่อนำไปจุ่มลำธารที่มีกระแสน้ำไหลอยู่ ก็จะทำให้ใบพัดหมุนจนเกิดเป็นพลังงานกล แล้วกลายเป็นพลังงานไปชาร์จตัว Power Bank อีกทีนั้นเอง ถ้าโชคดีในถ้ำที่ติดอยู่มีกระแสน้ำไหลแรง ก็สามารถเอาตัว Enomad Uno ผูกติดเชือกแล้วหย่อนลงกระแสน้ำที่เจอได้ เท่านี้ก็มีพลังงานไว้ใช้ได้ตลอดแล้ว

Zippo Hand Warmer ที่อุ่นมือ

สภาพบรรยากาศในถ้ำมักเต็มไปด้วยความชื้น ยิ่งถ้าผ่านการลุยน้ำมา ก็จะพบกับความหนาวเย็นอย่างที่สุดแน่ ๆ สิ่งที่พอจะช่วยได้ เท่าที่เจอก็มี Zippo Hand Warmer เป็นที่อุ่นมือแบบพิเศษ ซึ่งบางคนน่าจะเคยเห็นเมื่อหลายปีมาแล้ว ส่วนการทำงานของอุปกรณ์นี้ ก็ใช้หลักการเผาไหม้ภายในของใย “Rayon” สร้างเป็นไอความร้อนในตัว (ไม่ได้มาเป็นเปลวไฟเลยนะ) วิธีใช้ก็นำน้ำมันไฟแช็ก เทผ่านถ้วยตวงน้ำมันที่แถมมาลงไปในตัว Zippo จากนั้นก็เอาไฟแช็กมาลนส่วนจนเริ่มมีความร้อน เสร็จแล้วก็นำไปใส่ในซองที่แถมมาอีกเช่นกัน ทำให้กลายเป็นถุงสำหรับอุ่นมือออกมา ช่วยป้องกันความหนาวได้พอประมาณในระยะหนึ่ง ปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่คล้าย ๆ กับถุง Zippo นี้ ซึ่งน่าจะพอหาซื้อได้บ้างครับ สำหรับใครที่ยังงง ๆ กับวิธีใช้ ลองดูคลิปข้างล่างนี้เลย