ไทยขึ้นนำ 3 ประเทศในอาเซียน หันมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกฏหมาย

ประเทศไทยนำหน้าฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในแคมเปญรณรงค์ปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายในการดำเนินธุรกิจ

บีเอสเอ | พันธมิตรซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) รายงานว่าประเทศไทยขึ้นเป็นผู้นำของภูมิภาคสำหรับผลการดำเนินงานอันยอดเยี่ยมในแคมเปญรณรงค์ที่บีเอสเอจัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในระดับองค์กรให้หมดไป ตั้งแต่เริ่มต้นแคมเปญจนถึงตอนนี้ ปรากฎว่าประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายสูงสุด เมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ต้องขอบคุณการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้นำองค์กรของไทย

นอกจากนี้ บีเอสเอยังรายงานว่าเกือบ 400 องค์กรใน 11 จังหวัดให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย จังหวัดที่มีการเปลี่ยนมาให้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายมากที่สุด ประกอบไปด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทปราการ นนทบุรี และชลบุรี ทั้งนี้แคมเปญดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ และบีเอสเอจะแจ้งผลการดำเนินงานสำหรับประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่เข้าร่วมแคมเปญให้ทราบ ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ที่ทำการเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายคือ โรงงานผลิต บริษัทด้านวิศวกรรม และบริษัทด้านการออกแบบอุตสาหกรรม

“แคมเปญนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีในประเทศไทย เพราะองค์กรธุรกิจตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย และเป็นการดีกว่าหากองค์กรธุรกิจมีการดำเนินการเชิงรุกในวันนี้ ดีกว่ารอให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และปัญหาทางกฎหมาย” นายดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บีเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าว “เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการทำให้องค์กรธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย นอกจากนี้ เรายังเชื่อว่าซีอีโอในประเทศไทยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อการใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายเป็นอย่างดี และยังมีการดำเนินการในเชิงรุกที่ดีกว่าในบางประเทศ”

ทั้งนี้ โครงการ Legalize and Protect ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของบีเอสเอที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ซีอีโอทั้งหลายเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางโลกไซเบอร์ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บีเอสเอได้เปิดตัวแคมเปญ Clean Up to the Countdown เพื่อชักชวนและกระตุ้นให้เหล่าซีอีโอตรวจสอบและทำให้แน่ใจว่าองค์กรของตนเองใช้แต่ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายเท่านั้นก่อนจะถึงปี 2563 โครงการดังกล่าวมีการเปิดตัวในสี่ประเทศหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ ประเทศไทย และเวียดนาม

จนถึงตอนนี้ องค์กรธุรกิจมากกว่า 1,000 แห่งได้ทำการจัดซื้อซอฟต์แวร์โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการทำให้สินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ใช้นั้นถูกต้องตามกฎหมายและลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเผชิญ

บรรดาซีอีโอในอาเซียนได้อนุมัติการจัดซื้อซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมายสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ 6,000 เครื่อง ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บีเอสเอยังระบุว่า องค์กรธุรกิจในเวียดนามและอินโดนีเซียยังคงตามหลังประเทศอื่นๆ ในการปรับเปลี่ยนมาใช้สินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ที่อินโดนีเซียได้มีองค์กรธรุกิจแห่งหนึ่งทำการปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายจำนวนหลายพันเครื่อง ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของแคมเปญนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานต่อแคมเปญขององค์กรธุรกิจในอินโดนีเซียยังถือว่าไม่ดีพอและยังคงเสี่ยงต่อการใช้งานซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย

บีเอสเอคาดว่าระดับการใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายจะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอย่างแน่นอน

เพื่อเป็นการปกป้องตนเองจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ในอนาคต องค์กรธุรกิจสามารถนำแนวทางการปฎิบัติที่ดีด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (SAM) มาใช้เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี การใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายอย่างครบถ้วนยังช่วยองค์กรธุรกิจป้องกันความเสียหายจากการถูกโจมตีด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดการหยุดทำงานของเครื่อง รวมการจัดการสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ไว้ที่จุดเดียว แม้กระทั่งช่วยลดค่าใช้จ่ายเพราะปัจจุบันนี้มีการใช้งานในรูปแบบการสมัครสมาชิกที่มีสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

นายดรุณให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในภูมิภาคอาเซียน เพื่อบังคับใช้กฎหมายกับองค์กรธุรกิจทุกแห่งที่ยังคงละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

ทั้งนี้ นายดรุณยังกล่าวอีกว่า บีเอสเอได้พยายามให้ความรู้แก่ซีอีโอและผู้นำธุรกิจระดับสูงเกี่ยวกับความเสี่ยงของการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและวิธีที่ทำให้ธุรกิจของพวกเขานั้นขาวสะอาดและถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย

“เราพอใจกับความคืบหน้าของการดำเนินงานในปีนี้ แต่ยังมีซีอีโอบางรายจะปรับเปลี่ยนการใช้งานซอฟต์แวร์ในองค์กรของตนให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อพวกเขาเผชิญหน้ากับแรงกดดันอย่างจริงจังจากเจ้าหน้าตำรวจ ดังนั้นเราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรที่เป็นหน่วยงานรัฐอย่างจริงจัง เพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับซีอีโอของบริษัทที่ไม่ยอมปฎิบัติตามกฎหมายต่อไป” นายดรุณกล่าวเพิ่มเติม