มองตาเปล่าก็เห็น ดูดาวพฤหัสใกล้โลก ท้าลมหนาว 3 พ.ย. นี้

จดใส่ปฏิทินเอาไว้เลยได้เห็นแน่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ บอกข่าวดีรับหน้าหนาว 3 พฤศจิกายน 2566 ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี

เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า สามารถรับชมได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า หากฟ้าใสไร้ฝน ชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ

ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 595 ล้านกิโลเมตร

หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะสามารถสังเกตเห็น “ดวงจันทร์กาลิเลียน” ทั้ง 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด คัลลิสโต รวมถึง “แถบเมฆ” ที่สวยงามของดาวพฤหัสบดี

และหากใช้กำลังขยาย 100 เท่าขึ้นไป จะสามารถเห็น “จุดแดงใหญ่” พายุหมุนยักษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 1.3 เท่า ได้อย่างชัดเจน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเตรียมเปิด 5 หอดูดาว ชวนคนไทยส่องดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และขอนแก่น ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย

หรือรับชม LIVE ผ่านทางเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ตั้งแต่เวลา 19:00 น. เป็นต้นไป

ปรากฏการณ์สำคัญแบบนี้ไม่ได้มีมาบ่อย ๆ ใครอยู่ที่มืดไม่มีเมฆก็ลองสำรวจบนท้องฟ้าดูได้ครับ

#ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี #ดาวพฤหัสบดี #TechhubUpdate