ทำความรู้จัก Project Athena นิยามใหม่ของโน้ตบุ๊กบางเบาจาก Intel ที่ต้องเร็ว ต่อเน็ตไว แบตฯ อึด และฉลาด

ส่วนมากพวกเราต้องการโน้ตบุ๊กแบบไหน หากเอาตามความนิยมในปัจจุบัน ก็คงไม่พ้น Ultrabook หรือโน้ตบุ๊กบางเบาที่มีข้อดีสมกับชื่อโน้ตบุ๊ค เพราะพกพาสะดวก แบกสบาย แต่หากเบาอย่างเดียวก็ใช่ว่าจะดี บางรุ่นกลับมาพร้อมประสิทธิภาพที่เบาตามตัวเครื่อง หรือแบตฯ หมดไวจนสุดท้ายจนต้องหารีบปลั๊กไฟ

แต่ปัญหาคือ เพราะซื้อรุ่นราคาถูกเกินไปหรือเปล่า ? ก็เปล่า เพราะมีบางครั้งหลายคนจ่ายแพงมาก แต่กลับได้เครื่องที่ทำงานได้ไม่สมราคาซะงั้น เพราะเหตุนี้เอง ทาง Intel จึงชี้ทางสว่างใหม่ด้วยการรื้อฟื้นโปรเจค ‘ตรารับรอง’ อีกครั้ง (มีใครจำ Intel Centrio ได้ไหมเอย..) โดยมีชื่อรหัสชวนคุ้นหูว่า Project Athena ในบทความนี้ก็ขอพาทุกท่านมารู้จักกับโปรเจคใหม่นี้กัน ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนสามารถเลือกโน้ตบุ๊กที่ใช้สำหรับเราได้ง่ายขึ้น

Project Athena คือมาตรฐานโน้ตบุ๊กบางเบาสมัยใหม่ หรือจะเรียกว่าเป็นตรารับรองก็ว่าได้ โดยมีชื่อตรารับรองอย่างเป็นทางการว่า “Engineered for Mobile Performance” เป็นตรารับรองที่ทาง Intel กล้าการันตีด้วยตัวเองเลยว่า ‘ของดีจริง’ ผ่านการทดสอบเรียบร้อย หากมีตรานี้ติดอยู่ในโน้ตบุ๊กเครื่องไหน นั้นหมายความว่าโน้ตบุ๊กเครื่องนี้ผ่านการรับรองจาก Intel แล้วนั้นเอง ส่วนการรับรองนั้น ก็จะมี 4 ข้อใหญ่ ๆ ที่โน้ตบุ๊กที่มีตราดังกล่าวทำได้ตามนี้

1.ประสิทธิภาพเยี่ยม

หัวใจหลักของ Project Athena คือ ซีพียู 10th Gen Intel Core หรือ Intel Gen 10th ชิปประมวลผลสำหรับโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งจุดเด่นอย่างหนึ่งของ Intel Gen 10th คือ มาพร้อมการ์ดจอ Intel Iris Plus Graphics เป็นการ์ดจอ On-Board ประสิทธิภาพสูง ที่ช่วยให้โน้ตบุ๊กบางเบาสมัยใหม่ สามารถเล่นเกม ทำงานกราฟฟิกหรือตัดต่อวิดีโอได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนั้นคือตัวซีพียูเอง ที่มีการออกแบบให้สามารถตอบสนองได้ไว   ซึ่งไวในที่นี้คือ สามารถเปิดปิดโปรแกรมหลาย ๆ โปรแกรมได้รวดเร็ว โดยแทบไม่มีอาการค้างหรือหน่วงให้เห็นเลย และสามารถเข้าโหมดใช้งานหรือ Wake Up ได้ทันทีที่เปิดฝาเครื่องขึ้นมา ซึ่งก็ช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำงานได้ไม่สะดุด ไม่ต้องรอเปิดเครื่องหรือโปรแกรมนาน ๆ อีกต่อไป

สเปกขั้นต่ำของ​ Project​ Athena

  • ​ซีพียู​ Intel​ Gen​ 10 (หรือ​ Gen​ 8)​ Core i5 ขึ้นไป
  • แรม​ 8GB ขึ้นไป
  • SSD 256GB ขึ้นไป

2.แบตเตอรี่อยู่ทน

ทาง Intel ถึงกับกำหนดเลยว่า โน้ตบุ๊กบางเบาที่มีตรา Project Athena จะต้องมีแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ 9 ชั่วโมงขึ้นไป ระดับใกล้เคียงกับโน้ตบุ๊กเกรดใช้งานในองค์กรกันเลย

และต้องบอกตามตรงว่า ทาง Intel ชู (หรือขาย….) Intel Gen 10th แบบเต็มที่มาก คือระบุว่า นอกจากจะช่วยให้โน้ตบุ๊กบางเบามีประสิทธิภาพดีแล้ว ก็ยังทำให้ช่วยให้โน้ตบุ๊กบางเบามีแบตเตอรี่ที่อึดขึ้นด้วย โดยตัวซีพียูจะไม่กินพลังงานมากนัก นอกนั้นก็ขึ้นอยู่กับทางแบรนด์โน้ตบุ๊คแล้วว่า จะออกแบบตัวเครื่องยังไงให้ใช้งานแบตเตอรี่ได้นานตามเกณฑ์ นอกจากนี้ต้องมีช่อง Thunderbolt 3 เอาไว้รองรับชาร์จไวหรือต่อชาร์จกับ Power Bank สำหรับโน้ตบุ๊กได้

3.รูปแบบการใช้งานที่ตอบโจทย์

จุดเด่นของโน้ตบุ๊คบางเบาคือความบาง แต่ใน Project Athena บางอย่างเดียวไม่พอ โน้ตบุ๊กบางเบาที่มีตรารับรองนี้จะต้อง มีจอสัมผัสหรือสามารถพับ 360 องศาได้ ไม่ก็มีจอสัมผัสที่ 2 (แบบใน ZenBook Duo) อีกจุดหนึ่งคือต้องต่อเน็ตได้ไวและตลอดเวลา ต่อเน็ตได้ไวในที่นี้ เป็นเพราะความสามารถจากชิป Wi-Fi 6 ของ Intel ส่วนต่อเน็ตได้ตลอดเวลาคือมี LTE หรือช่องใส่ซิมนั่นเอง

และอย่างที่ทราบกันว่า สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่เราใช้กันอยู่มีซิม ซึ่งซิมก็ช่วยให้เราต่อเน็ตได้ตลอดเวลาจริง ๆ (ตราบใดที่จ่ายค่าบริการ) หากนำมาใส่ในโน้ตบุ๊กก็จะช่วยให้ต่อเน็ตได้ตลอดเวลา และปรับตัวได้เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตนั้นเอง

จุดนี้มีความรู้สึกว่า Intel จะแข่งกับทาง Qualcomm ที่ได้พัฒนาชิปประมวลผลสำหรับโน้ตบุ๊กเช่นกัน และยังช่วยให้เข้าถึง 4G หรือ 5G ได้ตลอดเวลา กับช่วยให้แบตฯ อึดขึ้นด้วย ซึ่งตัวซีพียู Intel Gen 10th นับว่ามาเหนือ และแข่งกับ Qualcomm ตรง ๆ เลย น่าสนใจว่าในอนาคตจะเป็นคู่แข่งกันต่อไปไหม หรืออาจจะพลิกล็อคมาจับมือพัฒนาโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ซะเลย (แอบฝัน เพราะคนได้ประโยชน์ก็คือเราไง)

4.ฉลาดด้วย AI

สุดท้ายนี้คือ โน้ตบุ๊กบางเบา Project Athena จะต้องสามารถรองรับฟีเจอร์ AI ได้ ซึ่งก็ได้ตัวซีพียู Intel Gen 10th ที่สามารถรองรับการประมวลผลฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับ AI ได้ดี ในงาน IFA Open House ก็ได้โชว์ตัวอย่างการใช้ AI ที่พัฒนาโดยชุดเครื่องมือ OpenVINO โดยโชว์การประมวลผลรูปภาพที่พอซูมเข้าภาพจะไม่ชัด พอมี AI ช่วย ก็สามารถปรับให้คมชัดได้ทันที

จุดนี้ไปดูด้วยตาตนเองแล้วต้องบอกเลยว่า โหดมาก คือมันประมวลผลได้ไวและชัดจริง น่าสนใจว่าต่อไปทางแบรนด์ผู้พัฒนาโน้ตบุ๊ก จะยัดฟีเจอร์ AI อะไรเข้ามาในโน้ตบุ๊กบางเบาที่มาพร้อมตรารับรอง Project Athena กันบ้าง

โน้ตบุ๊ก Project Athena ที่เปิดตัวแล้ว

รายชื่อแบรนด์โน้ตบุ๊กที่เข้าร่วม Project Athena

จริง ๆ ทาง Intel ได้เปิดตัว Project Athena มาพักหนึ่งแล้ว ส่วนในรอบล่าสุดนี้ นอกจากขยายละเอียดมากขึ้น ก็ยังเผยชื่อโน้ตบุ๊กที่มาพร้อม Project Athena หรือตรา Engineered for Mobile Performance ซึ่งก็มีด้วยกันทั้งหมดตามนี้

  • Acer : Swift 5 / Aspire 5 / TravelMate P6
  • ASUS : ZenBook Duo / UX463 / ZenBook 13,14,15 / ZenBook Flip 15 / AsusPro B9
  • Dell : Inspiron 7000 14″ / XPS 13 / XPS 13 7390 / Latitude 740
  • HP : Envy 13 Woodgrain / Pavilion 13 / Envy 15 x360
  • Lenovo : ThinkPad X1 Carbon

ทุกรุ่นจะมาพร้อม Intel Gen 10th ให้เลือกระหว่าง Core i5 และ Core i7 (มีบางรุ่นที่ยังใช้ Intel Gen 8th แต่ผ่านเกณฑ์ Project Athena พอดี) แต่ละรุ่นจะวางขายในวันที่ 4 กันยายนนี้เลย ยกเว้น Dell ที่ยังไม่มีกำหนด กับ HP ที่จะมาในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้แทน สำหรับบ้านเราคาดว่าช่วงเดือนกันยายน แต่จะกลางเดือนหรือสิ้นเดือนนั้น ก็รอลุ้นกันต่อไป

Project Athena เหมาะสำหรับใคร

เราคงได้ทราบรายละเอียดของ Project Athena กันแล้ว คำถามถัดมาคือ “มันเหมาะกับเราไหม” จากที่ดูในข้อมูล อาจเรียกได้ว่า โน้ตบุ๊กบางเบาที่มาพร้อม Project Athena คาดจะต้องเป็นโน้ตบุ๊กราคาอยู่พอควรแน่ ซึ่งแลกกับการใช้งานที่สุดสมฐานะโน้ตบุ๊กจริง ๆ โดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟเหมือนพวกเกมมิ่งโน้ตบุ๊กหรือเครื่อง Workstation ก็ใช้งานได้มีประสิทธิภาพ และแบตฯ อยู่ได้นาน จุดนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางแบรนด์โน้ตบุ๊กแล้วว่า จะเปิดตัวราคายังไงให้น่าสอย ในขณะที่มีมาตรฐาน Project Athena อยู่ด้วยครับ