กันน้ำเข้า เช็ค มาตรฐาน IP บนมือถือ พร้อมเล่นน้ำ ต้องระดับไหน

มาตรฐาน IP

เทศกาลสงกรานต์ใกล้เข้ามาแล้วนะ ถือเป็นบรรยากาศแห่งความสุขของคนไทยแหละ แน่นอนว่าสมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์คู่กายที่หลายคนพกติดตัวไปทุกที่ รวมถึงในระหว่างการเล่นน้ำสงกรานต์ด้วย

แต่เคยสงสัยไหมว่า มือถือของเรากันน้ำได้แค่ไหน และคำว่ากันน้ำ ที่โฆษณากันนั้นเชื่อถือได้จริงหรือเปล่า Techhub จะพาไปทำความรู้จักกับ มาตรฐาน IP ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการป้องกันฝุ่นและน้ำของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและใช้งานมือถือในช่วงสงกรานต์ได้อย่างสบายใจมากขึ้น

IP Rating คืออะไร

IP ย่อมาจาก Ingress Protection เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้วัดระดับการป้องกันของแข็งและของเหลวที่อาจแทรกซึมเข้าไปในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยจะแสดงด้วยตัวเลข 2 หลักตามหลังคำว่า “IP” เช่น IP68

เลขตัวแรก (0-6) บอกระดับการป้องกันของแข็ง (เช่น ฝุ่น ทราย)

  • เลข 0 ไม่มีการป้องกันเลย
  • เลข 1-4 คือมาตรฐานการป้องกันวัตถุขนาดใหญ่ (น่าจะไม่ได้ใช้กับมือถือ)
  • เลข 5  ป้องกันฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจมีฝุ่นเล็ดลอดเข้าไปได้บ้าง แต่ไม่ส่งผลต่อการทำงานของอุปกรณ์
  • เลข 6 ป้องกันฝุ่นได้อย่างสมบูรณ์

เลขตัวที่สอง (0-9K) บอกระดับการป้องกันของเหลว เช่น น้ำ  โดยตัวเลขนี้สำคัญมากสำหรับสงกรานต์

  • เลข 0 ไม่มีการป้องกันเลย
  • เลข 1-2 ป้องกันหยดน้ำหรือน้ำที่ตกกระทบในแนวเฉียงเล็กน้อย
  • เลข 3 ป้องกัน น้ำสาด จากมุมเฉียงได้ถึง 60 องศา
  • เลข 4 ป้องกัน น้ำสาด ได้จากทุกทิศทาง
  • เลข 5 ป้องกัน น้ำฉีด ที่มีแรงดันต่ำได้จากทุกทิศทาง
  • เลข 6 ป้องกัน น้ำฉีด ที่มีแรงดันสูงได้จากทุกทิศทาง
  • เลข 7 ป้องกัน การจมน้ำชั่วคราว ได้ที่ความลึกไม่เกิน 1 เมตร นานสูงสุด 30 นาที
  • เลข 8 ป้องกัน การจมน้ำแบบถาวร ได้ที่ความลึก มากกว่า 1 เมตร และนานกว่า 30 นาที (เงื่อนไขความลึกและระยะเวลาที่แน่นอนจะแตกต่างกันไปตามที่ผู้ผลิตกำหนด)
  • เลข 9K  ป้องกันน้ำแรงดันสูงและอุณหภูมิสูงได้ แต่มาตรฐานนี้ มักพบในอุปกรณ์อุตสาหกรรม)

IP แบบไหน เหมาะกับการเล่นสงกรานต์

ทีนี้เรามาดูกันว่ามาตรฐาน IP แบบไหนที่เหมาะกับสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงสงกรานต์

1.IP67 กันน้ำชั่วคราว

สามารถป้องกันการตกน้ำในระดับความลึกไม่เกิน 1 เมตร ได้นาน 30 นาที เหมาะสำหรับคนที่อาจเผลอทำมือถือตกน้ำในถัง หรือโดนสาดน้ำใส่แบบเต็มๆ

แต่ก็มีสิ่งที่ควรระวัง  แม้จะกันน้ำได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ควรนำไปแช่น้ำเล่น หรือใช้งานใต้น้ำเป็นเวลานาน การป้องกันนี้มีไว้สำหรับอุบัติเหตุ ไม่ใช่การใช้งานปกติใต้น้ำ เช่น หากเรากำลังถ่ายรูปเพื่อนเล่นน้ำ แล้วพลาดทำมือถือหลุดมือตกไปในถังน้ำ หรือโดนสาดน้ำโดยไม่ทันตั้งตัว ก็มีโอกาสสูงที่จะยังใช้งานได้ปกติ (แต่ควรรีบเช็ดให้แห้งและผึ่งลม)

2.IP68  กันน้ำแบบจมได้

เป็นมาตรฐานสูงสุดที่พบได้ทั่วไปในสมาร์ทโฟนระดับเรือธง สามารถทนทานต่อการจมน้ำได้ลึกกว่า 1 เมตรประมาณ 30 นาที  เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความมั่นใจสูงสุด หรืออาจอยากลองถ่ายรูปใต้น้ำเป็นครั้งคราว

แน่นอนว่า มันก็มีข้อควรระวังเช่นกัน ซึ่งมาตรฐานนี้ทดสอบใน น้ำจืดที่สะอาดในห้องปฏิบัติการ แต่การเล่นน้ำสงกรานต์อาจมีสิ่งปนเปื้อน เช่น แป้ง คลอรีน หรือสิ่งสกปรก ซึ่งอาจส่งผลต่อซีลกันน้ำได้ และก็ไม่ควรนำไปแช่น้ำเล่นเป็นเวลานาน หรือใช้งานอย่างสมบุกสมบันใต้น้ำครับ

แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่รุ่นเรือธงนะ ล่าสุด เห็นแบรนด์หนึ่ง ราคาไม่ถึง 7 พัน สามารถใช้ถ่ายรูปใต้น้ำได้ ไม่บอกหรอก เดี๊ยวหาว่าโฆษณา แบรนด์ขึ้นต้นด้วยตัว T  แต่หากใครใช้ยี่ห้ออื่นอยู่ ก็ลองเอารุ่นไปเช็คกันดูว่า Smartphone เรา รองรับมาตรฐานไหน  หรือถ้าอยากอุ่นใจ ก็ใส่ซองกันน้ำก้นไปครับ

ทั้งนี้ การรู้มาตรฐาน IP ของมือถือช่วยให้เราประเมินความเสี่ยงและใช้งานในช่วงสงกรานต์ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะมาตรฐานไหน การป้องกันไว้ก่อนย่อมดีที่สุด ใช้ซองกันน้ำเมื่อต้องลุยหนักๆ และหลีกเลี่ยงการนำมือถือไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ขอให้ทุกคนมีความสุขและปลอดภัยกับเทศกาลสงกรานต์นี้นะครับ