ไม่รอแล้ว บอร์ดอีวีเดินเครื่อง ปั้นไทยเป็น EV HUB 

เดินหน้าเต็มสูบ คลอดแผนงานหนุนงบวิจัย พัฒนาคน เพิ่มสัดส่วนใช้รถ EV ในไทย ทำให้ EV เป็นอุตสาหกรรมความหวังของประเทศ

อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังไม่สิ้นหวัง แต่กำลังมองหาโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ที่ดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง และฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าได้ในไม่ช้า จากที่เคยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ขนาดใหญ่ของภูมิภาพมาก่อน

หลังจากรัฐบาลแต่งตั้งบอร์ดอีวี หรือ คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ก็ได้เดินหน้าแผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศทันที เร่งดำเนินการใน 3 แผนงาน คือพัฒนากำลังคน เพิ่มสัดส่วนการใช้รถ EV และหนุนงบวิจัย EV ทั้งระบบซึ่งกระทรวง อว. มั่นใจว่าแผนงานทั้ง 3 นี้ จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็น EV HUB ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และไปสู่เป้าหมายการผลิตยานยนต์ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี

..ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนโยบายผลักดันให้ประเทศเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญอันดับหนึ่งของภูมิภาค และ 10 อันดับแรกของโลก

เป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดได้ประกาศนโยบายอว. For EV” เพื่อผลักดันแผนงานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้กระทรวง อว. 3 แผนงานสำคัญ

1.  EV-HRD การพัฒนาทักษะกำลังคน เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การออกแบบ การผลิต การพัฒนาซอฟแวร์ และการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า สถานีบรรจุไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน มีเป้าหมายในการผลิตกำลังคน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 150,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยปี 2567 จะผลิตกำลังคนให้ได้ 5,000 คน มอบหมายให้ สภานโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน

2. EV-Transformation การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานในสังกัด อว. เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย ร้อยละ 30 ของยานยนต์ที่ใช้งานของหน่วยงานภายในระยะเวลา 5 ปี และจัดทำระบบต้นแบบการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของกระทรวง อว. เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของ Green campus โดยมอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นของกระทรวง อว.

3. EV-Innovation การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยปรับปรุงแผนด้าน ววน. ให้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้เป็น Flagships ที่สำคัญของกองทุนส่งเสริม ววน. และเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ โดยมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาร่วมดำเนินการขับเคลื่อนงานวิจัย