ส่องความเจ๋ง LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์คนไทย พร้อมใช้จริง

AI ภาษาไทยไม่ไกลเกินเอื้อม Techhub insight พาไปดูความเจ๋งของ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ติดอันดับ 70 ของโลก และอันดับหนึ่งในอาเซียน ตั้งอยู่ภายในศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง หรือ ThaiSC สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ของไทยเรานี่เอง

LANTA เป็น Supercomputer ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ช่วยลดเวลาประมวลผล ข้อมูลขนาดใหญ่ ให้ทำได้เร็วขึ้น หลังจากถูกปรับแต่งสเปกใหม่ด้วยฝีมือนักวิจัยไทยให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง รวมถึงออกแบบระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ หรือ Liquid Cooling เพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ตัวเครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จนทำให้ LANTA กลายเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในประเทศไทย และเร็วที่สุดในอาเซียน

 


ดร. ปัถย์ ศักดิ์ธนากูล
 NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC
บอกว่า ความหวังของ LANTA คือเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดด้านการพัฒนางานวิจัยของคนไทยที่ยังต้องการพลังการคำนวณในระดับสูง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วงานวิจัยที่ผ่านมายังขาดโครงสร้างพื้นฐาน หรือ infrastructure ที่สามารถให้พลังในการคำนวณที่สูงได้ นั่นกลายเป็นข้อจำกัด 

ตัวอย่างเช่น โจทย์ที่มีขนาดใหญ่ และใช้เวลานานในการแก้ เช่นการทำเทรนนิ่ง AI ในบางโปรเจคอาจต้องใช้เวลานานเป็นเดือน แต่การมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีพลังประมวลผลสูงเข้ามาช่วยจะทำให้ลดเวลาคำนวณลงมาได้ อาจจะเหลือหลักเพียงหลักวัน หรือหลักชั่วโมง  “สำหรับ LANTA มีสตอเรจอยู่ที่ 10 เทราไบต์ รองรับข้อมูลที่ใช้เทรน AI ได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการประมวลผล” นักวิจัยกล่าวและอธิบายว่า ตัว AI ใช้พลังในการคำนวณค่อนข้างสูง ถ้ามีเดสก์ท็อปเครื่องเดียว อาจจะใช้ GPU 1-2 ตัวช่วยในการคำนวณเพื่อเทรนนิ่ง แต่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ใช้ GPU หลักร้อยตัวเข้ามาช่วยในการเทรนนิ่งได้ ทำให้ลดเวลาในการเทรนจากหลักเดือนเหลือเพียง 1-2 วัน หรือบางกรณีอาจจะลดได้ถึงหลักชั่วโมง

ในมุมของการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่เคยมีข้อจำกัดจากการใช้คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปในการเทรน AI ผ่าน Server ที่จำกัดข้อมูลในหลักกิ๊กกะไบท์ ในขณะที่เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์สามารถเก็บข้อมูลได้หลักร้อยเทราไบต์

ขณะเดียวกัน เมื่อก่อนนักวิจัยอาจจะแก้ปัญหาได้ขนาดเล็กด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด แต่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะช่วยเพิ่มโอกาสในการแก้ปัญหาได้ใหญ่ขึ้น ตัวอย่างเช่น การพยากรณ์สภาพอากาศที่ต้องอาศัยข้อมูลขนาดใหญ่ในการสร้างแบบจำลองคาดการณ์สภาพอากาศ จากที่เคยทำได้ในระดับจังหวัดก็สามารถขยายเป็นระดับประเทศได้ เป็นต้น

ดร.ปัถย์ อธิบายต่อว่า งานวิจัยอาจมีข้อจำกัดในเรื่องความซับซ้อนของโมเดล ถ้าพลังในการคำนวณไม่สูงมากพอ ก็ไม่สามารถทำโมเดลที่ซับซ้อนได้ แต่พอมีเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพเพียงพอในการทำโมเดลที่เป็น Stage of the art หรือ เอาโมเดลที่นักวิจัยระดับโลกพยายามทำกันอยู่มาพัฒนาต่อได้

LANTA มีพลังคำนวณสูงถึง 8.15 เพตาฟลอป หรือคำนวณได้ 8 พันล้านล้านครั้ง ภายใน 1 วินาที เรียกได้ว่ารองรับการทำงานของโมเดลที่นักวิจัยระดับโลกพยายามทำกันอยู่ได้ และยังใช้กับงานวิจัยทางด้าน AI ของไทยอยู่หลายตัว อย่างระบบปัญญาประดิษฐ์ภาษาไทย ที่น่าสนใจ และยังไม่มีใครทำ อีกทั้งยังตอบโจทย์งานวิจัยหลายด้านที่ต้องการพลังในการคำนวณไม่แพ้กัน


: ความหวังสร้างงานวิจัยฝีมือคนไทย

คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง เป็นโครงสร้างพื้นที่ฐานที่สามารถสนับสนุนงานวิจัยครบคลุมเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ เคมี วิศวกรรม รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI , Climate Monitoring , Wather forcast“ ดร.ชมพูนุช รุ่งนิ่ม NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC กล่าวและบอกว่า

ที่ผ่านมา สวทช. มีโครงการนำร่อง ThaiSC Pioneer Program เป็นโครงการที่สนับสนุนทรัพยากรให้กับนักวิจัยแนวหน้า 10 โครงการ ไม่ว่าจะเป็น ทางด้านงานวิจัยแนวหน้า ที่เป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนของประเทศ งานวิจัย AI ขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้ประสิทธิภาพจากเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดผลงานที่เป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคน

“เรามีงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์จากซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ในการค้นหารหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัส Covid-19  ตัวอย่างเช่น โครงการวิจัย CONI ที่ได้สืบสวนหารหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิดจากตัวอย่างดีเอ็นเอ โดยใช้เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ประมวลผลได้ผลที่เร็วกว่า Workstation ปกติ สามารถที่จะรู้ผลการกลายพันธุ์ และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนรับมือได้ รวมถึงส่งข้อมูลที่ได้ไปที่ฐานข้อมูลไวรัสทั่วโลก หรือ GISAID ทำให้เตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดได้ทัน” ดร.ชมพูนุช กล่าว

นอกจากนี้ สทวช. ยังมีความร่วมมือกรมควบคุมมลพิษ เพื่อใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงช่วยพยากรณ์ฝุ่น PM 2.5 ล่วงหน้าได้ 3 วัน ทำให้ทำงานในเชิงป้องกันได้เร็วขึ้น 15 เท่า ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพในการคำนวณ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รวดเร็ว

รวมถึงโครงการศึกษาการคงสภาพของศิลปวัฒนธรรม อย่างภาพจิตรกรรมฝาผนังเพื่อออกแบบการบูรณะ ซึ่งที่ผ่านมาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ได้เข้ามาช่วยสร้างแบบจำลอง 3 มิติ เพื่อดูว่าลักษณะการไหลของลม และความชื้น ช่วยวางแผนรักษามรดกของไทยได้ เช่นเดียวกับงานทางด้านวิศวกรรมที่ใช้ระบบ Similation Computer Engineering เข้ามาช่วยสร้างแบบจำลอง 3 มิติ ทางวิศวกรรมสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว

และในปีนี้ ThaiSC มีแผนที่จะให้บริการ LANTA กับผู้ที่สนใจอยากทดลองใช้งานซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วไม่เป็นรองใคร เพื่อประโยชน์สำหรับงานวิจัยในอนาคต ติดตามความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ thaisc.io