แดนซ์กันมัน ไม่ใช่ นั่น โคโยตี้
กองทัพสหรัฐฯ กำลังทดสอบ หุ่นยนต์หมาป่าไคโยตี้ หรือ Coyote Rovers ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไล่นกในสนามบินและสัตว์ป่าอื่นๆ ออกจากรันเวย์ของฐานทัพอากาศ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางการบินให้สูงสุด
ทำไมต้องใช้หุ่นยนต์หมาป่าไคโยตี้?
ปัญหาใหญ่ที่สนามบินทั่วโลกต้องเจอคือสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกที่อาจถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์เจ็ต หรือสัตว์อื่นๆ ที่วิ่งบนรันเวย์ ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อเครื่องบินและชีวิตนักบิน ที่ผ่านมามีการใช้สารพัดวิธีเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรของกองทัพบกสหรัฐฯ จึงเกิดไอเดียในการใช้ หุ่นยนต์หมาป่าไคโยตี้ ขึ้นมา เพราะในธรรมชาตินั้นไคโยตี้ คือผู้ล่าที่สัตว์เล็กๆ ต่างหวาดกลัว การใช้หุ่นยนต์ที่เลียนแบบรูปลักษณ์ของมันจึงเป็นวิธีไล่ที่ได้ผลทางจิตวิทยากับสัตว์เหล่านั้น
เดิมทีทีมงานได้ทดลองใช้หุ่นยนต์สี่ขาอย่าง Boston Dynamics Spot แต่พบว่ามันเคลื่อนที่ช้าเกินไปที่จะทำให้สัตว์ตกใจกลัวได้ จึงได้เปลี่ยนมาใช้โครงสร้างของรถบังคับวิทยุ 4 ล้อที่ทำความเร็วได้ถึง 20 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 32 กม./ชม.) และนำหุ่นจำลองไคโยตี้มาติดตั้งไว้ด้านบน
หุ่นยนต์หมาป่าไคโยตี้ หนึ่งตัวมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ $3,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 110,000 บาท) และได้เริ่มนำไปทดสอบใช้งานจริงแล้วในฐานทัพอากาศสำคัญหลายแห่ง เช่น ฐานทัพเรือเพนซาโคลาในฟลอริดา
อนาคตของเทคโนโลยีไล่สัตว์ในสนามบิน
แม้ว่าปัจจุบัน Coyote Rover จะยังเป็นเหมือนรถบังคับวิทยุติดของเล่น แต่เป้าหมายในอนาคตคือการพัฒนามันให้เป็นโดรนภาคพื้นดินอัตโนมัติเต็มรูปแบบ โดยมีความสามารถคือ
- เคลื่อนที่ตามเส้นทางที่ตั้งโปรแกรมไว้ล่วงหน้าได้
- สามารถกลับไปชาร์จพลังงานให้ตัวเองได้
- ติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อตรวจจับและระบุชนิดของสัตว์ได้
- ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการไล่ให้เหมาะสมกับสัตว์แต่ละชนิด