ไม่ง้อมาร์กเกอร์ คนไทยพัฒนาเอง ระบบจับการเคลื่อนไหว

เลียนแบบในหนัง นักวิจัยไทยนำแนวคิดเทคโนโลยีตรวจจับการเคลื่อนไหว Motion Capture มาพัฒนาต่อ สร้าง ระบบจับการเคลื่อนไหวมนุษย์แบบไร้มาร์กเกอร์ (Marker) ลดความยุ่งยาก หวังใช้เป็นเครื่องมือช่วยแพทย์ตรวจจับความผิดปกติของร่างกาย 

ผลงานนี้เป็นของ ดร.ประยุกต์ เจตสิกทัต นักวิจัยหลังปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง สิงคโปร์ ที่ได้สร้างภาพจำลองการเคลื่อนไหวมนุษย์แบบสามมิติโดยไม่ต้องสวมใส่อุปกรณ์เพื่อระบุตำแหน่งตามร่างกาย แต่อาศัยการออกแบบกระบวนการคำนวณเพื่อฝึกฝนให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ วิเคราะห์ภาพ และระบุตำแหน่งได้ว่าแต่ละจุดเป็นอวัยวะส่วนใดของร่างกาย จากนั้นระบบจะนำภาพไปใช้ประมวลผลบันทึกเป็นข้อมูล 3 มิติ ซึ่งช่วยลดเวลาและความยุ่งยากในการใช้งาน

เริ่มจากติดตั้งกล้องวิดีโอ ประมาณ 4-8 ตัว ในมุมต่าง ๆ เพื่อให้สามารถถ่ายภาพการเคลื่อนไหวของมนุษย์ให้ครอบคลุมทุกมุมมอง เมื่อกล้องวิดีโอแต่ละตัวบันทึกภาพการเคลื่อนไหวก็จะส่งข้อมูลไปที่คอมพิวเตอร์หลัก จากนั้นระบบจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งไปยังส่วนของ Machine Learning Inference เพื่อวิเคราะห์และระบุตำแหน่ง 2 มิติ ของมาร์กเกอร์แบบเสมือน และเมื่อได้ภาพ 2 มิติ ที่ระบุตำแหน่งถูกต้องจากหลาย ๆ มุมมอง ระบบจะนำไปสร้างเป็นตำแหน่ง 3 มิติ เพื่อบันทึกการเคลื่อนไหว

ตอนนี้ทีมวิจัยสามารถสร้างต้นแบบระบบจับการเคลื่อนไหวมนุษย์แบบไร้มาร์กเกอร์ได้สำเร็จ โดยศูนย์วิจัยวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics Research Center) ม.นันยาง โดยอยู่ระหว่างจดสิทธิบัตร และเตรียมนำไปประยุกต์ใช้งานทางการแพทย์ ใช้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงการแพทย์ โดยมีแผนนำไปใช้งานเบื้องต้นใน 3 ด้าน คือ

  1. ออร์โธพีดิกส์ เช่น การตรวจวิเคราะห์ผู้ที่มีภาวะความเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที 
  2. ตรวจประเมินสุขภาพ เช่น การตรวจจับความผิดปกติจากท่าทางการเดินในผู้สูงวัย เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคที่มาจากความเสื่อมของร่างกาย 
  3. ฟื้นฟูสมรรถภาพ ใช้สำหรับการวางแผนการออกกำลังกายหรือการทำกายภาพแก่ผู้ป่วย รวมทั้งใช้ติดตามประเมินผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำ  

ใครที่สนใจเทคโนโลยีนี้ ไปดูของจริงได้ที่งานประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2023 8-11 ส.ค. 66 ที่ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ภายในงานยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการ และนิทรรศการระดับนานาชาติเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงด้านวิศวกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่น่าสนใจอีกมากมาย รวมทั้งยังมีการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติด้วย

ดูรายละเอียดงาน i-CREATe 2023 ได้ที่ www.icreateasia.com

#TechhubUpdate #นวัตกรรม #MotionCapture #Nstda