[เล็กที่สุด] แรงบันดาลใจจากผึ้ง ทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) เปิดตัวหุ่นยนต์จิ๋ว จิ๋วระดับมีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1 เซนติเมตร และหนักเพียง 21 มิลลิกรัมเท่านั้น พร้อมบินด้วยพลังงานจากสนามแม่เหล็ก ไม่ต้องพึ่งแบตฯ อนาคตใช้เป็นหุ่นสำรวจที่เข้าถึงสภาพแวดล้อมซับซ้อนได้มากขึ้น
การสร้างหุ่นยนต์บินให้มีขนาดเล็กได้นั้น ส่วนที่ยากต่อการย่อขนาดโดยไม่เพิ่มน้ำหนัก คงไม่พ้นแบตฯ และระบบควบคุมการบิน ซึ่งยังเป็นความท้าทายในปัจจุบัน แต่ไม่นานมานี้ได้มีทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ อย่าง Liwei Lin ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกล กับ Fanping Sui และ Wei Yue สองผู้เขียนร่วม ได้นำการเคลื่อนไหวของผึ้ง มาเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาหุ่นบินขนาดจิ๋ว ที่มีความคล่องตัวไม่แพ้กัน
“ผึ้งมีลักษณะการบินที่น่าทึ่ง”
Liwei Lin ได้กล่าวถึงการบินของผึ้ง โดยตั้งแต่การบินขึ้น การนำทาง และการผสมเกสร ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหุ่นยนต์ขนาดใกล้เคียงกันไหนทำได้ อย่างไรก็ตาม ทาง Lin และทีมได้พัฒนาหุ่นยนต์บินขนาดจิ๋วตัวหนึ่ง เผยมีน้ำหนักเพียง 21 มิลลิกรัม และมีขนาดเล็กกว่านิ้วคนมาก ๆ แต่สามารถควบคุมแบบไร้สาย และเลียนแบบกลไกการบินมาผสมเกสรของผึ้งได้เลย
แม้จะเลียนแบบกลไกการบินของผึ้ง แต่ตัวหุ่นยนต์ก็มีการออกแบบง่าย ๆ ตั้งแต่การทำให้รูปร่างมีลักษณะคล้ายใบพัดขนาดจิ๋ว และมีส่วนแม่เหล็กขนาดเล็ก 2 ชิ้น ซึ่งตอบสนองต่อสนามแม่เหล็กภายนอกนั้นเอง จนเมื่อสัมผัสกับสนามแม่เหล็ก ก็จะเกิดการดึงดูดและผลักกัน ทำให้ใบพัดหมุนและขึ้นบินได้นั้นเอง
“หุ่นยนต์บินขนาดเล็กมีประโยชน์ โดยเฉพาะการสำรวจโพรงขนาดเล็กและสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนอื่น ๆ” Fanping Sui กล่าว อย่างไรก็ตาม ตัวหุ่นยนต์ที่กำลังพัฒนาก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง
เช่น ตรวจสอบตำแหน่งหรือวิถีการบินแบบเรียลไทม์ได้ยาก และไม่ทนต่อแรงลม ซึ่งหากเจอลมกระโชกแรง ๆ ตัวหุ่นก็พร้อมหลุดเส้นทางทันที (หรือปลิวหาย) อีกทั้งยังต้องพึ่งพาสนามแม่เหล็กแรงสูง ซึ่งอาจต้องย่อขนาดให้เล็กลงกว่านี้ด้วย
ที่มา : Techspot