แนวโน้มการใช้ซอฟต์แวร์ของธุรกิจไทย กับสิ่งที่คุณคาดไม่ถึง

เห็นด้วยหรือไม่ว่า? สมัยนี้ธุรกิจต่างๆ นำซอฟต์แวร์มาใช้มากยิ่งขึ้น

ถ้าลองกวาดสายตาดูในธุรกิจต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ จะพบว่าอัตราการใช้ซอฟต์แวร์ในขั้นตอนต่างๆของการทำงานเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งเดิมทีอัตราการใช้ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมีเพียง 25% เมื่อเทียบกับมาเลเซีย ประเทศใกล้บ้านเราที่มากกว่า 50% และในประเทศที่เจริญแล้วที่มากกว่า 80% จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเราเดินทางไปต่างประเทศ จะเห็นการใช้ซอฟต์แวร์และไอทีอยู่แทบทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าปลีกเล็กๆ หรือป้ายประกาศเชิญชวนให้โหลดแอปเพื่อสะสมแต้มต่างๆ

ตัวเลขนี้กำลังเปลี่ยนไปอย่างมาก ถ้ามีการสำรวจวิจัยกันใหม่ในปี 2017 มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะพบตัวเลขของประเทศไทยที่พุ่งสูงขึ้น ซอฟต์แวร์ไทยเองก็มีการพัฒนาไปมาก จนหลายซอฟต์แวร์ไม่ได้เติบโตเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่บุกไปขายต่างประเทศด้วย บ่างส่วนมุ่งที่ตลาด CLMV และบางส่วนบุกไปไกลนับหลายสิบประเทศทั่วโลกแล้ว

ในขณะที่นักธุรกิจไทยบางส่วนยังนึกว่า ซอฟต์แวร์ไทยยังไม่ดีพอ เมื่อเทียบกับซอฟต์แวร์ต่างชาติ แต่ความเป็นจริงแล้ว ซอฟต์แวร์ไทยได้ถูกพัฒนามาเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ เพราะเข้าใจความต้องการของคนไทยอย่างแท้จริง ต่างกับซอฟต์แวร์ต่างชาติที่ธุรกิจไทยต้องปรับตัวเข้ากับซอฟต์แวร์นั้นๆเอง

มีเจ้าของซอฟต์แวร์ไทยรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่จะเริ่มไปเจาะตลาดต่างประเทศก็เคยกังวลว่าซอฟต์แวร์เขาจะสู้ต่างประเทศได้ไหม? แต่พอบุกเข้าไปจริงๆ จึงพบว่า ซอฟต์แวร์ของเขามีฟีเจอร์ที่ละเอียด และเข้าใจธุรกิจนั้นจริงๆ จนผู้ซื้อในต่างประเทศแปลกใจว่าซอฟต์แวร์ไทยมีความน่าสนใจกว่าที่คิดไว้มาก

ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาต่างชาติ ไม่ใช่ประเทศที่มีความโดดเด่นด้านซอฟต์แวร์ แต่เชื่อหรือไม่ว่า user ในประเทศไทยตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีส่วนช่วยทำให้ซอฟต์แวร์ของไทยเข้มแข็ง และมีฟีเจอร์ที่แม้แต่ซอฟต์แวร์ต่างชาติยังต้องทึ่ง เมื่อซอฟต์แวร์ที่ผลิตและออกแบบในประเทศไทยให้ตอบสนองความต้องการที่สลับซับซ้อนของคนไทยได้แล้ว จึงมีความเข้มแข็งซ่อนอยู่ในฟีเจอร์ต่างๆโดยไม่รู้ตัว

อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะได้เห็นจากซอฟต์แวร์ไทยในอนาคตอันใกล้นี้คือ API Integration ที่ซอฟต์แวร์ต่างๆ (จากหลายผู้ผลิต) จะเชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกันมากขึ้น เหตุเพราะ แรงผลักดันเรื่อง Time to Market ที่มีความต้องการใหม่ๆอย่างรวดเร็ว จนผู้ผลิตซอฟต์แวร์แต่ละรายไม่สามารถตอบสนองเองได้ทัน ทั้งหมดจึงถูกผลักให้ต้องหันหน้ามาคุยกัน และเชื่อมโยงการทำงานของต่างระบบกัน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทุกซอฟต์แวร์มีจุดแข็งของตัวเอง แต่ลูกค้ามีความต้องการไม่จำกัด บางทีผู้ขายระบบ POS ก็จะถูกขอให้ทำ CRM ด้วย หรือบางทีผู้ขายระบบ ERP ก็จะถูกขอให้ทำ POS ด้วย ซึ่งในรายละเอียดแล้วมีฟีเจอร์ที่แตกต่างและลงลึกต่างกัน แต่ขณะนี้ซอฟต์แวร์ต่างๆเหล่านี้กำลังทำงานร่วมกันมากขึ้นๆ มากจนบางบริษัทเริ่มควบรวมบริษัทกันด้วยซ้ำไป

ผู้ได้ประโยชน์สูงสุดคือธุรกิจไทย ที่จะได้ซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้นในเวลาอันสั้น

และหน่วยงานหนึ่งที่ส่งเสริมเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นคือ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ATSI ที่เป็นแหล่งรวมบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทย และส่งเสริมให้พัฒนาคุณภาพ และความร่วมมือกันของสมาชิก

และเร็วๆนี้ ATSI กำลังจะร่วมกับ AR จัดงาน Thailand Software Fair ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายในพื้นที่งาน Commart เพื่อเป็นการเปิดตัวให้นักธุรกิจชาวไทย เข้ามาทั้งร่วมฟังสัมมนาที่เป็นประโยชน์ และเดินชมบูธของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย รวมถึงร่วมเป็นสักขีพยานในการมอบรางวัล Digital Entrepreneur Awards 2017 ให้กับธุรกิจที่นำ IT ไปใช้จนประสบความสำเร็จและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

พบกันที่ศูนย์สิริกิตติ์ วันที่ 3 พ.ย. นี้

ติดตามรายละเอียดงานสัมมนาและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ฟรี ที่นี่