สุดล้ำ กันสาดโซลาร์เซลล์ ผลิตไฟฟ้าพลังแดด

นักวิจัยไทยพัฒนากันสาดผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ สำหรับบ้านที่อยากเซฟพลังงานไฟฟ้าแบบไม่ต้องลงทุนสูงแถมลดข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ไปได้เยอะ

แผงโซลาร์เซลล์ทั่วไปที่มีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า น้ำหนักมาก และโค้งงอไม่ได้ ทำให้มีข้อจำกัดในการติดตั้ง ที่ต้องการพื้นที่หลังคากว้าง เช่น หลังคาทรงจั่ว หลังคาทรงปั้นหยา และหลังคาทรงโมเดิร์นเท่านั้น ไม่เหมาะใช้งานกับหลังคารูปทรงโค้งที่กำลังได้รับความนิยม 

กลายเป็นโจทย์ให้นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) พัฒนานวัตกรรมซันการ์ดพีวี (SunGuard PV) หรือ กันสาดโซลาร์แผงโซลาร์เซลล์แบบใหม่ ที่มีน้ำหนักเบา โค้งงอได้ เหมาะสำหรับใช้เป็นกันสาดและติดตั้งได้ทันที

เป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนที่สนใจติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในบ้าน แต่สภาพหลังคาไม่เอื้อ ด้วยแผงโซล่าเซลล์มีน้ำหนักโดยเฉลี่ยมากถึง 25-30 กิโลกรัมต่อแผง นวัตกรรมกันสาดโซลาร์เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ ช่วยลดปัญหาข้อจำกัดการใช้งาน ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ภาคเอกชนด้วย

สำหรับกระบวนการพัฒนานวัตกรรม ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบที่เกรดเดียวกับที่ใช้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์แต่มีน้ำหนักเบากว่าแผงโครงสร้างทั่วไปมากกว่า 50% สามารถปรับให้โค้งงอได้ และมีความแข็งแรงและความเหนียว ช่วยเสริมแผงให้ทนแรงกระแทกและทนต่อสภาพอากาศ 

ข้อดีคือสามารถติดตั้งแทนกันสาดที่เป็นวัสดุพอลิคาร์บอเนตเดิมได้ทันที เพราะมีน้ำหนักใกล้เคียงกัน และไม่ต้องปรับโครงสร้างกันสาดที่มีอยู่เดิม และเมื่อตัวกันสาดโซลาร์หมดอายุการใช้งานก็เปลี่ยนและติดตั้งใหม่ได้โดยง่าย ในขณะที่กันสาดโซลาร์ที่ปลดจากการใช้งานแล้วยังนำกลับมารีไซเคิลได้ เนื่องจากวัสดุ PET และ ABS เป็นกลุ่มพอลิเมอร์ประเภทเดียวกันที่รีไซเคิลได้ เท่ากับว่าลดขั้นตอนการถอดชิ้นส่วนเพื่อนำกลับไปใช้ซ้ำได้ง่ายขึ้น 

ในด้านประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้า กันสาดโซลาร์มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าแผงโซลาร์เซลล์แบบทั่วไปอยู่ที่ 8.5% โดยประมาณ เนื่องจากความโค้งและมุมรับแสงที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตามแผงกันสาดโซลาร์มีข้อดีในส่วนอุณหภูมิใต้แผงที่ต่ำกว่าแผงแบบทั่วไป 3-5 องศาเซลเซียส ทำให้พื้นที่ใต้กันสาดมีอุณหภูมิที่เย็นกว่าการนำแผงแบบทั่วไปมาทำเป็นกันสาด

นวัตกรรมกันสาดโซลาร์ได้จดสิทธิบัตรและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทเอกชนแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยร่วมกันเพื่อพัฒนาต้นแบบให้ได้ตามมาตรฐาน IEC ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายในปี 2566 

#TechhubUpdate #innovation #Solarcell