รีวิว : ASUS ROG STRIX Hero III จอ 240Hz พร้อมขุมพลัง RTX2070 และ RGB จัดเต็ม ในราคาที่โคตรคุ้ม

ก่อนหน้านี้ทาง Asus เคยกล่าวไว้ว่า “จะเปิดตัวกลุ่มเกมมิ่งโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ ที่จะมาปฏิวัติวงการเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก” และในวันเปิดตัว…. คุณทำสำเร็จแล้วครับ !!

ห่างหายไปนานทีเดียว สำหรับรีวิวเกมมิ่งโน้ตบุ๊กใน AripFan รอบนี้ผมได้เจ้า ASUS ROG STRIX Hero III มารีวิว ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเกมมิ่งโน้ตบุ๊กประจำปี 2019 ที่ทาง Asus ได้เปิดตัวไป และเป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่จากตระกูล ROG Strix Hero ที่พลิกโฉมแบบหมดจด เล่นเอาลืมรุ่นก่อนหน้าไปเลย เพราะครั้งนี้ทาง Asus ได้เชิญทีม BMW Designworks Group มาช่วยออกแบบตัวเครื่องให้ด้วย พร้อมอัดสเปกใหม่ที่โหดกว่าเดิม เพิ่มฟีเจอร์และอัดแสงสี RGB ให้อ้วกเป็นสีรุ้งกันไปข้าง สุดท้ายราคาที่เรียกได้ว่า สวนทางกับค่ายคู่แข่งโดยสิ้นเชิง !!

ปล. รีวิวนี้มาจากความ Hype ส่วนตัวล้วน ๆ นะฮะ

สเปก ASUS ROG STRIX Hero III 

Display : ขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920×1080) 240Hz Anti-Glare Panel และ 75% NTSC
CPU : Intel Core i7-9750H 2.60 GHz 6 Cores 12 Threads (up to 4.5GHz) 12MB cache
VGA : NVIDIA GeForce RTX 2070 8GB GDDR6 VRAM
RAM : 8 GB DDR4 2666MHz
SSD : 512GB​ PCIe SSD
Wireless : Intel 802.11ac (2×2) Gigabit Wi-Fi Bluetooth : 5.0
Port : USB Type-A 3.1 (Gen 1) x 3, USB Type-C USB 3.1 (Gen 2) x 1, HDMI 2.0 x 1, RJ45 LAN x 1, Combo audio jack x 1 และ DC-in
Battery : 4 -Cell 66 Wh
Weight : 2.57 kg
Color : Black
OS : Windows 10 Home

แกะกล่อง

หลังได้เครื่องมารีวิว สิ่งแรกที่ผมทำคือ…..

หลังระเบิดกล่อง เอ้ย แกะกล่องเสร็จ ตามธรรมเนียมต่อมาคือ เช็คอุปกรณ์ภายในกล่อง ซึ่งก็ประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง ASUS ROG STRIX Hero III กับชุดไฟเลี้ยงและชุดคู่มือ สุดท้ายคือ

ROG Keystone เป็นไอเทมที่จะช่วยให้เราใช้งานตัว ASUS ROG STRIX Hero III ได้สนุกขึ้น ซึ่งสนุกยังไงนั้น รอติดตามกันครับ

วัดสุและดีไซน์

อย่างที่เกริ่นไป ตัว ASUS ROG STRIX Hero III ได้ทางทีมงาน BMW Designworks Group มาช่วยออกแบบ ซึ่งก็ดูจากส่วนระบายความร้อนตรงบานพับจะเห็นเลยว่า มีการออกแบบลวดลายคล้ายกับ Cylinder block หรือเสื้อสูบของรถมอร์ไซค์ BMW ซึ่งนอกจากจะสวยแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อนด้วย โดยมีการออกแบบที่เรียกว่า 3D Flow Zone ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ นำความร้อนออกจากภายในตัวเครื่องได้รวดเร็วที่สุด และช่วยให้ผิวสัมผัสบนตัวเครื่องยามใช้งาน (ตรงแป้นพิมพ์นั้นแล) มีอุณหภูมิไม่สูงกว่า 40C (ทดสอบที่อุณหภูมิห้อง 25C) ง่าย ๆ คือ เวลาเราเล่นเกมอยู่ ตัวเครื่องจะไม่ร้อนจนลวกมือเราแน่นอน

ขอบด้านหลังตัวเครื่อง ก็จะมีพอร์ตเชื่อมต่อไฟเลี้ยง, LAN, HDMI และ USB Type-C

ส่วนพอร์ตที่เหลือก็มี USB Type-A 3.1 อีก 3 ช่อง ซึ่งจะไปกระจุกอยู่ฝั่งซ้ายของตัวเครื่อง ในขณะที่อีกฝั่งจะมีแค่ช่องระบายความร้อนกับช่องใส่ ROG Keystone เท่านั้น

ตัวเครื่องหนา 26.2 มิลลิเมตร และหนัก 2.57 กิโลกรัม ก็ตามสไลต์เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก แต่ถึงอย่างนั้นตัวเครื่องมาพร้อมสเปกระดับ I7-9750H + RTX2070 ซึ่งถ้าเป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊กรุ่นอื่นมีสเปกขนาดนี้ น้ำหนักปาเข้าไป 3 กิโลกรัม กว่า ๆ แน่นอน และจะหนายิ่งกว่านี้ แต่ตัว ASUS ROG STRIX Hero III ได้สเปกนี้ ความหนากับน้ำหนักประมาณนี้ ถือว่าบางแล้วครับ

ใต้เครื่องก็จะเห็นขอบไฟ RGB วางอยู๋รอบ ๆ ตัวเครื่อง (ยกเว้นส่วนบริเวณบานพับ) หากสังเกตดี ๆ จะเห็นตัวอักษร ROG ลาง ๆ ด้วย

มาพูดเรื่องระบบระบายความร้อนต่ออีกนิด ภายในตัวเครื่องมีระบบกำจัดฝุ่น Anti-Dust Cooling ด้วย และมีระบบระบายความร้อนอัจฉริยะ ROG Intelligent Cooling ที่ทำงานร่วม 3D Flow Zone ด้วยพัดลมคู่ ซึ่งมีความเร็วรอบสูงถึง 12V มี 83 ใบพัด ช่วยเปาลมร้อนจากท่อ Heat Pipe จำนวน 5 ท่อ แผ่น Copper Plate ที่ครอบทับบริเวณชิ้นส่วนที่จะเกิดความร้อนทั้งหมด และครีบทองแดงบน Heat sink ที่บางพิเศษเพียง 0.1 มิลลิเมตร รวมไปถึงระบบกำจัดฝุ่น Anti-Dust Cooling ด้วย ช่วยให้ใช้งานตัวเครื่องได้ด้วยความเสถียรอย่างต่อเนื่อง

เมื่อกางฝาพับหรือหน้าจอตัวเครื่องขึ้นมา พร้อมกดปุ่ม Power สิ่งแรกที่เราจะได้เจอคือ “ชิ้งงง” เสียงฟันดาบลั่นขึ้นมาอย่างดัง ดังนั้นใครที่กำลังแอบพ่อแม่ (หรือคุณแฟน) เปิดเครื่องเพื่อเล่นเกม ก็ระวัง ๆ หน่อยนะฮะ : b

หน้าจอตัวเครื่องก็กางได้สุดประมาณนี้ (ตามภาพ) ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก

โดยรวมตัวเครื่องถือว่าออกแบบได้สมกับที่เป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊กจริง ๆ ด้านวัสดุเป็นอลูมิเนียมผิวปัดเสี้ยนตามสไตล์ Asus และมาในสีดำล้วนเช่นเคย แต่ถ้าหากเทียบกับ ROG STRIX Hero II รุ่นก่อนหน้า ก็มีจุดที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปเยอะมาก ๆ อย่างช่องระบายความร้อนที่เปลี่ยนใหม่ยกชุด และไฟ RGB ที่เพิ่มรอบตัวเครื่อง

การใช้งาน

ดีไซน์กับสเปก (และ RGB..) จัดเต็มขนาดนี้ ผมไม่เอามาเล่น Facebook หรือเปิด MS Word โชว์แน่นอน

สำหรับหน้าจอของ ASUS ROG STRIX Hero III ก็มาพร้อมขนาด 15.6 นิ้ว Full HD และดีไซน์ขอบบางแบบ NanoEdge เหมือนพวกตระกูล ZenBook แต่ยกเว้นขอบล่างที่ยังหน้าอยู่ และไม่มีกล้อง WebCam โดยเป็นจอ IPS แบบ Anti-Glare ซึ่งให้ภาพได้สวยคมทีเดียว โดยมีสเปก sRGB 100% (color space) กันเลย

จุดที่เป็นไม้ตายของตัวเครื่องเลยคือ Refresh Rate ระดับ 240Hz พร้อม Response Time 3 ms ช่วยเพิ่มความลื่นไหลของภาพได้แบบสุด ๆ จุดนี้อย่างให้ทุกคนได้ไปดูด้วยตาตัวเองจริง ๆ โดยเฉพาะใครที่ใช้หน้าจอ 60Hz มาตลอดชีวิต (เช่นผม T T) จะรู้สึกเลยว่ามันลื่นไหลตั้งแต่ภาพโลโก้ ROG ที่โผล่ขึ้นตอนเปิดเครื่อง กับตอนขยับเมาส์ครั้งแรก

ด้านคีย์บอร์ด ก็มาพร้อมไฟ RGB แบบ Illuminated chiclet ปุ่มลึก (ไม่ทราบ key travel) กดมันนิ้วพอควร

ส่วนปุ่ม NumPad ก็ย้ายไปอยู่ตรง Touch Pad แทน ซึ่งเราสามารถกดเปิดปิดการใช้งานได้ตลอดจากปุ่ม Num LK แบบสัมผัส (กดค้าง 1 วินาที) อย่างไรก็ตาม หากเราใช้ NumPad อยู่ เราจะไม่สามารถเลื่อนลูกศรเมาส์ผ่าน Touch Pad นี้ได้ชั่วคราว

และแล้วก็มาถึง ROG Keystone มันคือกุญแจ NFC ที่จะช่วยทำหน้าที่คล้ายตลับเซฟ (ฮั่นแน่ รู้จักใช่ไหม ฮ่า ฮ่า) โดยจะคอยบันทึกข้อมูลการตั้งค่าโปรไฟล์ในโปรแกรม Armoury Crate ของ Asus อาทิ ไฟ RGB, รอบพัดลม, หน้าจอ, Touch Pad ซึ่งเราสามารถบันทึกในตัวโปรแกรมก็ได้ แต่มันไม่เท่ !! คือแบบ ลองนึกภาพตอนที่เรากำลังจะเล่นเกมโปรด แล้วต้องการปรับรอบพัดลมให้สุดไปเลย และขอจังหวะไฟ RGB แบบนี้ กดควักเอาเจ้า ROG Keystone พร้อมตะโกน “Bankai !!” จากนั้นก็เสียบไปที่ช่องของมัน (ตอนเสียบตัว ROG Keystone เข้าไป มันจะมีไฟเอฟเฟคขึ้นมาด้วย)…..ถ้าอยู่ในที่สาธารณะ ก็ขอให้โชคดีครับ

และอีกฟีเจอร์ Shadow Drive ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นฟีเจอร์ลับของตัว ROG Keystone คือมันสามารถเรียก Folder ลับที่ปกติจะไม่ปรากฏในเครื่องออกมาได้ โดยเราสามารถโยน “ข้อมูลลับ ( ͡° ͜ʖ ͡°)” ใน Folder นี้ และหากถอด ROG Keystone ออก ตัว Folder ก็จะหายไปทันที จะกว่าเราจะเสียบ ROG Keystone เข้าไปใหม่

RGB

ถึงกับต้องแยกหัวข้อต่างหาก นอกจากหน้าจอ 240Hz กับ ROG Keystone แล้ว ก็มี Surrounded Light Bar เป็นไฟ RGB รอบตัวเครื่องที่ต้องบอกเลยว่า “โคตรสวย”

และแน่นอนว่าเราสามารถปรับแต่งแสงไฟได้ตามสไตล์ผ่านฟีเจอร์ Aura Sync ในโปรแกรม Armoury Crate ได้เช่นกัน

Surrounded Light Bar ยามปกติกับตอนใช้งาน

ไฟ RGB บนคียบอร์ดก็สามารถปรับแต่งได้เช่นกัน

ประสิทธิภาพ

สำหรับขุมพลังของ ASUS ROG STRIX Hero III ก็ขับเคลื่อนด้วยซีพียู I7-9750H กับการ์ดจอ RTX2070 8GB GDDR6 และแรม 8GB DDR4 2666MHz มาดูกันว่าทั้ง 3 อย่างนี้ จะช่วยดันประสิทธิแก่ตัวเครื่องได้ขนาดไหน

ก่อนจะไปลุยการเทสประสิทธิภาพและเกมมิ่ง ตรงนี้ผมได้ปรับโหมดการทำงานใน Armoury Crate ให้เป็นเกมมิ่งโหมด หรือ Overclock แบบจัดเต็มก่อน โดยตัวการ์ดจอ RTX2070 จะมีฟีเจอร์ ROG Boost ซึ่งเมื่อเราปรับโหมดการทำงานของพัดลมเป็น Turbo ตัวเครื่องก็จะทำการเพิ่ม Clock Speed ให้สูงขึ้นกว่าเดิม 7% (1540MHz) ช่วยให้เล่นเกมได้ไหลลื่นขึ้น Ray Tracing มาเต็มก็ไม่หวั่น ส่วนเรื่องความร้อนก็ฝากให้ ROG Intelligent Cooling + 3D Flow Zone จัดการ ซึ่งจะระบายความร้อนได้ขนาดไหน รอดูกันครับ

รายละเอียดสเปกซีพียู I7-9750H กับการ์ดจอ RTX2070

ประเดิมด้วย Cinebench R20 เทสความแรงของซีพียูก่อนเลย โดยหากประมวลผลแบบ Muti-Core ก็ได้คะแนนไป 2697 cb แรง ๆ เลยครับ ส่วน Core เดียวได้ 432 cb

ผลเทสประสิทธิภาพแรมจาก AIDA64 ก็แรงตามสเปก DDR4 ความเร็ว 2600 MHz แต่ก็ขอแนะนำสำหรับใครที่ซื้อมาแล้ว ให้อัพเกรดแรมเป็น 16GB ไปเลย เพราะเดี๋ยวนี้แรม 8GB เริ่มไม่พอสำหรับเกมบางเกมแล้ว และการใช้งานโดยรวมในอนาคตด้วย

เทสความเร็วอ่านเขียน SSD 512GB แบบ M.2 PCIe จาก Intel ก็ได้ความเร็วระดับ 1,677 MB/s สำหรับ Read และ 914 MB/s สำหรับ Write เอาตรง ๆ ถือว่าน้อยสำหรับเกมมิ่งโน้ตบุ๊กราคาระดับนี้ ตรงนี้เราสามารถอัพเกรด SSD หรือ HDD แบบ 2.5” SATA เพิ่มอีกได้ 1 ลูก ใครอยากทำ RAID เพื่อเพิ่มความเร็ว หรือเอา NVMe เทพ ๆ มาใส่แทนตัวเก่าก็ได้ครับ

มาถึงประสิทธิการระบายความร้อนแล้ว ลองใช้งานเครื่องจนสุดแล้ววัดด้วย HWMonitor ความร้อนสูงสุดคือ 97 องศา โดยเฉลี่ย 94 องศา สำหรับซีพียู มีเหงื่อตกเหมือนกัน ส่วนการ์ดจอมีความร้อนสูงสุดอยู่ที่ 74 องศา โดยเฉลี่ย 73 องศา อันนี้ค่อยโอเคหน่อย

เทส Time Spy ได้ 6,972 Port Royal ได้ 4,308 และ Night Raid ได้ 28,815

เทส Fire Strike ได้ 16,187 Fire Strike Extreme ได้ 8,610 และ Fire Strike Ultra ได้ 4,508 แรง ๆ เลยครับ โดยเฉพาะถ้ารันที่ความละเอียด 1080p หรือ Full HD คือลื่น ๆ เลยครับ

ปิดท้ายด้วย PC Mark 10 ก็ได้ไป 5,342

เกมมิ่ง

มาถึงส่วนเกมมิ่งที่หลาย ๆ คนรอคอยแล้ว สำหรับการเทสครั้ง ก็มีด้วยกัน 5 เกม อาทิ ปรับสุดทุกเกม PUBG, Apex Legends, The Division 2, The Witcher 3 และ Devil May Cry 5 ส่วนผลเทสก็ได้ตามนี้

PUBG = Avg: 87.392 – Min: 52 – Max: 125

Apex Legends = Avg: 81 – Min: 65 – Max: 112

The Division 2 = Avg: 68 – Min: 51 – Max: 79

The Witcher 3 = Avg: 73 – Min: 68 – Max: 83

Devil May Cry 5 = Avg: 75 – Min: 64 – Max: 81

สรุป

ASUS ROG Strix Hero III หรือชื่อเต็มว่า ASUS ROG Strix Hero III G531GW-AZ201T อาจได้พูดเลยว่า มีแทบทุกอย่างที่เกมเมอร์อยากได้ (ขาดปุ่ม Mechanical : b) คือมันสุดหลาย ๆ ด้านจริง ๆ อย่างดีไซน์ที่ออกแบบมาได้สวยทีเดียว ให้กลิ่นความเป็นเกมมิ่งเต็มสูบ แต่ขณะเดียวกันก็แอบแฝงความหรูหรามาระดับหนึ่งด้วย

หน้าจอ 240Hz ลื่นไหลได้โล่ ซึ่งจำเป็นไม่น้อยสำหรับการเล่นเกม และ ROG Strix Hero III ก็มีมาให้ ระบบไฟ RGB คือถ้าอีกหน่อยมันลามมาหน้าจอด้วย ผมว่ามีเสพติดไฟ RGB เข้าสักวันแน่ ๆ ฮ่า ฮ่า ส่วนคีย์บอร์ดกับ Touch Pad คีย์บอร์ดคือดีงามแล้ว แต่ Touch Pad ส่วนตัวคิดว่ามันยังเล็กไปนิด และติดตรงที่หากเป็นปุุ่ม NumPad ไว้ เราจะใช้งานเมาส์ผ่าน Touch Pad ไม่ได้เลย จนกว่าจะปิด NumPad

ด้านสเปก สำหรับสเปกต้องบอกก่อนว่า การ์ดจอ RTX2070 ในตัว ROG Strix Hero III นี้ อาจแรงสู้ RTX2070 ฝั่ง Desktop PC ไม่ได้ แต่ทาง Asus มี ROG Boost มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ก็เลยพอเทียบเคียงได้ และแน่นอนว่ามันคือ RTX2070 + I7-9750H เล่นเกมระดับ AAA หรือเกมกินสเปกอื่น ๆ ได้สบาย แม้ปรับสุดแค่ไหน ยังไงก็ได้ 60 fps ขึ้นไปแน่นอน

ส่วนด้านระบายความร้อน เอาวัดจากที่ลองเล่นเกมแบบต่อเนื่องนานกว่า 4-5 ชั่วโมง ตลอดที่เล่นมานาน ๆ นั้น ตัวเครื่องไม่เกิดปัญหา fps ตก จอฟ้า หรืออื่น ๆ อะไรเลย คือเล่นได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีปัญหาอะไร แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

สุดท้ายนี้ราคาของ ASUS ROG Strix Hero III G531GW-AZ201T ก็สนนอยู่ที่ราคา 59,990 บาท (เริ่มต้น 49,990 บาท ได้ RTX2060) ในราคานี้ กับสเปกนี้ ถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ ขาดแค่แรมที่ให้มาเพียง 8GB เท่านั้น