นศ.มทร.ธัญบุรี คว้าถ้วยพระราชทาน แกะสลักผัก – ผลไม้ ผสานงานใบตอง ดอกไม้สด ครั้งที่ 21

คณาจารย์ นักศึกษา คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และ ศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บูรณาการศาสตร์ความรู้ คว้าถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี การประกวดแกะสลักผัก – ผลไม้ ผสานงานใบตอง ดอกไม้สด ครั้งที่ 21 ในหัวข้อ “เฉลิมพระเกียรติมหามงคล บรมราชาภิเษกเอกอัครรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” จัดโดยโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เสริมศรี สงเนียม ผู้จัดทำโครงการฯ และผู้ควบคุมทีมจากสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า ได้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นปีที่ 2 โดยเมื่อปี 2560 ได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เช่นกัน หัวข้อการประกวดในปีนี้คือ “เฉลิมพระเกียรติมหามงคล บรมราชาภิเษกเอกอัครรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” แนวคิดในการออกแบบงานเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยได้ผสมผสานงานแกะสลัก งานดอกไม้และงานใบตอง ให้ตรงกับหัวข้อการประกวด เช่น แกะสลักฟักทองเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันหมายถึง สิ่งของเครื่องใช้ 5 องค์ที่เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นพระราชา การแกะสลักเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ แกะสลักพสกนิกรร่วมถวายพระพรชัยด้วยเผือก และแกะสลักดอกไม้จากผักผลไม้นานาพันธุ์ ทั้งนี้ได้บูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างศาสตร์ ฝ่ายศิลปกรรมจัดทำโครงสร้างหลัก แกะสลักพระบรมฉายาลักษณ์ แกะสลักชสีห์ ราชสีห์ และแกะสลักตัวคนจากเผือกในอิริยาบถต่าง ๆ ส่วนนักศึกษาเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ทำหน้าที่แกะสลักรายละเอียด เช่น เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ แกะสลักดอกไม้ และประดิษฐ์งานดอกไม้ใบตองแบบไทยประเพณี ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อนำทั้งสองศาสตร์มาเกื้อกูลกัน ทำให้เกิดเป็นผลงานที่มีความประณีตงดงามทั้งด้านศาสตร์และศิลป์อย่างลงตัว

ทางด้าน อาจารย์ดิษฐวัฒน์  อินนุพัฒน์  ผู้จัดทำโครงการฯ และผู้ควบคุมทีมจากสาขาวิชาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของทีมคือการนำเสนอสัญลักษณ์ภายใต้หัวข้อ “เฉลิมพระเกียรติมหามงคลบรมราชาภิเษก เอกอัครรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ได้อย่างโดดเด่น ผ่านทักษะการแกะสลักที่ใช้ความประณีตผสมผสานกับการจัดแต่งดอกไม้สด และความสวยงามจากการผสานใบตอง  ซึ่งทุกคนในทีมได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์ผลงานที่ตนเองรับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถ บางอย่างได้ยึดตามรูปแบบการแกะของรุ่นครูบาอาจารย์ที่สอนต่อ ๆ กันมา และมีการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ทำให้เกิดรูปแบบที่หลากหลายวิจิตรงดงาม  โดยเฉพาะการแกะพระบรมฉายาลักษณ์ และการแกะรูปคนในลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ได้เรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ตรง ซึ่งต่างจากการเรียนในชั้น  ได้เพิ่มทักษะวิชาชีพ  การทำงานทีม เป็นหมู่คณะ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกันของทั้งสองคณะ เปิดประสบการณ์มุมมองใหม่ ๆ ทางทัศน์ศิลป์ ในการทำงานด้วยเทคนิคแกะของสดของนักศึกษาคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ขอขอบคุณคณะผู้จัดประกวดแข่งขันที่สร้างเวทีประกวดที่มีคุณภาพให้กับคนรุ่นใหม่ ได้ประลองฝีมือและสืบสานมรดกชิ้นสำคัญทางวัฒนธรรมของชาติ และควรจะเป็นมรดกไทยมรดกโลกต่อไป ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยฯ ที่สนับสนุนให้โอกาสได้แสดงฝีมือและได้ถวายพระพรเนื่องในปีมหามงคลของประชาชนชาวไทย

“ปลา” นายธีร์คณาธิป ไพทูรย์ สาขาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า ปีนี้เป็นปีที่สองที่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน ในการสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย และรู้สึกภูมิใจมากกับการเข้าร่วมเเข่งขันทุกครั้ง หน้าที่หลักของตนเองคือดูแลเรื่องงานดอกไม้ประดิษฐ์และงานใบตอง ซึ่งทุกชิ้นถูกบรรจงเรียงร้อยด้วยความวิจิตรงดงาม เพื่อสื่อถึงการเฉลิมพระเกียรติฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10 ทั้งนี้ได้นำความรู้ความสามารถทั้งหมดที่เรียนมาทุ่มเทลงในผลงานชุดนี้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง 2 คณะซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ได้พัฒนาตนเองเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น

“ณัฐ” นายภูวิพัฒน์ สุภาศรีคงพัฒน์ สาขาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า จุดเด่นของงานคือการจัดวางโครงสร้างของชิ้นงานที่สามารถสื่อความหมายตรงกับโจทย์ที่ได้รับมาอย่างชัดเจน ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าใจความหมายที่สื่อออกมาจากผลงาน ได้นำความรู้หลายแขนงมาปรับใช้ในการทำงาน หลัก ๆ คือการแกะสลัก การจัดดอกไม้ งานใบตอง รวมถึงการปรับตัวในการทำงานเป็นทีมอีกด้วย การประกวดแข่งขันแกะสลักผักผลไม้ ครั้งนี้ ถือเป็นการท้าทายอย่างมาก เพราะการที่รักษามาตรฐานเเชมป์แกะสลักรางวัลถ้วยพระราชทาน จากครั้งที่ผ่านมานั้นสร้างความกดดันให้กับทีมเป็นอย่างมาก ต้องมีการประชุมวางแผนทุกส่วนของงานอย่างครอบคลุมและตรงกับโจทย์ และการทำงานร่วมกับเพื่อนต่างคณะ เป็นการพัฒนาศักยภาพของตนเองไปในตัว และเป็นการเปิดโอกาสให้ได้แสดงฝีมือจากการเรียน และเพื่อก้าวต่อไปสู่การทำงานในอนาคต

“ปู” นายชลตกานต์ เณรเถาว์ นักศึกษาสาขาวิชาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า ได้เข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรก โดยตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ ทุกคนมีการวางแผนงานของตนเอง และร่วมทำงานกับเพื่อนในทีมเพื่อให้ทันเวลา การทำงานย่อมมีอุปสรรคแต่ทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ เพื่อให้ผลงานออกมาอย่างสมบูรณ์ที่สุด ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่ได้รับชม รับผิดชอบในส่วนของโครงสร้างงานก่อนจะประดับดอกไม้สด การเกลาโฟม และส่วนประกอบย่อย ๆ ของงาน ซึ่งได้ใช้ทักษะในเชิงศิลปะที่ได้เรียนรู้มาเป็นอย่างดี ได้นำความรู้มาบูรณาการร่วมกับงานฝีมือสาขาคหกรรมศาสตร์ ส่วนตัวคิดว่าทุกส่วนของผลงานมีความโดดเด่น และมีความสำคัญ แต่ส่วนที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือการแกะพระบรมฉายาลักษณ์และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ซึ่งใช้เวลาและทักษะเป็นอย่างมาก

“ขวัญ” นางสาวขวัญฤดี ภูเต้านา นักศึกษาสาขาวิชาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงาน หน้าที่หลักร่วมทำงานกับเพื่อน ๆ ในสาขาวิชาประติมากรรมอีกหลายคน คือการแกะโฟมรูปคน ในอาริยาบทต่างๆ เช่นกำลังถวายชัยพรแด่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นต้น  การได้ร่วมแรงร่วมใจกันบูรณาการนำองค์ความรู้จากศาสตร์ของทั้งสองคณะ และความประณีตในการแกะสลักผักและผลไม้ ศิลปะการจัดวาง และแกะสลักประติมากรรม สร้างสรรค์จนเกิดเป็นผลงานที่ได้ประจักษ์แก่สายตาคณะกรรมการและประชาชนทั่วไป ขอบคุณอาจารย์คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ที่ให้การสนับสนุน ให้ความรู้ ประสบการณ์จากการบูรณาการสร้างสรรค์งานร่วมกันในครั้งนี้

ทางด้านศิษย์เก่าจากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ “บอย”นายพัฒนพงษ์ เกิดพุฒ เล่าว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก ที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานในครั้งนี้ และภูมิใจอย่างยิ่งที่สามารถทำชื่อเสียงให้กับมหาลัยที่ตนเองรัก โดยรับผิดชอบในส่วนของการแกะสลักเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 3 อย่าง คือ วาลวิชนี ประกอบด้วยของ 2 สิ่ง คือ พัดกับพระแส้ ธารพระกร และเรือสุวรรณหงส์ ซึ่งแต่ละชิ้นต้องแกะและตั้งใจทำออกมาให้ดีที่สุด ในการทำงานการวางแผนร่วมกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องทั้งสองคณะ เป็นหนึ่งเดียวทำให้เกิดเป็นผลงานชิ้นเอกที่สวยงามและประสบความสำเร็จในการแข่งขันครั้งนี้

ตลอดระยะเวลา 10 วัน ในการทำงานบูรณาศาสตร์องค์ความรู้เข้าด้วยกัน ได้รับประสบการณ์ตรงจากการทำงานในสถานการณ์จริง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกการทำงานร่วมกันเกิดความสามัคคี ฝึกความรับผิดชอบและการตรงต่อเวลา และเห็นถึงความมุ่งมั่นและความรักในสถาบันเพื่อที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย

ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994