5 ทริค จับโป๊ะแอปปลอม เข้าข่ายหลอกฉกข้อมูล

5 ทริค จับโป๊ะแอปปลอม เข้าข่ายหลอกฉกข้อมูล
5 ทริค จับโป๊ะแอปปลอม เข้าข่ายหลอกฉกข้อมูล

ไม่เนียนไปเรียนมาใหม่ แอปปลอมทั้งหลาย จับผิดได้ก่อนกดโหลดลงเครื่อง

 

ข้อดีของ Android คือค่อนข้างเปิดกว้างสำหรับแอปหน้าใหม่จนมีแอปมากมายอยู่บน Google Play แต่ขณะเดียวกันก็กลับกลายเป็นช่องว่างที่ทำให้แอปผี หรือเหล่าแอปปลอม สามารถเข้ามาตีเนียนหลอกล่อให้โหลดลงเครื่องได้เช่นกัน

 

Techhub มีเทคนิค จีบโป๊ะแอปปลอมมาผ่าก ก่อนจะหลวมตัวโหลด แลกกับข้อมูลส่วนตัว แถมด้วยโฆษณาตามมาอีกเป็นขบวน เพราะหากใครเผลอติดตั้งลงเครื่องเมื่อไร ก็เท่ากับปล่อยให้เหล่าผู้พัฒนาแอปปลอม เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวภายในเครื่อง หรือแอบใส่ Phishing หลอกเอาไอดีและรหัสของบัญชี เช่น Facebook หรือ Youtube ของเราไปใช้งานได้แบบเนียนๆ

จับโป๊ะแอปปลอม
จับโป๊ะแอปปลอม

 

1. ให้ติดตั้งผ่านไฟล์ APK
หากใครท่องเว็บ แล้วไปเจอหน้าเว็บ ๆ หนึ่งที่โฆษณาแอปพร้อมบรรยายสรรพคุณซะมากมาย แต่พอเวลาจะกดโหลด แทนที่จะเข้าหน้า Google Play กลับให้ติดตั้งไฟล์ APK แทนซะงั้น APK หรือ Android Package Kit ก็คือตัวติดตั้งแอปฯ บนเครื่อง Android ซึ่งมีลักษณะคล้ายโปรแกรม .exe ของ Windows หากเจอแบบนี้ ให้ตั้งแง่ไว้ก่อนเลย เพราะการติดตั้งแอปฯ Android ผ่าน APK ถือว่ามีความเสี่ยงพอตัว เนื่องจาก ไม่มีการรับรองใด ๆ จาก Google นั้นเอง จุดนี้ให้ดูข้อมูลเกี่ยวกับผู้พัฒนาให้ดี ๆ เลย ถ้าดูแล้วไม่ดังหรือไม่เป็นที่รู้จักจริง ๆ ก็เลี่ยงไว้เป็นการดี

 

2. เจอแอปซ้ำๆ ในหน้าค้นหา

บางคนอาจมีแอปฯ ที่เล็งไว้แล้ว แต่พอมาพิมพ์ชื่อค้นหาใน Google Play กลับเจอแอปฯ อื่น ๆ มากมาย ที่ดันคล้าย หรือเหมือนกันทั้งชื่อ ทั้งโลโก้ จุดนี้ให้สังเกตชื่อ ‘ผู้พัฒนา’ ซึ่งเราต้องหาให้ได้ว่า แอปที่เรากำลังจะโหลดนั้น มีชื่อผู้พัฒนาที่แท้จริง ว่าอะไร ถ้าเป็นผู้พัฒนาตัวจริง ตัวแอปก็ต้องอยู่ Top สุดของการค้นหา และจิ้มที่ชื่อผู้พัฒนาแล้วเจอชื่อแอปอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน (ไม่ใช่มีแอปฯ เดียว) หรือง่ายสุดคือ ไปโหลดตัวแอปฯ นี้จากเว็บ Official โดยตรงเลยก็ได้ แต่ถ้าดันเจอให้โหลดไฟล์ APK ก็อย่าลืมถอยออกมาก่อนนะครับ

 

3. รีวิวไม่สมจริง รูปแบบคล้าย IO
อีกจุดที่ควรสังเกตคือ คอมเม้นท์ รีวิวตัวแอปจากผู้ใช้คนอื่น ๆ แนะนำว่าให้ลองไปไล่ดูสักหน่อย หากพบว่าบางประโยคเหมือนใช้ Google Translate มาแปล หรือเจอชื่อผู้คอมเม้นท์ซ้ำกันแต่คอมเม้นท์ต่างกันอีก แสดงว่าเจอหน้าม้า หรือคอมเม้นท์ปลอมเข้าให้ซะแล้ว หลีกเลี่ยงแอปที่มีคอมเม้นท์ แบบนี้ไว้ก่อน

 

4. ขอสิทธิ์เข้าถึงแบบเกินเรื่อง


นับเป็นส่วนที่มีการเตือนมานักต่อนัก แต่หลายคนคงมองข้ามไป หากเจอแอปฯ ที่ไม่คุ้นเคย แนะนำให้ลองไปดูส่วน ‘เกี่ยวกับแอปนี้’ แล้วต่อที่ ‘สิทธิ์ของแอป’ ลองดูเลยว่า มีการเข้าถีงข้อมูลส่วนตัวมากแค่ไหน เช่น ขอใช้สิทธิ์ เข้าถึงพื้นที่ จัดเก็บ ข้อมูล ภายในเครื่อง , ขอเข้าถึงรายชื่อติดต่อ , ขอเข้าถึงตำแหน่ง จุดนี้ให้ดูที่ตัวแอป ถ้าเป็นแอปดัง ๆ อย่าง Facebook หรือ Youtube ก็จะไม่แปลกเลย แต่ถ้าเป็นแอป ที่ไม่รู้จัก และไม่รู้ ว่าจะเข้าถึงสิทธิ์เหล่านี้ไปทำไม เช่น แอป โหลด Wallpper ที่ขอเข้าถึงรายชื่อติดต่อ หรือแอปฯ ไฟฉาย ที่ขอเข้าถึงพื้นที่ จัดเก็บ ข้อมูล ภายใน จุดนี้ควรตั้งแง่ให้หนัก ๆ เลย

 


5. ยอดดาวน์โหลดผิดปกติ


ไม่ใช่ว่าแอปฯ ยอดดาวน์โหลดน้อยจะเป็นแอปปลอมซะทีเดียว แต่ปกติถ้าเป็นแอป ที่มีความเชื่อถือได้ (เช่นแอปฯ การเงิน หรือ บริการออนไลน์) มักจะมียอดดาวน์โหลดสูง ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าวันหนึ่งเจอแอป ที่มีฟีเจอร์คล้าย ๆ กัน แต่กลับมียอดดาวน์โหลดน้อย หรือเพิ่งพัฒนาได้ไม่นาน ก็เป็นอีกข้อสังเกตเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้ามครับ

 

——————-
©️ Techhub.in.th เว็บรวม How To , Tips เทคนิค อัปเดตทุกวัน
.
⭐️ เพราะ Techhub อยากให้คนรู้ทันเทคโนโลยี ฉลาดใช้ ไม่ตกเป็นเหยื่อ