เจาะข้อมูล M1 Pro และ M1 Max สุดขีดทะลุโลก ต้องแรงเบอร์นี้ไหม ?

เต็มเหนี่ยวไปเลยลวกเพ่ !! เหมือนได้ยินเสียงแว่วลาง ๆ หลังได้ดูงาน Apple เปิดตัวชิป M1 ตัวใหม่อย่าง M1 Pro และ M1 Max พร้อมกับ Macbook Pro (2021) รุ่นใหม่ล่าสุด ที่ ณ ตอนนี้กลายเป็นสุดยอดโน้ตบุ๊ก Workstation ในฝันของเหล่า Creator ทั่วโลกไปแล้ว ในบทความนี้จะมาเจาะข้อมูลตัวชิป M1 Pro และ M1 Max แบบไม่เน้นเรื่องเทคนิคกันครับ

M1 ชิปหน้าใหม่ แต่สะเทือนยุทธภพ

ย้อนกลับไปตอนที่ M1 เปิดตัวครั้งแรก Apple ได้ชูเลยว่า มันจะกลายเป็นชิปประมวลผลแห่งยุค แรงแซงหน้าคู่แข่งอย่างท่วมท้น ทั้งยังประหยัดพลังงานอย่างน่าเหลือเชื่อดว้ย แต่ช่วงนั้นหลายคนก็แอบปรามาสอยู่ไม่น้อย คงคิดว่า Apple จะโม้อะไรอีก ประจวบกับตอนนั้น Apple กำลังโดนวิจารณ์เรื่อง ‘นวัตกรรม’ อยู่พอดี แต่หลังจากที่ MacBook รุ่นที่ใช้ชิป M1 วางจำหน่าย และได้มีการลองใช้งานจริงแล้ว แทบจะร่ำร้องพร้อมกันเลยว่า “ข้าน้อยผิดไปแล้ว !!”

Apple M1 กลายเป็นชิปเปลี่ยนโลกของจริง เร็วจริง ประหยัดแบตฯ จริง อีกทั้งราคาเข้าถึงง่ายเกินคาด ง่ายชนิดที่แทบอยากจะขายโน้ตบุ๊ก Workstation ตัวเก่าทิ้ง และเปลี่ยนมาใช้ MacBook Air ที่ใช้ M1 กันเลยก็มี (นี่สิ One More Thing !!) ทว่าตอนนี้ใครที่เพิ่งซื้อ MacBook Pro รุ่น M1 ไป คงแทบกระอักเลือดพร้อมกันทั่วหล้า หลังการมาของ ศิษย์พี่ทั้งสอง

คารวะศิษย์พี่ M1 Pro และ M1 Max

ราวกับศิษย์พี่ที่เพิ่งฝึกวิชาเสร็จจากถ้ำใต้สำนัก ชิป M1 ว่าแรงสะเทือนโลกแล้ว สำหรับรอบนี้คงสะเทือนยันจักรวาล M1 Pro และ M1 Max สองชิปประมวลผลระดับ Hi-End ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเอาจริงของ Apple หลังลองส่งศิษย์น้อง M1 ไปลองเชิงก่อนแล้ว ก็ถึงเวลาสำนัก Apple ปล่อยของ

อย่างที่กล่าวไปว่าบทความนี้จะไม่เน้นเรื่องเทคนิคมาก ฉะนั้นก็จะขอเปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า M1 เป็นเสมือน ‘ศิษย์ชั้นใน’ ส่วน M1 Pro และ M1 Max คือ ‘ศิษย์สายตรง’ (ซึ่ง M1 Max กำลังกลายเป็น ‘ศิษย์สืบทอด’) จากสำนัก Apple โดยนับได้ว่าเป็นชิปประมวลผล ที่พัฒนามาเพื่อเหล่ามืออาชีพในสายงาน Creator ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานตัดต่อวิดีโอระดับ 4K – 8K ได้เร็ว ทำไฟล์ภาพระดับใช้โฆษณาบนตึกกับทางด่วน คอมไพล์โปรเจ็กต์ชูโรงของบริษัทจากโปรแกรม Xcode หรือสร้างงานกราฟฟิกชนิดช่วยสร้างเกม AAA ก็ยังได้ การันตีโดยทาง Apple ซึ่งบอกด้วยว่า ชิป M1 Pro ก็เร็วกว่า M1 ถึง 70% เข้าไปแล้ว

จุดสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ M1 Pro สามารถอัดแรมได้สูงสุดถึง 32GB ส่วน M1 Max ได้สูงสุดถึง 64GB ต่างจากตัว M1 ที่ใส่แรมได้สูงสุดเพียง 16GB เท่านั้น และยังมี Bandwidth ระดับ 200 – 400 GB/s (คู่แข่งเอาเท้าก่ายหน้าผากแล้ว) ยิ่งแรมเยอะ Bandwidth เยอะ ก็ยิ่งลุยงานได้ละเอียดมากขึ้น เปิดได้หลายโปรแกรมพร้อมกันได้ไม่สะดุด

ส่วนจำนวน Core หรือขุมพลังในการประมวลผลก็เพิ่มด้วยเช่นกัน แต่สำคัญที่สุดคือจำนวน Transistors หรือจะเรียกว่า ‘ลมปราณ’ ก็ได้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งขุมพลังของซีพียูทั้งหมด ช่วยขับเคลื่อนกำลังภายในทั้งแรม ทั้ง GPU ทั้ง CPU และ Media Engine ที่อยู่ภายในชิปทั้งหมด

ทั้งนี้ในตัวชิป M1 Pro กับ M1 Max ก็มีจำนวน Transistors เพิ่มเป็นเท่าตัวกันเลย โดยเฉพาะ M1 Max ที่สูงกว่าเดิมหลายขั้น แทบจะเป็น ‘เซียน’ อยู่แล้ว

ลองเทียบกับชิป M1 รุ่นก่อน

เเม้กิ่งไผ่ก็ไร้เทียมทาน

รู้หรือไม่ MacBook Pro 16 รุ่น M1 Pro กับ M1 Max ใช้อะแดปเตอร์แปลงไฟสูงสุดเพียง 140W เท่านั้น สวนทางกับประสิทธิภาพที่ไปไกลกว่าโน้ตบุ๊กสเปก Hi-End ที่ต้องใช้อะแดปเตอร์แปลงไฟถึง 240W ขึ้นไปเลย

จุดนี้ Apple คุยด้วยว่า หากเทียบกับโน้ตบุ๊กที่มีการ์ดจอแยกทรงพลังแล้ว (รุ่นไหนกันนะ) ชิป M1 Pro ก็ยังมีประสิทธิภาพสูงกว่า ในขณะที่ใช้พลังงานน้อยกว่าสูงสุด 70% ข่มกันซึ่ง ๆ หน้าเลย ใช้พลังงานน้อยกว่ามันดียังไง เอาง่าย ๆ ตอนชิป M1 สามารถตัดต่อวิดีโอ 4K แบบไม่ต้องเสียบอะแดปเตอร์ก็ยังได้มาแล้ว นอกจากนี้ยังมีความร้อนที่น้อยอีกเช่นกัน

กลายเป็นว่าเราไม่ต้องมองหาปลั๊กเพื่อทำงาน แต่วางเครื่องบนตักแล้วลุยงานระดับโปรเจคจากที่ไหน ตรงไหน เวลาไหนก็ได้นั้นเอง เชื่อว่าชิป M1 Pro กับ M1 Max แม้ไม่เสียบอะแดปเตอร์ ก็ยังทรงพลังมากพอ ส่วนนี้ Appe ระบุด้วยว่า ใช้แบตเตอรี่เพียว ๆ ก็สามารถปรับแก้สีแบบ HDR กับตัดต่อวิดีโอ ProRes 4444 ระดับ 8K ก็ยังได้ ไร้เทียมทานจริง ๆ เลื่อมใส ๆ

ทุกอย่างมาจากสำนัก Apple

 

เคล็ดวิชาของ Apple คือ ‘หนึ่งเดียวคือทุกสิ่ง’ ทุก ๆ สิ่งล้วนมาจากที่เดียวกัน ทั้งผลิตเอง ออกแบบเอง และปรับแต่งเอง อย่างในชิป M1 และ M1 Pro กับ M1 Max ไม่ว่าจะแรม จะ CPU กับ GPU ก็รวมอยู่ในชิปตัวเดียวกัน ไม่ได้มีเป็นแรมแยกหรือการ์ดจอแยกเหมือนฝั่งคู่แข่ง เมื่อรวมกับ MasOS หรือซอฟต์แวร์ที่พัฒนาเองด้วยอีก ก็ทำให้ได้ประสิทธิสูงสวนทางกับการใช้พลังงานนี้เอง

ข้อสังเกตสำคัญอีกอย่างคือ ซีพียูและการ์ดจอในชิป M1 Pro และ M1 Max ใช้แรมตัวเดียวกัน คือเลือก MacBook Pro สเปกแรม 64GB ก็เท่ากับได้การ์ดจอแรม 64GB นั้นแล ใช้ร่วมกัน ไปด้วยกัน เพราะมาจากหนึ่งเดียวกัน และหนึ่งเดียวคือทุกสิ่ง

แรงขนาดนี้ จำเป็นกับเราไหม ?

 

มาถึงส่วนนี้ก็ขอออกจากโลกยุทธภพก่อนนะครับ (ฮ่า) หัวข้อนี้ขอจริงจังเลย Apple เปิดตัวชิป M1 Pro กับ M1 Max และแน่นอนว่าต้องมีอุปกรณ์ชิมลาง ซึ่งก็คือ MacBook Pro (2021) นี้เอง ทุกอย่างปูมาอย่างสวย ชูป้ายไฟ Apple มารัว ๆ กระทั่งมาสะดุดตรง…ราคา

เริ่มต้น 73,900 บาท จบที่ 215,900 บาท !! 

ส่วนนี้ก็ต้องขอย้อนกลับไปสมัยตอนที่ MacBook Pro รุ่นปี 2015 (หรือปี 2555) เปิดตัว ตอนนั้นมีจอ Retina พร้อมสเปก Intel Core i7 Gen 3 กับการ์ดจอ Nvidia GeForce GT 650M เชื่อไหมว่าตอนนั้นเปิดราคาเริ่มต้นที่ 72,900 บาท กลับมาปัจจุบันเริ่มต้น 73,900 บาท อย่างที่กล่าวไปในช่วงแรก ๆ เลย Apple เอาจริงแล้ว และนี่ก็คือ ราคาปกติ อย่างที่ (Apple ตั้งใจให้) ควรจะเป็น

คือตัว MacBook Pro (2021) ถือเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ทำมาหากินโดยแท้ อีกทั้งตอนช่วงเปิดตัว Apple ไม่เคยกล่าวเลยว่า นี่คือโน้ตบุ๊กสำหรับ ท่องเว็บ ส่อง Facebook หรือดู Netflix หากแต่เป็นโน้ตบุ๊กสำหรับมืออาชีพโดยเฉพาะ ซึ่งเชื่อได้เลยว่า เหล่า Creator มืออาชีพตอนนี้คงไม่ถามว่า “ราคาเท่าไร” แต่เป็น “เครื่องขายเมื่อไร” มากกว่าครับ

ที่มา : ZDnet , AppleTH