น้อมรำลึก “พ่อหลวง” กษัตริย์แห่งเทคโนโลยี

19 ตุลาคม ของทุกปี  ถูกกำหนดให้เป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน และกิจกรรมเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” โดยมีการเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544

king-of-technology

19 ตุลาคม ของทุกปี  ถูกกำหนดให้เป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พุทธศักราช 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงอำนวยการการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลก ที่เขื่อนแก่งกระจาน ด้วยพระองค์เอง และสามารถบังคับให้ฝนตกลงตรงเป้าหมายได้ราวปาฏิหาริย์ บรรดาคณะผู้แทนของรัฐบาลสิงคโปร์ที่เข้าชมการสาธิตครั้งนั้น รวมทั้งพสกนิกรชาวไทยต่างพากันชื่นชมยินดีในพระปรีชาสามารถ

โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง โดยเทคโนโลยีฝนหลวง ที่ทรงทุ่มเทคิดค้นขึ้นมานี้ มิได้ยังประโยชน์ ต่อพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่าเท่านั้น แต่ยังเอื้อประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติทั่วไป ดังจะเห็นได้ว่า นับแต่ประเทศไทยได้จดทะเบียนกิจกรรมฝนหลวง กับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ เป็นครั้งแรก เมื่อพ.ศ. 2525 เทคโนโลยีฝนหลวง จึงได้ถูกเผยแพร่เข้าสู่การยอมรับ และถ่ายทอดตามคำร้องขอ ให้แก่สมาชิกที่มีกิจกรรมดัดแปรสภาพอากาศ ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก รวม 28 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ถ่ายทอดโดยตรงให้กับมิตรประเทศ ทั้งในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ และนอกกลุ่ม เช่น ประเทศศรีลังกา บังคลาเทศ ปากีสถาน โอมาน เป็นต้น รวมทั้งมีการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และข้อมูลระหว่างกันกับประเทศ สหรัฐ อเมริกา แคนนาดา ออสเตรเลีย อิตาลี ฝรั่งเศส และสาธารณรัฐประชาชนจีน จนกระทั่งกลุ่มประเทศอาเซียน และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ยกให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการดัดแปรสภาพอากาศ ในภูมิภาคเขตร้อน ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกจึงได้ ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ในฐานะที่ทรงพระปรีชาสามารถ และทรงเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิก ให้กิจกรรมดัดแปรสภาพอากาศ ให้เกิดฝนในภูมิภาคเขตร้อน มีความเป็นไปได้ และก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น รัฐบาลได้ตระหนักถึงพระปรีชาสามารถในทางเทคนิค จึงมีมติคณะรัฐมนตรี ถวายพระเกียรติให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2544 และมีมติเลือกวันที่ทรงสาธิต ปฏิบัติการฝนหลวง แก่นักวิทยาศาสตร์สิงค์โปร์ จากเขื่อนแก่งกระจาน โดยใช้สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นฐานปฏิบัติการ จนประสบความสำเร็จ เป็นที่อัศจรรย์ และประจักษ์ในพระปรีชาสามารถ ต่อนักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ และผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันนั้น เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ให้เป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เทียบเท่าวันที่รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร สุริยุปราคา ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์