รีวิว : Linksys Velop ขยาย Wi-Fi แบบ Tri-Band ให้ทั่วบ้าน อินเทอร์เน็ตเต็ม 100%

สำหรับรีวิวนี้ จริง ๆ ผมได้ตัวเครื่องมาเทสไว้นานมาก ๆ แล้ว แต่เนื่องด้วยภารกิจที่ช่วงนี้รัดตัวแบบสุด ๆ ทำให้ผมเผลอดองรีวิวตัวเครื่องจนลืม… กระทั่งหลังรีวิวตัว Mesh Wi-Fi ไป 2 เครื่องล่าสุดเสร็จ ก็เพิ่งนึกออกว่า “เราเคยเทสเราเตอร์ Mesh Wi-Fi รุ่นที่ แพงที่สุด ไปนี้หนา ลืมไปได้ไงงงง” สุดท้ายก็ออกมาเป็นรีวิวที่ทุกท่านกำลังอ่านนี้เองครับ

อย่างที่เกริ่นไป Linksys Velop จัดเป็น Mesh Wi-Fi รุ่นที่มีราคาสูงที่สุดเท่าที่เคยรีวิวมาเลย ส่วนดีที่สุดไหม ? ก็บอกเลยไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม Linksys Velop ทั้ง 3 เครื่องในที่นี้ แต่ละตัวคือเราเตอร์ระดับ AC2200 พร้อม Tri-Band ที่สามารถกระจายสัญญาณ Wi-Fi ได้ถึง 3 คลื่นความถี่อาทิ 2.4Ghz (400 Mbps) + 5GHz + 5GHz (867 Mbps) และยังมีเสาสัญญาณในตัวถึง 6 เสา เรียกได้ว่าแค่ Velop ตัวเดียว ก็เป็นเราเตอร์ Wi-Fi ระดับ Hi-End ตัวหนึ่งแล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มันจะมีราคาสูงใช่เล่น เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ๆ แต่จะดีงามสมราคาไหม ลองมาดูกันครับ

รายละเอียดสเปก Linksys Velop

  • Wi-Fi Technology : Tri-Band AC2200 (867 + 867 + 400 Mbps)‡ with MU-MIMO and 256 QAM
  • Key Features : Simultaneous Tri-Band Wi-Fi Mesh System, Seamless Wi-Fi, Easy App Controls, 3-Year Warranty and Support, AutoFix & Instant Alerts
  • Network Standards : 802.11b/802.11a /802.11g/802.11n/802.11ac
  • Wi-Fi Bands : Simultaneous Tri-Band (2.4Ghz + 5GHz + 5GHz)
  • Number of Ethernet Ports : 2x WAN/LAN auto-sensing Gigabit Ethernet ports
  • Antennas : 6x internal antennas and high powered amplifiers
  • Processor : 716 MHz Quad Core
  • Memory : 4 GB Flash and 512 MB RAM
  • Wireless Encryption : WPA2 personal
  • Easy Setup : Simple and secured App based set-up
  • Required for set-up : Internet connection with Modem. Mobile device with Android 4.4 or iOS 9 and higher, Bluetooth preferred.
  • Dimensions (LxWxH) : 3.1″ x 3.1″ x 7.3″ per Node
  • Security Features : WPA2 personal
  • Additional Information : Bluetooth 4.0/LE for secure and easy App based set-up
  • Beamforming : for 2.4 GHz and 5GHz bands

แกะกล่อง

แค่กล่อง Package ก็สวยงามหรูหราจนไม่อยากเอาทิ้งแล้ว โดยเป็นกล่องกระดาษอย่างดี แข็งแรงทนทานมาก สมฐานะตัวเครื่องที่มีราคาจริง ๆ ส่วนลวดลายบนกล่องชวนสะดุดตานี้ ก็มีเฉพาะในซีรีย์ Velop เท่านั้น ให้รู้ไปเลยว่า Mesh Wi-Fi ของ Linksys นั้น คือของพรีเมี่ยม !!

ส่วนอุปกรณ์ภายในกล่อง ก็ประกอบไปด้วย Linksys Velop x 3 , ชุดไฟเลี้ยงพร้อมหัวแปลงเต้าเสียบ x 3 สาย LAN x 1 สติ๊กเกอร์ Velop Wi-Fi x 1 และชุดคู่มือหนึ่งชุด

หน้าตาหัวแปลงเต้าเสียบต่าง ๆ กับ Adapter ไฟเลี้ยงที่มีขนาดใหญ่พอ ๆ กับ Adapter ไฟเลี้ยงของ Ultrabook รุ่นหนึ่งเลย

วัสดุและดีไซน์

ตอนหยิบตัวเครื่องออกจากกล่อง สัมผัสแรกที่พบคือ ‘ความทนทาน’ คือเหมือนเอาพลาสติกอย่างดี มาหุ้มหลาย ๆ ชั้นจนหนา ชนิดเอาไปเขวี้ยงแบบเต็มแรงก็คงไม่เกิดรอยอะไรแน่ ๆ ทั้งนี้ตัวเครื่องยังมีน้ำหนักพอควร เมื่อเทียบกับรุ่นอื่นที่เคยรีวิวมา เรียกรวม ๆ เลยคือ วัสดุพรีเมี่ยมมากกก ให้คะแนน 10/10 เลยครับ ส่วนดีไซน์ก็มาในทรงสูง ผิดกับรุ่นอื่น ๆ เช่นกัน ซึ่งส่วนมากมักมาในทรงแบน ๆ เล็ก ๆ แต่นี้เป็นตึกมาเลย จะสวยก็ว่าสวย แต่สำหรับบางคนคงคิดว่ามันดูแปลกตาไปนิด

ตัวเครื่องทรงสูงได้ใจ

ขนาดตัวเครื่อง Linksys Velop เมื่อเทียบกับมือคน ทั้งนี้ภายในตัวเครื่อง มีเสาสัญญาณภายในถึง 6 เสา อัดอยู่ภายในทรงกระบอกนี้

**ตอนเทสเครื่องไปได้ซักพัก ตัวเครื่องร้อนจี๋เลยครับ ไม่แปลกใจเลยที่ถึงทำช่องระบายความร้อนเต็มแผงขนาดนี้**

เห็นความหนาของมันไหมครับ เมื่อมองจากมุมใต้เครื่อง ภายในก็มีพอร์ต LAN หรือ Ethernet/WAN x 2 ช่องด้วยกัน และมีช่องต่อไฟเลี้ยง ปุ่ม Power และปุ่ม Reset พร้อมสรรพ ซึ่งทั้งหมดก็มาซ่อนอยู่ตรงนี้เอง

และตามสไตล์เราเตอร์ Wi-Fi แบบ Mesh มีไฟ LED แค่จุดเดียวพอ ‘ไม่ใช้เยอะ เปลืองไฟ’

Linksys Velop ในมุมมองต่าง ๆ (มีสีดำด้วยนะ สวยมากกก ) อนึ่งเวลานำเครื่องไปวาง ไม่ควรวางตัวเครื่องเป็นแนวนอนนะ ถามทาง Linksys แล้ว

สำหรับรอยแหว่งตรงขอบเครื่อง ก็เป็นจุดเอาไว้สำหรับรอยสายไฟกับสาย LAN ต่าง ๆ นี้เอง

การใช้งาน

สำหรับการตั้งค่าครั้งแรก ก็เอาตัว Linksys Velop ไปต่อกับ Modem ประจำบ้านตามสเต็ป จากนั้นก็เอาสมาร์ทโฟนมาเชื่อมต่อ Wi-Fi ของตัวเครื่อง และเปิดแอพฯ Linksys ขึ้นมา ก็จะเห็นหน้าตั้งค่าตัว Linksys Velop ที่แยกรุ่นต่างหากชัดเจน

สำหรับหน้าตา UI ตอนตั้งค่าผ่านแอพฯ ด้านความสวยงามก็ยังต้องยกให้ทาง Linksys จริง ๆ ตีคู่มากับ TP-Link ที่เดี๋ยวนี้ทำ UI สวยและใช้งานง่ายไม่แพ้กัน ในส่วนการตั้งค่าครั้งแรก หน้าแอพฯ ก็มีบอกขึ้นตอนพร้อมภาพประกอบชัดเจน เรียกได้ว่าเหมือนจับมือเราทำยังไงยังงั้น

หลังตั้งค่าตัวแรกเสร็จ สำหรับวิธีเพิ่ม Linksys Velop อีก 2 ตัวให้เข้ามาในระบบ ส่วนนี้ต้องขอบ่นหน่อย คือเวลากดเพิ่มหรือ Add ตัวเครื่องนั้น กลับใช้เวลาพอควร ไม่ใช่ตั้งค่ายาก แต่ใช้เวลาตอน Load ค่อนข้างนาน ทำให้เสียเวลาในส่วนนี้ไม่น้อย

ฟีเจอร์เด่นของ Linksys Velop ก็มี Beamforming ยิงสัญญาณไปที่เครื่องที่เชื่อมต่อตรง ๆ ไม่ใช่กระจายเป็นวงกว้างไป, Tri-Band 3 คลื่นความถี่, Seamless Wi-Fi หรือ Seamless Roaming ให้ใช้งาน Wi-Fi โดยไม่สะดุด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน และสุดท้าย AutoFix & Instant Alerts

ไม่แน่ใจว่าใช่ชื่อนี้ไหม แต่คิดว่าคงเป็นฟีเจอร์ตามภาพ ที่สมมุติหากตัว Velop เกิดมีปัญหาตัวหนึ่ง มันจะไม่ตัดสัญญาณจนหลุดไปเลย แต่จะทำการเชื่อมต่อกับเครื่องที่อยู่ห่างออกไปโดยอัตโนมัติทันทีแทน (ในกรณีที่เราไม่ตั้งตัวเครื่องทั้ง 3 แบบห่างกันมากนะ) ทำให้ยังคงใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ต่อเนื่อง จากนั้นตัวเครื่องก็จะแจ้งปัญหามาที่แอพฯ หรือหน้าตั้งค่าภายหลัง

ประสิทธิภาพ

จากในเว็บ Linksys เอง มีการระบุเลยว่าตัว Linksys Velop เพียงเครื่องเดียว ก็สามารถกระจายสัญญาณได้ถึง 2,000 ตารางฟุต หากนำมาต่อทั้ง 3 เครื่อง ก็กระจายสัญญาณได้ระดับ 6,000 ตารางฟุต 

และในรีวิวนี้ ผมก็ได้ลองตั้งตัวเครื่อง Velop ไว้ 3 จุดภายในบ้าน ตามภาพเลยครับ

เทสความแรง Wi-Fi ด้วยแอพฯ Wi-Fi Analyzer ตัว Velop นำโด่ง เมื่อเทียบกับ Linksys EA8300 และ Modem (True) ประจำบ้าน ที่ตั้งอยู่ใกล้กัน และไม่ว่าจะอยู่จุดไหนในบ้าน ก็ยังได้ผลลัพธ์ตามนี้ ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 2.4 GHz หรือ 5 GHz ก็ตาม โหดมากครับ

อย่างที่เกริ่นในตอนแรก ผมดองรีวิว Linksys Velop ไว้นานมาก ตอนนั้นยังใช้เน็ต 30/10 Mbps อยู่ ทำให้ผลเทสไม่ได้ออกมาเป็น 100/10 Mbps แบบที่เห็นในเราเตอร์ Wi-Fi ที่เคยรีวิวก่อนหน้า แต่ความเร็วที่ได้ในตอนนั้น ก็เกิน 30/10 Mbps ไปเรียบร้อย สัญญาณก็แรงและเสถียรมาก ๆ น่าเสียดายที่ได้ไม่ลองเทสตอนเปลี่ยนมาใช้เน็ต 100/10 Mbps ในปัจจุบัน

สรุป

ถือว่าไม่ผิดหวัง สำหรับ Linksys Velop ที่ได้ชื่อว่าเป็น Mesh Wi-Fi ที่มีราคามากที่สุด จากที่เคยรีวิวมา ทว่าด้วยสเปกของ Velop นั้น ต้องบอกเลยว่าแค่ตัวเดียว ก็จัดเป็นเราเตอร์ Wi-Fi ระดับ Top ระดับ Hi-End อย่างแท้จริงแล้ว ไหนจะมี Tri-Band ความเร็ว AC2200 มีซีพียู 4 Core เสาสัญญาณ 6 ต้นในตัวเดียว และสุดท้ายวัสดุที่พรีเมี่ยมได้ใจมาก ๆ เมื่อมี 3 ตัว ก็คูณความโหดไปอีก 3 เท่า สรุปคือใครที่มีครอบครัวอยู่กันหลายคน และแต่ละคนใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบเต็มสูบทุกคน ก็สมควรจัดชุด Velop เอาไว้เลย หากแต่คนที่บ้านหรือเราไม่ได้ Hardcore ขนาดนั้น ก็คงต้องดูตัวเลือกอื่นแทน เนื่องจากค่าตัวของ Linksys Velop รวม 3 เครื่องแล้ว สนนอยู่ที่ 17,900 บาท หนึ่งเครื่องก็อยู่ที่ 7,900 บาท จัดว่าแพงเอาเรื่อง แต่ประสิทธิภาพมันสุดจริงครับ