เจาะลึกเบื้องหลัง NFC เหตุผลที่เทคโนโลยีไม่ปังอย่างที่คิด

แม้ NFC จะมีมานานกว่าทศวรรษ แต่มีโทรศัพท์มือถือจำนวนไม่กี่แบรนด์และไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่ใช้เทคโนโลยีนี้ได้ เพราะอะไร ? แล้วมันทำงานอย่างไร ? บทความนี้จะเจาะลึกให้อ่านสนุก ๆ กันไปเลยครับ
.
NFC ย่อมาจาก Near Field Communication เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารในระยะสั้นตามชื่อของมัน มีข่าวลือว่ามันถูกสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในที่สุดก็มีการจดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการในปี 1983 โดย Charles Walton ภายใต้ชื่อ “RFID” NFC และจากนั้นมันก็ถูกพัฒนาต่อเรื่อยมาครับ
.
ในปี 2003 NFC ถูกยอมรับว่าเป็นมาตรฐานการส่งคลื่นระยะสั้นที่มีความปลอดภัยมากกว่ารูปแบบ RFID แบบเดิม จาก ISO Standard และในปี 2004 สามบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Nokia, Sony และ Philips ก็ได้รวมตัวกันเพื่อก่อตั้ง NFC Forum ซึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นการพัฒนา NFC เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย ความสะดวกในการใช้งาน และสร้างความนิยมของการสื่อสารในระยะใกล้ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี พร้อมกำหนดมาตรฐานของ NFC ที่จะให้ทำงานระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนั้น ธุรกิจใดต้องการสร้างอุปกรณ์ที่รองรับ NFC จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดโดย NFC Forum
.
จากนั้นหลายธุรกิจก็นำ NFC ไปประยุกต์ใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ที่เราได้เห็นกันในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นใส่ในโทรศัพท์เพื่อให้โทรศัพท์สองเครื่องสามารถส่งข้อมูลผ่านกันได้ หรือนำไปใส่ในป้ายโฆษณาหรือข้อมูลประวัติของศิลปะในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสามารถเอามือถือไปแปะใกล้ ๆ ก็จะแสดงข้อมูลทันที และที่เห็นว่ามีประโยชน์สุด ๆ ในปัจจุบันคือใช้เพื่อจ่ายเงินได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นในร้านค้าหรือจ่ายรถค่ารถไฟฟ้าโดยสาร ก็สามารถแปะจ่ายได้ทันทีครับ

ภาพจากเว็บไซต์ Paragon

.
เอาล่ะครับ เห็นประวัติคร่าว ๆ ของ NFC กันไปแล้ว ทีนี้มาดูกันดีกว่าว่า NFC ทำงานยังไง

NFC ทำงานยังไง

เช่นเดียวกับบลูทูธและ Wi-Fi และสัญญาณไร้สายอื่น ๆ NFC ทำงานบนหลักการส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุในระยะสั้น เป็นอีกมาตรฐานหนึ่งสำหรับการสื่อสารหรือส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สาย แน่นอนว่าอุปกรณ์ที่ใช้งาน ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดเฉพาะเพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้อย่างเหมาะสม แต่เทคโนโลยีที่ใช้ใน NFC ใช้การเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อส่งข้อมูลคล้ายกับระบบชาร์จไร้สายในปัจจุบัน ซึ่งนี่เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งระหว่าง NFC และ Bluetooth / WiFi
.
ปัจจุบันมาตรฐานของ NFC ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ๆ คือ อุปกรณ์แบบ Passive และแบบ Active โดยอุปกรณ์แบบ Passive นั้นจะประกอบด้วย Tag (แถบป้ายบอกข้อมูล) หรือเครื่องส่งสัญญาณขนาดเล็ก ที่สามารถส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ NFC อื่น ๆ โดยไม่ต้องใช้แหล่งพลังงานของตัวเอง ซึ่งก็คือรอให้คนอื่นมาแปะใกล้ ๆ อย่างเดียว
.
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์แบบ Passive จะไม่สามารถคุยกันกับอุปกรณ์ Passive เองได้ จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์แบบ Active เช่น มือถือของเราเอง เพื่อที่จะสร้างการเหนี่ยวนำไฟฟ้าและอ่านข้อมูลบน Tag ได้ และเรามักจะเห็น Tag ดังกล่าวตามป้ายโฆษณาสินค้า หรือป้ายบอกแผนที่ ที่เราสามารถเอามือถือไปแตะเพื่อดูข้อมูลครับ
.
พร้อมกันนี้ เรายังเห็นการใช้งานที่ใช้อุปกรณ์แบบ Peer to Peer หรือก็คืออุปกร์แบบ Active สองเครื่องคุยกัน เช่น เครื่องจ่ายเงินในระบบรถไฟฟ้าที่ได้ผมพูดถึงไปข้างต้น หรือการจ่ายค่าสินค้าในห้างผ่านระบบ Samsung Pay ครับ
.
นอกจากนี้ ยังมีการประยุกต์ใช้ NFC ในแบบใหม่คือการจำลองการ์ดอุปกรณ์ NFC โดยการ์ดดังกล่าว สามารถทำหน้าที่เป็นบัตรเครดิตแบบสมาร์ทหรือแบบไร้สัมผัส รวมทั้งสามารถเงินหรือเข้าสู่ระบบการขนส่งสาธารณะได้เช่นเดียวกับมือถือเลยครับ

คลื่นความถี่ของ NFC คือเท่าใด ?

บางคนอาจสงสัยว่าความถี่ในการส่งข้อมูลผ่าน NFC คือเท่าใด ทำไมถึงส่งข้อมูลได้รวดเร็ว คลื่นความถี่ของ NFC คือ 13.56 เมกะเฮิรตซ์ มันสามารถส่งข้อมูลได้ที่ 106, 212 หรือ 424 กิโลบิตต่อวินาทีเลยทีเดียว และมันรวดเร็วพอสำหรับการถ่ายโอนข้อมูลรายละเอียดการติดต่อไปจนถึงรูปภาพและเพลงที่ไม่ใหญ่มากนักครับ

ทำไมเรายังไม่เห็น NFC ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ?

ถ้าคุณอ่านมาถึงจุดนี้ จะเห็น NFC นั้นมีแต่ข้อดีที่ใช้งานง่าย แต่ทำไมในปัจจุบันมันถึงยังไม่ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายมากนัก ซึ่งผมก็สงสัยเช่นกันและได้พยายามไปข้อมูลเพื่อที่จะไขความสงสัยนี้ แต่น่าจะเสียดายที่ยังไม่เจอข้อมูลที่ชี้ชัดได้ว่าทำไม แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างที่อยากให้ผู้อ่านลองพิจารณากันเองครับ
.
1. อย่างแรก Google กำลังผลักดันการใช้งาน NFC อย่างหนักบน Google Pay นั่นแปลว่าในอนาคตอันใกล้ Google อาจจะบังคับให้ผู้ผลิตมือถือ Androids ทุกรายใส่ NFC เข้าในการผลิตมือถือทุกรุ่นครับ
.
2. การเพิ่ม NFC ลงในอุปกรณ์พกพานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้การวางแผน ความเชี่ยวชาญ และวิศวกรรมที่ละเอียดอ่อน นั่นแปลว่าอุปกรณ์ที่มี NFC จะมีราคาที่แพงขึ้นกว่าปกติ และผู้ผลิตแบรนด์มือถืออาจไม่อยากเพิ่มต้นทุนมากนัก เพราะตลาดมือถือ Android ตอนนี้แข่งกันเดือดสุด ๆ ยกเว้น iPhone ที่ไม่ได้คิดจะแข่งกับใคร ก็ใส่ชิป NFC ในมือถือของตัวเองมาตั้งแต่ iPhone 6 ครับ
.
3. เป็นเหตุผลต่อจากข้อ 2 ที่ NFC ยังไม่ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายในร้านค้าต่าง ๆ เพราะมีใช้งานแค่เฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น นี้จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ผลิตมือถือไม่ได้นำ NFC มาเป็นจุดขายในโทรศัพท์ครับ ซึ่งเราจะเห็น NFC อยู่ในมือถือเรือธงหลาย ๆ แบรนด์เท่านั้นครับ (ยกเว้น SONY ที่ใส่ NFC มาในทุกรุ่นเลย)
.
4. อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะ ด้วยปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นอย่าง QR Code แม้จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า แต่ไม่จำเป็นต้องใส่ชิปหรือเพิ่มต้นทุนใด ๆ และไม่จำเป็นต้องอิงมาตรฐานของ NFC Forum ทำให้มันถูกใช้ได้อย่างอิสระและแพร่หลายมากกว่า และนั่นอาจทำให้ NFC มีผู้ใช้งานอยู่แค่เฉพาะกลุ่มครับ
.
แหล่งข้อมูล
http://nearfieldcommunication.org/history-nfc.html

https://www.androidauthority.com/what-is-nfc-270730/

https://www.paragon-rfid.com/en/the-history-of-nfc/