EV Engineer อาชีพมาแรง รับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า

เทรนด์ใหม่มาแรง แล้วไทยหล่ะ พร้อมแค่ไหน Techhub พาไปคุยกับวิศวกร EV อาชีพที่เนื้อหอมไม่แพ้ใคร ในยุคที่ยานยนต์ไฟฟ้าถูกมองว่าเป็น “นวัตกรรมแห่งอนาคต”

“EV Engineering เป็นสาขาที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องชาร์จ แบตเตอร์รี่ ตัวรถยนต์ไฟฟ้า โดยหน้าที่หลักของวิศวกร EV คือดูแลด้านนวัตกรรม ติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามสถานีบริการน้ำมัน การวางระบบไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง” กำปั่น กีตะภัฏ สู่พานิช วิศวกรออกแบบสถานีบริการรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและนวัตกรรม PTT Innovation Engineer อธิบายความแตกต่างของวิศวกรรมศาสตร์ในสาขาที่หลายคนอาจยังไม่คุ้น

 

 

ขายอมรับว่า ตอนนี้คนไทยที่ทำงานด้าน EV มีจำนวนน้อยมาก เรียกว่าเป็นอาชีพในสาขาที่ขาดแคลนเลยก็ว่าได้ เพราะทั่วประเทศมีวิศวกรเฉพาะทางด้าน EV ไม่ถึง 1 พันคน ที่ทำงานด้านนี้จริงๆ ขณะที่สถาบันการศึกษาเองก็อยู่ระหว่างเร่งเครื่องผลิตกำลังคน ให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคต 

แม้ตอนนี้จะมีธุรกิจรายใหญ่ที่เข้ามาจับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าไม่เกิน 10 ราย และรายย่อยอย่างสถานีชาร์จก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่ในอนาคตคาดการณ์ว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นหลาย 10 เท่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมัน และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

ในฐานะวิศกร EV ในยุคบุกเบิก กีตะภัฏ เดินทางเข้าสู่สายอาชีพนี้ก่อนใคร โดยมองว่าเป็นโอกาสที่จะเติบโตได้ในอนาคต

 

: ปักธงวิศวกรรถยนต์ไฟฟ้า

กำปั่น ตัดสินใจเลือกเดินทางสายนี้ตั้งแต่เข้าเป็นน้องใหม่ที่คณะวิศวะฯ ลาดกระบัง (สจล.) โดยเริ่มสนใจนวัตกรรมกักเก็บพลังงาน จากการสั่นสะเทือน หรือ เพียโซอิเล็กทริก (piezoelectric) จนมีโอกาสได้ทำผลงานส่งประกวดในหลายๆ เวที อย่างสภาวิจัยแห่งชาติ และได้รางวัลจากผลงานการประกวด “Innovation Technology 2015” เรื่องสร้างพลังงานไฟฟ้าจากพื้นถนน ด้วยวิธีให้รถเหยียบ หรือคนเดิน โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานหลัก จากชมรมวิศวกรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

จนได้เปลี่ยนความสนใจ กลายมาเป็นความชอบ และผลักดันตัวเองให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของชมรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเปิดโอกาสในการพัฒนารถแข่งตั้งแต่เริ่มต้น และเข้าร่วมในโปรเจคพัฒนาเครื่องประจุแบตเตอร์รี่ระหว่างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงคว้าโอกาสให้ตัวเองอีกครั้ง โดยเลือกไปฝึกงานที่ มหาวิทยาลัยโตไก ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเองได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ กับเทคโนโลยีอนาคตอย่าง เซลล์เชื้อเพลิง หรือ (Fuel cells) ซึ่งเป็นอีกแขนงหนึ่งของ EV 

ความท้าทายกับเทคโนโลยีที่กำลังใกล้เข้ามา ผลักดันให้เขาตัดสินใจทำโปรเจคนวัตกรรมเครื่องชาร์จรถไฟฟ้า 2 ทิศทาง ออกมาเป็นบริการใหม่ที่ใช้แอปพลิเคชั่นช่วยเรียกรถ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต หากสถานีชาร์จไม่เพียงพอ ซึ่งไอเดียนี้เกิดเป็นธุรกิจได้จริงแล้วทั้งในยุโรป และประเทศจีน

ประสบการณ์ฝึกงานที่ญี่ปุ่นทำให้ กำปั่นมั่นใจในเส้นทางเดินของตัวเองมากขึ้น โดยเลือกทำสิ่งที่ชอบ และไต่เต้าขึ้นมาเป็นที่ 1 ให้ได้ นั่นเป็นเหตุผลทำให้ตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านพลังงาน ที่ University of Strathclyde ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และที่นั่น เขาได้เข้าร่วมโปรเจคกลุ่มด้านการจัดการปริมาณคาร์บอน จาก Vehicle to grid ที่ช่วยลดการจ่ายพลังงานไฟฟ้าคืนสู่ระบบ ในสก๊อตแลนด์ 

 

: เริ่มต้นในสายอาชีพ

ประสบการณ์ทั้งหมดถูกเก็บเกี่ยว เพื่อกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่บ้านเกิด ในยุคบุกเบิกของรถไฟฟ้าในไทย ไม่ต่างกับจุดเริ่มต้นของปั๊ม NGV ในยุคน้ำมันแพง เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา

งานแรกของวิศวกร EV คนนี้ คือเข้าไปฝังตัวอยู่ในค่ายรถแห่งหนึ่งเพื่อร่วมทำวิจัยและพัฒนา low speed EV เพื่อให้เข้าใจตลาด ร่วมถึงเข้าทำงานกับบริษัทนำเข้าเครื่องชาร์จรถไฟฟ้า จนล่าสุดเขารับหน้าที่สำคัญในการผลักดัน สถานีชาร์จ และนวัตกรรม EV ให้กับ ปตท. OR 

“ระยะเวลาเพียง 1 ปี การมาของ EV ในไทยเปลี่ยนไปค่อนข้างเร็ว การนำความรู้มาพัฒนาประเทศ เราอาจจะเป็นแค่พลังมดเล็กๆ แต่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้” เขากล่าว และย้ำว่า ไม่เกิน 10 ปี เครื่องชาร์จจะชาร์จได้เร็วขึ้นมากๆ fast charge ได้ใน 5 นาที ไม่ต้องรอนานเป็นชั่วโมง ซึ่งในต่างประเทศเริ่มแล้ว ขณะที่ตัวรถเองจะมีตัวเลือกมากขึ้น เช่นเดียวสถานีชาร์จที่เติบโตไปพร้อมกัน

 

 

ส่วนตัวกำปั่นเอง มองว่า EV ในไทย ไปรอดแน่ แต่อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่ เพราะอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้ไปไม่ถึง หรือไปได้ช้าส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก 

“ผลกระทบจากสงคราม เป็นตัวแปรสำคัญต่อต้นทุนวัตถุดิบต้นน้ำ ที่มาจากต่างประเทศ เช่น ตัวรถ แร่หายาก และแบตเตอรี่ ที่มีความต้องการมากขึ้น จนผลิตไม่ทัน ดันให้ราคาต้นทุนสูงขึ้นในที่สุด”

อย่างไรก็ตาม เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าจะยังเป็นโอกาส และก้าวสำคัญของคนที่จะเริ่มต้นเดินทางเข้ามาในสายอาชีพนี้ ที่ยังมีความต้องการรออยู่อีกมากในอนาคตอันใกล้

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า เริ่มต้นตอนนี้ยังไม่สาย สำหรับใครที่สนใจศึกษาด้าน  EV อย่างจริงจัง ลองมองหาโอกาสใหม่ๆ ให้ตัวเอง แล้วลุยไปให้สุดดูสักตั้ง ผลสำเร็จอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม …