Grab ควบกิจการ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วประชาชนได้อะไร ?

ดีลใหญ่ของเช้าวันจันทร์นี้ ต้องยกให้กับการประกาศอย่างเป็นทางการของ Grab ที่สามารถเข้าซื้อกิจการของ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นผลสำเร็จ แล้วสิ่งที่ Grab ได้จาก Uber มีอะไรบ้าง ? แล้วประชาชนล่ะ ! ได้ประโยชน์อย่างไรกับดีลนี้

การควบรวมกิจการครั้งนี้ ทำให้ Grab มีสิทธิ์ในการมาเข้าบริหารจัดการบริการต่างๆ ของ Uber อาทิ UberEATS ซึ่งเดิมทีให้บริการอยู่เพียงสองประเทศ นั่นคือ อินโดนีเซียและไทย ซึ่งแผนการขั้นต่อไปจะขยายไปยังสิงคโปร์และมาเลเซีย ภายใต้ชื่อบริการใหม่ที่เรียกว่า “GrabFood” สามารถเรียกใช้งานได้ผ่านแอพพลิเคชั่นเหมือนเดิม

ส่วนที่สองที่ Grab วางเป้าหมายต่อยอดจากการควบรวมกิจการ Uber คือ การยกระดับการให้บริการ Grab Financial บริการชำระเงินผ่านมือถือ บริการกู้ยืมสำหรับรายย่อย (micro-financing) และบริการประกัน รวมไปถึงบริการอื่นๆ สำหรับลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยหลายล้านรายในภูมิภาค ทั้งนี้ บริการ Mobile Wallet ของ GrabPay จะพร้อมเปิดให้บริการในทุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปลายปีนี้

ส่วนที่สามที่ถือว่าสำคัญมากๆ นั่นคือ การบริการด้านการขนส่ง เมื่อมองมาที่ประเทศไทยจะเห็นได้ว่าบริการ Grab Taxi ถือเป็นหนึ่งในบริการรถยนต์โดยสารสาธารณะที่รับการยอมรับและเป็นบริการที่ถูกกฎหมาย ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อเป็นทางเลือกแก่การเดินทางให้กับประชาชน พร้อมยกระดับมาตรฐานรถแท็กซี่ในเมืองไทยให้มีความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งการควบรวมกิจการครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ Grab จะสามารถนำข้อดีจากฟีเจอร์ในแอพพลิเคชั่น Uber มายกระดับการเรียกใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นให้กับประชาชนได้อย่างสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แต่…. Uber กับ Grab Car ยังผิดกฎหมาย !!!

ต้องยอมรับว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การขยายตัว Uber ที่เข้ามาถึงประเทศไทย รวมถึงอีกบริการจาก Grab ที่เรียกว่า Grab Car ได้กลายหนึ่งในทางเลือกใหม่สำหรับประชาชนที่ต้องการความสะดวกสบายในการเดินทาง เป็นทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาของแท็กซี่สาธารณะ “บางราย” ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม, ข้ออ้างสารพัดในการปฏิเสธผู้โดยสาร

แม้ในความรู้สึกของประชาชนที่ใช้บริการ Uber และ Grab Car จะสัมผัสได้ถึงความสะดวกสบาย ให้ความสบายใจ แต่ในมุมของกฎหมายประเทศไทย การให้บริการในลักษณะนี้ถือว่า “ผิดกฎหมาย” เนื่องจากกรมการขนส่งให้เหตุผลว่าเป็นการนำรถยนต์มาใช้ผิดประเภท, ไม่มีข้อมูลผู้ขับ, ไม่สามารถตรวจสอบประวัติได้, อยู่เหนือการควบคุม, สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน และอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้

ขณะที่ฝากของผู้ขับแท็กซี่สาธารณะส่วนหนึ่งชี้ว่าการให้บริการของคู่แข่งถือเป็นความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันและบริการ เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนของแท็กซี่มิเตอร์ทั่วไปมีสูงกว่า, ราคาค่าบริการถูกกำหนดจากภาครัฐ แต่ขณะที่คู่แข่งกลับเปิดกว้างและสามารถกำหนดราคาเองได้ จึงเห็นสมควรให้ภาครัฐสร้างความชัดเจนต่อเรื่องนี้ว่าทิศทางที่เป็นธรรมสำหรับทั้งสองฝ่ายควรเป็นอย่างไร ?

แล้ว Grab จะเอายังไงกับชื่อ Uber ?

เชื่อว่าหลายๆ คนคงตั้งคำถามว่าเมื่อเกิดการรวมกิจการครั้งนี้ Grab จะทำอย่างไรกับชื่อ Uber จะยังแยกเป็นบริการแท็กซี่กับรถยนต์ส่วนบุคคลอยู่หรือไม่ ? หรือจะดัน Uber ให้กลายเป็นบริการแท็กซี่สาธารณะแบบถูกกฎหมายรึเปล่า ? ซึ่งคำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนักจากผู้บริหารจากฝั่ง Grab หรือ Uber

แล้วฝั่งประชาชนล่ะ ?

เชื่อว่าหลายคนคงมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปในการใช้บริการ Uber หรือ Grab Car แน่นอนว่าการตัดสินใจใช้บริการของทั้งคู่ย่อมนำมาซึ่งการเปรียบเทียบการให้บริการของแท็กซี่สาธารณะ ยอมเสี่ยงที่จะได้รับความสะดวกสบาย แม้จะผิดกฎหมายก็ตาม แต่การที่ Grab ควบกิจการ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ Uber และ Grab Car ถูกกฎหมาย ! แต่อย่างน้อยๆ ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์ของการให้บริการที่จะถูกยกระดับขึ้นในหลายๆ บริการของ Grab เพื่อความสะดวกสบายของประชาชน

ยิ่งไปกว่านั้นในทางอ้อมยังเป็นการส่งสัญญาณไปถึงกรมการขนส่ง, ภาครัฐ และผู้ให้บริการแท็กซี่สาธารณะที่ต้องหันกลับมามองตัวเองและฝั่งเสียงประชาชนมากขึ้นว่า ถ้าให้คนหันมาใช้บริการแท็กซี่สาธารณะมากขึ้นและมีความเชื่อใจจะต้องยกระดับมาตรฐานตัวเองอย่างไร ?

ข้อมูลบางส่วนจาก
https://www.thairath.co.th/content/958585
https://www.posttoday.com/politic/report/484221