ภารกิจใหม่ ดาวเทียม Biomass เช็คคาร์บอนในพื้นที่ป่า

Biomass

องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ประสบความสำเร็จในการส่ง ดาวเทียม Biomass ขึ้นสู่อวกาศ โดยมีภารกิจสำคัญคือการศึกษาป่าไม้ทั่วโลก และทำความเข้าใจบทบาทของป่าในการควบคุมวัฏจักรคาร์บอนของโลก

ทำไมการชั่งน้ำหนักต้นไม้ ถึงสำคัญ

– ป่าไม้คือปอดของโลกนะ เป็นสิ่งที่ช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึงปีละ 8 พันล้านตัน ซึ่งช่วยควบคุมอุณหภูมิโลก

– ตรวจสอบการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งการตัดไม้ โดยเฉพาะในเขตร้อน ทำให้คาร์บอนที่ถูกเก็บไว้ในต้นไม้ถูกปล่อยกลับสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

– ช่วยศึกษาข้อมูลที่ยังขาดหาย โดยในปัจจุบันเรายังขาดข้อมูลที่แม่นยำว่าต้นไม้ราว 1.5 ล้านล้านต้นทั่วโลกกักเก็บคาร์บอนไว้ได้เท่าใด และกิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อการกักเก็บนี้อย่างไร

ดาวเทียม Biomass ทำงานโดยใช้เรดาร์พิเศษที่ชื่อว่า P-band ซึ่งสามารถมองทะลุเรือนยอดไม้ลงไปวัดมวลชีวภาพของส่วนที่เป็นเนื้อไม้ เช่น ลำต้น กิ่งก้าน ซึ่งเป็นส่วนที่กักเก็บคาร์บอนไว้มากที่สุด

การวัดมวลชีวภาพนี้เปรียบเสมือนการ ชั่งน้ำหนักต้นไม้ เพื่อประเมินว่าป่าแต่ละแห่งสามารถกักเก็บคาร์บอนได้เท่าใด จากนั้นข้อมูลที่วัดได้จะถูกรับโดยแผงสะท้อนสัญญาณขนาดใหญ่เกือบ 40 ฟุต ก่อนส่งกลับมายังศูนย์ควบคุมภารกิจ

ข้อมูลจากดาวเทียม Biomass จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจปริมาณคาร์บอนที่ป่าไม้กักเก็บไว้ได้แม่นยำขึ้น ซึ่งจะช่วยเติมเต็มความรู้เกี่ยวกับวัฏจักรคาร์บอนและระบบภูมิอากาศของโลก

นอกจากนี้ เทคโนโลยีเรดาร์นี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสำรวจด้านอื่นๆ ได้ เช่น การทำแผนที่ธรณีวิทยาใต้พื้นทรายในทะเลทราย หรือโครงสร้างของแผ่นน้ำแข็งที่เริ่มละลายได้อีกด้วย นับว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พยายามจะช่วยโลกนี้ไว้ครับ

ที่มา

cbsnews