ยลโฉมแสตมป์ชุดอนุรักษ์มรดกไทย ‘จิตรกรรมฝาผนังภาคใต้’ งานวิจัย มทร.ธัญบุรี

ผลงานวิจัย อาจารย์ มทร.ธัญบุรี ‘จิตรกรรมฝาผนังในภาคใต้’ ได้รับเลือกสู่ต้นแบบการจัดสร้างแสตมป์ชุดอนุรักษ์มรดกไทย 2562 จาก บริษัทไปรษณีย์ไทยฯ

รศ.ดร.สมพร ธุรี คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลและภาพเพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการจัดสร้างตราไปรษณียากรที่ระลึกวันอนุรักษ์มรดกไทย 2562 เพื่อสนับสนุนมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย และเพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนในชาติได้ตระหนักถึงคุณและความสำคัญของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมทุกแขนงของชาติ โดยข้อมูลและภาพดังกล่าวมาจากการที่ตนได้เรียบเรียงหนังสือจำนวน 2 เล่มด้วยกัน

เล่มแรกคือ หนังสือพุทธศิลป์ในภาคใต้ สมัยรัตนโกสินทร์ (ช่วงรัชกาลที่ 1-6) บริเวณภาคใต้ฝั่งทิศตะวันออกทะเลอ่าวไทย เพื่อวิเคราะห์ตีความงานศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ปรากฏนับเป็นหลักฐานสำคัญ มีลักษณะการผสมผสานความหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนาที่น่าสนใจและเป็นรากเหง้าอัตลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนชนชาติใด โดยเฉพาะมิติการอยู่ร่วมกันในสังคม และเล่มที่สองคือ จิตรกรรมปริศนาธรรมภาคใต้เชิงสังเคราะห์ จากงานวิจัยสู่การสร้างสรรค์นวัตศิลป์ โดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์และตีความภาพปริศนาธรรมในภาคใต้ ที่สะท้อนหลักธรรมคำสอนพุทธศาสนาที่มีความร่วมสมัย ก่อให้เกิดการรับรู้และเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีกระบวนการศึกษาด้วยวิธีการศึกษาจากเอกสาร การลงพื้นที่สังเกตจากสถานที่จริงในภาคใต้

โดยภาพจากหนังสือของ รศ.ดร.สมพร ธุรี ที่ได้รับคัดเลือกนำมาเป็นต้นแบบในการจัดสร้างตราไปรษณียากร มีด้วยกันจำนวน 4 ภาพ (1) ภาพเจดีย์จุฬามณี วัดโคกเคียน จ.นราธิวาส แสดงเนื้อหาเรื่องราวเจดีย์ที่จุฬามณีคล้ายมัสยิดของศาสนาอิสลามผสมกับเจดีย์ของศาสนาพุทธ เกิดความเป็นเอกภาพของรูปแบบเทคนิคเชิงช่าง ซึ่งเป็นภาพประกอบที่สำคัญตอนพุทธประวัติ แสดงถึงการอยู่ร่วมกันด้วยความพึ่งพาอาศัย ตามความเชื่อในการทำความดีก็จะพบกับเทพเทวดาที่ตนนับถือ พบกับดินแดนสวรรค์แห่งความสุขสงบ (2) ภาพประเพณีการตักบาตร เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ วัดป่าศรี จ.ปัตตานี ที่แสดงถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและความเชื่อความศรัทธาต่อพุทธศาสนาของชุมชน ในภาพสื่อถึงการเข้าวัด เพื่อทำบุญและฟังเทศน์ ขณะเดียวกันยังเป็นการสะสมบุญเพื่ออนาคตชาติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องไตรภูมิ (3) ภาพเหตุการณ์ในเรื่องพระเวสสันดรชาดก วัดคู่เต่า จ.สงขลา ที่มีเทคนิคการใช้จุดและเส้นแสดงรายละเอียดในภาพตามแบบหนังตะลุง แสดงถึงรูปแบบวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ที่เป็นเอกลักษณ์ และ (4) ภาพพุทธประวัติ ตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ วัดจะทิ้งพระ จ.สงขลา ที่แสดงออกถึงเนื้อหาตามความเชื่อในพุทธศาสนา

“รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ผลงานวิจัยจากการศึกษาค้นคว้าจนเกิดเป็นหนังสือ และได้รับการคัดเลือกบางส่วนของผลงานเพื่อนำมาต้นแบบการจัดสร้างแสตมป์ชุดอนุรักษ์มรดกไทย 2562 ซึ่งจะออกจำหน่ายโดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่ง 1 ชุด ราคา 15 บาท ประกอบไปด้วย 4 ดวง และจะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 เมษายนนี้”

รศ.ดร.สมพร ยังกล่าวด้วยว่า แสตมป์ชุดอนุรักษ์มรดกไทย ‘จิตรกรรมฝาผนังในภาคใต้’ ถือเป็นของสะสมที่นักสะสมไม่ควรพลาด ทั้งยังเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อการอนุรักษ์สืบสานและช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ และย้ำในประเด็นสำคัญที่ว่า “ช่างในอดีตได้สร้างศิลปะแห่งความหลากหลายในภาคใต้ที่เป็นเอกภาพ ด้วยการให้มีศูนย์รวมทางศาสนา และให้ความสำคัญเท่าเทียมกันโดยมีศาสนาพุทธเป็นหลักแกนกลาง สร้างสรรค์และจัดองค์ประกอบทั้งรูปภาพและเนื้อหาที่สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกัน” ทั้งยังแทรกปริศนาธรรมอันจะเป็นหลักคิดให้เห็นว่า “มนุษย์เราแม้จะมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนาหรือความเชื่อ แต่สามารถอยู่ร่วมกันและเป็นหนึ่งเดียวกันได้บนพื้นแผ่นดินไทย”