นักวิจัย มทร.ธัญบุรี ดีไซน์รังเลี้ยง ‘ชันโรง’ ช่วยเกษตรกร ผลิตน้ำผึ้งสู่เชิงพาณิชย์

อาจารย์นักวิจัย มทร.ธัญบุรี ออกแบบรังเลี้ยงผึ้งชันโรงสำหรับผลิตน้ำผึ้งเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์เกษตรกรในการเก็บผลผลิต สร้างรายได้แก่ชุมชน และคว้ารางวัลเหรียญทองเวทีวิจัยนานาชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน

อธิการบดี มทร.ธัญบุรี และคณบดีเทคโนโลยีการ … ีกับ ผศ.ดร.อัญชลี สวาสดิ์ธรรม (คนกลาง)

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี สวาสดิ์ธรรม อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เจ้าของผลงานวิจัย กล่าวว่า น้ำผึ้งจากผึ้งชันโรงหรือ Stingless Bees เป็นที่รู้จักกันและขึ้นชื่อว่ามีคุณค่าและสรรพคุณทางยาสูง ผลการวิเคราะห์ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระของน้ำผึ้งจากชันโรงมีมากกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งพันธุ์ 2-3 เท่า มีกรดอะมิโนและเกลือแร่หลายชนิด มีน้ำตาลทรีฮาโลส ซึ่งเป็นสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว มีประโยชน์สำคัญทางด้านการแพทย์และเภสัช จึงทำให้มีราคาสูง แต่จุดอ่อนของชันโรงคือให้ผลผลิตน้ำผึ้งต่อรังในปริมาณน้อย มีวิธีเก็บเกี่ยวยุ่งยากกว่าผึ้งพันธุ์ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวอ่อนได้ อีกทั้งขณะเก็บน้ำผึ้งจะมีถ้วยน้ำผึ้งที่แตกเสียหาย มีน้ำผึ้งไหลออกมาบริเวณพื้นรัง ทำความสะอาดให้แห้งได้ยาก ก่อให้เกิดการบูดของน้ำผึ้ง ส่งกลิ่นดึงดูดศัตรูของชันโรงให้เข้ามาทำลาย ส่งผลให้รังล่มสลายได้ง่าย

จากเหตุผลดังกล่าวจึงได้ออกแบบรังเลี้ยงชันโรงสำหรับผลิตน้ำผึ้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมทำจากไม้ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนของฝารัง และรังเลี้ยง ที่ประกอบขึ้นเป็นห้องเลี้ยงที่มีขนาดเหมาะสม ที่สามารถบังคับให้ชันโรง สร้างถ้วยตัวอ่อนที่แยกกับถ้วยอาหาร (เกสรและน้ำผึ้ง) ได้อย่างชัดเจน ทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งได้โดยสะดวกและง่ายกว่ารังเลี้ยงแบบเดิม ส่งผลให้เกษตรกรได้ผลผลิตน้ำผึ้งมากขึ้น สามารถลดการเข้าทำลายของศัตรูชันโรงหลังการเก็บเกี่ยว และจัดการรังได้สะดวกทั้งการติดตามสภาพภายในรังเพื่อการแยกขยายหรือสามารถเห็นการเข้าทำลายของศัตรูที่มาตามฤดูกาล เพื่อการแก้ไขได้ทันเวลา รวมถึงสามารถขยายสเกลการผลิตน้ำผึ้งและชันเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรมได้ เช่นปัจจุบันมีการนำชันมาใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพมากมาย เช่น รักษาการติดเชื้อในช่องปาก รักษาเหงือกอักเสบ ลดอักเสบของผิวหนัง หรือใช้น้ำผึ้งและชันของชันโรงในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ ยาสีฟัน ครีมบำรุงผิว และยาสระผม เป็นต้น

นอกจากนั้น ในการดำเนินกระบวนการวิจัยนี้ เป็นการทำงานวิจัยที่เปิดโอกาสให้ผู้เลี้ยงชันโรง คุณอาลัย และคุณสวัสดิ์ จิตตเจริญ เกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงบ้านวังแซ้ม อ.มะขาม จ.จันทบุรี เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรได้ฝึกทักษะในการวิจัย การสังเกต และการเก็บข้อมูล ก่อให้เกิดนักวิจัยในภาคสนามที่เกษตรกรจะได้นำทักษะนี้ไปใช้ในการดำเนินการพัฒนาการเลี้ยงชันโรงอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกด้วย

ผลงานรังเลี้ยงผึ้งชันโรงสำหรับผลิตน้ำผึ้งเชิงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมประกวดและแสดงผลงานวิจัยระดับเวทีนานาชาติ IEI & WIIF 2018 สาธารณรัฐประชาชนจีน และสามารถคว้ารางวัลวิจัยเหรียญทองมาครองได้อย่างสำเร็จ ขณะนี้ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรการออกแบบแล้ว เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หรือโทร. 02 592 1955 , 1956