เบื้องหลังนักแข่งเกม E-Sport ไทย ไปไกลระดับโลก

ใครจะไปคิดว่าเด็กติดเกม จะพาตัวเองไปไกลได้ถึงระดับโลก 

Techhub Inspire พาไปคุยกับ “ต้อ ทศพล แซ่โคว้” อดีตนักกีฬา E-sport รุ่นบุกเบิก ที่ผันตัวมาเป็นโค้ชคอยเทรนด์เด็กรุ่นใหม่ให้ก้าวไปเป็นแชมป์ ชีวิตของเด็กติดเกมจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อเป้าหมายไม่ใช่แค่เล่นสนุกไปวันๆ

: จากจุดเริ่มต้น

ชีวิตในวัยเด็กของต้อ ก็เหมือนเด็กทั่วๆ ไป ที่เป็นคนชอบการแข่งขัน และจริงจังกับการเล่นเกมมากกว่าสิ่งใด และดูเหมือนว่าฝีมือจะไม่เป็นรองใคร จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มสนใจเข้ามาในวงการเกม หันมาเล่นเกมแบบมีเป้าหมายเป็นเงินรางวัลจากเวทีแข่งขันเกมที่อาศัยฝีมือเป็นทุนเดิม

แม้ที่บ้านไม่ให้เห็นด้วย เพราะมองไม่เห็นว่าเกมจะสร้างอาชีพ หรือทำเงินให้ได้อย่างไร แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นและเดินหน้าต่อแม้ไม่มีใครสนับสนุนก็ตาม

“เรารู้ว่าเราเล่นอยู่ในจุดไหน ไม่ได้เล่นไปวันๆ พอมีเป้าหมาย ทุกอย่างมันต้องจริงจังถึงจะสำเร็จ พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ได้อันดับดีขึ้น จนที่บ้านเริ่มยอมรับ”

 


การเกมออนไลน์ ถ้ามีนักเล่นเกมโผล่ขึ้นมาในระดับท็อป การจะทำให้คนยอมรับต้องเข้าสู่เวทีแบบออฟไลน์ เพื่อตัดข้อสงสัยว่าไม่ได้ใช้โปรแกรมโกงเกมเพื่อเอาชนะ การแข่งขันแบบออฟไลน์มันช่วยพิสูจน์ว่าใครเก่งจริง 

ต้อ ตัดสินใจลงสนามแข่งเกม Counter pro เกมที่ได้รับความนิยมและมีผู้เล่นอยู่ทั่วโลก หลังจากเก็บประสบการณ์จากการแข่งขันในระดับประเทศจนพอใจ เวทีละดับโลกย่อมท้าทายกว่า ซึ่งเขาก็ทำได้สำเร็จอย่างที่หวัง

จนได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งเกมที่มาเลเซียครั้งแรก ตอนอายุ 17 ได้อันดับ 4 ของเอเชีย นับเป็นก้าวเล็กๆ ที่เปิดโลก ทำให้รู้ว่าตัวเองชอบกีฬา E-Sport ก่อนที่จะเป็นตัวประเทศอีกหลายต่อหลายครั้ง โดยการแข่งขันที่ประทับใจสำหรับเขาคืองาน  IeSF หรือ Esports World Championship เป็นเวทีแข่งขันเกมระดับโลก และได้คว้ารางวัลที่ 4 จากเวทีนี้มาครองได้สำเร็จ

: เกมเปลี่ยนชีวิต

จากเด็กติดเกมมาเป็นนักกีฬา E-Sport แน่นอนว่าชีวิตไม่มีทางเหมือนเดิม ทันทีที่เข้าสังกัดต้องมีวินัย มีเป้าหมายว่าเล่นเกมเพื่ออะไร เล่นเพื่อคลายเครียดหรือเล่นเป็นอาชีพ ต้องแยกแยะให้ออก

“เป็นนักกีฬามีสังกัดก็ต้องมีเป้าหมายในการเล่น ไม่ได้เล่นสนุกไปวันๆ อยู่หน้าคอม ต้องมีความรับผิดชอบ ตื่นมาซ้อมกับทีมมีเวลาที่แน่นอน ไม่ใช่ต่างคนต่างเล่น ต้องจัดการอารมณ์ วางแผนศึกษาคู่แข่ง เพราะเป้าหมายคือเอาชนะคู่ต่อสู้ โดยมีเงินรางวัลหลักล้านเป็นเดิมพัน” เขากล่าว

ในสนาม E-Sport ไม่ได้มีแค่เด็กไทย แต่ต้องเจอกับคนมีฝีมือจากต่างชาติ เช่นเกาหลีที่จุดเด่นคือมีวินัยสูง ทีมที่คัดมาแล้วเป็นตัวแทน ทั้งเก่งและมีสไตล์การเล่นที่น่ากลัว มีผู้ใหญ่คอยอัดฉีดเงินสนับสนุน

“ฝีมือของเด็กไทยสู้ได้ในเวทีโลก เพียงแต่การสนับสนุนยังจำกัด เมื่อก่อนแทบมองไม่เห็นอนาคต ไม่มีผู้สนับสนุน ไม่มีสังกัด เล่นด้วยความชอบมีเงินรางวัลอย่างเดียว อย่าถามถึงความมั่นคง ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง” เขากล่าว และยอมรับว่า ผิดจากตอนนี้ที่ E-Sport ในไทยโตแบบก้าวกระโดด เริ่มมีนักลงทุนเข้ามาทำทีม มีสปอนเซอร์อย่างแบรนด์สินค้าเกมมิ่งคอยสนับสนุน สร้างทีมไทยไปแข่งขันในระดับโลกมากขึ้น

สำหรับตัวต้อเอง มองว่า E-Sport คืออาชีพ แค่ในไทยอาจยังไม่ตอบโจทย์มาก เมื่อเทียบกับการยอมรับในต่างประเทศ

 

: เส้นทางสู่โค้ช

จากคนเบื้องหลังที่สร้างผลงานที่ประทับใจ ตอนนี้ต้อตัดสินใจพลิกบทบาทตัวเองอีกครั้ง กับการเป็นโค้ชเกมหน้าใหม่ ภายใต้สังกัด Purple Mood ตอนอายุเพียง 28 ปี โดยเอาประสบการณ์จากการแข่งขันในฐานะผู้เล่น ออกมาถ่ายทอดให้กับนักกีฬา E-Sport รุ่นใหม่ ที่อนาคตไปได้ไกลกว่า โดยมี BenQ Zowie เป็นสปอนเซอร์

“ตอนนี้เกมมันเข้าถึงทุกคนแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เลือกที่จะอยู่กับมันให้มีประโยชน์ที่สุดได้ เขาจึงหันมาเริ่มต้นทำทีมแข่งเกมระดับโลก อย่าง Valorant ที่แม้จะเพิ่งเปิดตัวใหม่ได้แค่ 2 ปี กว่า แต่เป็นเกมที่แปลกใหม่ และน่าสนใจจนกลายเป็นที่นิยมของคนทั่วโลกในตอนนี้”

เมื่อเปลี่ยนบทบาทจากนักแข่งมาเป็นโค้ช ต้องมองภาพรวมของทีม เข้าใจนักแข่งเกมทุกคนที่ล้วนมีอีโก้ ทำยังไงให้เด็กเข้าใจและมองชัยชนะของทีมมากกว่าชัยชนะของตัวเอง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับโค้ชหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น โดยมองว่าคนที่ก้าวเข้ามาในวงการเกมนอกจากจะผันตัวไปเป็นโค้ชแล้ว ก็ยังมีอีกหลายเส้นทางเดินที่น่าสนใจ ทั้งนักวิเคราะห์วางแผนเกม สตรีมเมอร์ ที่ยังมีความต้องการอีกมาก

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า คนที่สนใจอยากก้าวเข้ามาในวงการ E-Sport ให้ตั้งใจฝึกฝนถ้าสามารถไต่อันดับขึ้น Rank ในเกมได้ ก็จะเป็นประตูให้ทีมเก่งๆ สังกัดดีๆ มองเห็นเข้าสักวัน