‘แพทย์แผนไทย’ มทร.ธัญบุรี ช่วย 6 จังหวัดนำร่อง พัฒนาสมุนไพรท้องถิ่น สู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์

วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี นำสมุนไพรท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ 6 จังหวัดนำร่อง พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ที่มีความเป็นนวัตกรรม และมอบสิทธิ์แก่จังหวัด ในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพร

ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยว่า ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ให้ความสนใจต่อการดูแลสุขภาพโดยการเลือกอุปโภคบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพจากพืชสมุนไพรและการใช้บริการด้านสุขภาพที่ผสมผสานทางด้านการแพทย์แบบองค์รวม กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในสังคมไทยและทั่วโลก ทำให้มีอัตราการเติบโตด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ทำให้มีผู้ประกอบการธุรกิจด้านสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชุน แต่การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์จะได้รับความน่าเชื่อถือ จะต้องมีกระบวนการวิเคราะห์ ทดสอบ วิจัยและการผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นนวัตกรรม มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาผู้ประกอบการด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพร โดยนำสมุนไพรที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ทั้ง 6 จังหวัด จากปทุมธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา สระบุรีและนครพนม เป็นจังหวัดนำร่อง เข้าร่วมดำเนินงานเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีความเป็นนวัตกรรม

การดำเนินงานมีทั้งการจัดฝึกอบรมการพัฒนาผู้ประกอบการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เพื่อเป็นแนวทางสร้างอาชีพและพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้น การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากพืชอัตลักษณ์ของจังหวัด โดยมีการวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และประเมินความเป็นไปได้ของสารสกัดก่อนที่จะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงกิจกรรมล่าสุด นั่นคือการจัดนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ มทร.ธัญบุรี ดีดีมอลล์ จตุจักร กทม. โดยมี รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิด รวมถึงมอบสิทธิ์ในผลงานวิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นจากโครงการระหว่างมหาวิทยาลัยและจังหวัด แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และผู้แทนทั้ง 6 จังหวัด เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและจังหวัดต่อไป

นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่าโครงการพัฒนาผู้ประกอบการด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพร เป็นการร่วมมือกันระหว่าง มทร.ธัญบุรี กับทางจังหวัด เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ นำพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดปราจีนบุรี มาสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดด้วยงานวิจัยและพัฒนา จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีความเป็นนวัตกรรม ทั้งน้ำยาบ้วนปากที่ผสมสารสกัดจากส้มโอ สครับขัดผิวจากถ่านไม้ไผ่ หรือเซรั่มบำรุงผิวจากดอกปีบ ทั้งยังมอบสิทธิ์ในผลงานวิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นด้วย อยากให้มีโครงการเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นแนวทางในการสร้างรายได้และสร้างประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ผู้ประกอบการ กระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญและประโยชน์ของพืชท้องถิ่น ทั้งยังเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานงานวิจัยและพัฒนา จากอาจารย์นักวิจัยของ มทร.ธัญบุรี

ขณะที่ นายรุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี กล่าวว่าผู้ประกอบการจากจังหวัดสระบุรีตอบรับเป็นอย่างดีต่อโครงการฯ โดยทั้ง มัลเบอร์รี่ ดอกเข้าพรรษา และข้าวเจ๊กเชย ที่ถือเป็นของขึ้นชื่อของจังหวัด ได้รับการวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และประเมินความเป็นไปได้ของสารสกัดจนสำเร็จผลิตภัณฑ์สมุนไพรธรรมชาติ ซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดีจาก มทร.ธัญบุรี เริ่มต้นตั้งแต่การอบรม วิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี จัดนิทรรศการ ตลอดจนมอบสิทธิ์ในผลงานวิจัย ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ในการนำพืชท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน

“ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นนี้จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เพิ่มมูลค่าพืชสมุนไพรที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น ซึ่งนำมาสู่การเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ อีกทั้งเป็นการส่งเสริม อนุรักษ์ และสืบทอดภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรของคนไทยให้คงอยู่ต่อไป” ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ กล่าวสรุป

เรื่อง/อลงกรณ์ รัตตะเวทิน. มทร.ธัญบุรี.