เด็กไทยสุดเก่ง ใช้ดาต้าวิเคราะห์วางแผนแก้ปัญหาเกษตรกรรมอาเซียน คว้าแชมป์ระดับภูมิภาค การแข่งขัน ASEAN DSE จัดโดยเอสเอพี และ มูลนิธิอาเซียน

  • ทีม Youth Forward จาก โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ทีมมัธยมหนึ่งเดียวของการแข่งขัน โชว์ทักษะการใช้ดาต้าวางแผนแก้ปัญหาสังคม ชูโครงการมุ่งลดช่องว่างในกลุ่มคนทำงานภาคเกษตรกรรม คว้ารางวัลชนะเลิศพร้อมรับเงินรางวัลกว่า 50,000 บาท

เอสเอพี เอสอี (NYSE: SAP) และ มูลนิธิอาเซียน ประกาศผลการแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers (ASEAN DSE) ระดับภูมิภาค ประจำปี 2564 ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 3 อันดับ ได้แก่ ทีม จาก โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ประเทศไทย, ทีม จากสถาบันเทคโนโลยีคีรีรมย์ ประเทศกัมพูชา และ ทีม จาก มหาวิทยาลัยซันเวย์ ประเทศมาเลเซีย โดยการแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์

ผู้ชนะเลิศทั้ง 3 ทีม แสดงความสามารถได้อย่างโดดเด่นในทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและใช้ดาต้าขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals–SDGs) เน้นถึงประเด็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและสร้างความยั่งยืน

ทีม Youth Forward ประกอบด้วย นางสาวรดา ประไพกรเกียรติ และ นางสาวกัญจรีย์ ศุภวิทยา จาก โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ประเทศไทย เป็นทีมผู้ชนะเลิศอันดับที่ 1 การนำเสนอของทีมนี้มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มขีดความสามารถของการทำเกษตรกรรม มุ่งลดช่องว่างในกลุ่มคนทำงานภาคเกษตรกรรม ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มเกษตรกร วางรากฐานสู่อนาคตที่ยั่งยืนของประชาคมอาเซียน ตอบสนอง 3  เป้าหมายของ SDGs ได้แก่ SDG 2 – ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger), SDG 4 – การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) และ SDG 8 – การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth)

ทีม Youth Forward เผยว่า “พวกเรารู้สึกตื่นเต้น และ เป็นเกียรติอย่างมากที่ชนะการแข่งขัน ASEAN DSE ระดับภูมิภาคค่ะ เราไม่ได้คาดหวังมาก่อนเลยว่าจะได้รับรางวัล การแข่งขันครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าจดจำและมีคุณค่าสำหรับพวกเรามากค่ะ เราได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ มากมายที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน จากข้อมูลที่เราวิเคราะห์พบว่าปัญหาหลักของภาคเกษตรกรรมเป็นเรื่องรายได้ของเกษตรกรในอาเซียน นอกจากจะได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่น้อยแล้ว ยังขาดองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้ต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง นำมาสู่ข้อเสนอแนะของเราในการแก้ปัญหา 2 ด้าน คือ 1. สร้างแอปพลิเคชันให้เกษตรกรติดต่อกับผู้บริโภคโดยตรง และ 2. วางแผนสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่กลุ่มเกษตรกรแบบครบวงจร”

“เราอยากเป็นตัวแทนฝากข้อความถึงเยาวชนไทยและเยาวชนทั่วอาเซียนว่า จงกล้าที่จะลุกขึ้นมาและลงมือทำ อยากให้เพื่อนๆ มาเข้าร่วมการแข่งขัน ASEAN DSE ร่วมกันเป็นกระบอกเสียงสะท้อนปัญหาสังคมด้านต่างๆ ให้ทุกคนได้รับรู้ แล้วเสียงของพวกเราจะดังขึ้นอย่างแน่นอน เราพร้อมจุดประกายและสร้างพลังตามคำขวัญของอาเซียนที่ว่า เติบโตไปด้วยกันในฐานะประชาคมอาเซียน ประสานรวมเป็นหนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ และเปลี่ยนแปลงอนาคตของอาเซียนให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ทีม Youth Forward กล่าวเสริม

ทีม Team Sprinkle ประกอบด้วย นางสาว Chakriya Suy และ นางสาว Serei Neath Reasey จาก สถาบันเทคโนโลยีคีรีรมย์ ประเทศกัมพูชา คว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้นำเสนอไอเดียศูนย์รีไซเคิล เพื่อเป็นโซลูชั่นสำหรับการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ครอบคลุมเป้าหมายของ SDGs ได้แก่ SDG 8 – การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth) และ SDG 11 – เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)

ทีม Brain Drain ประกอบด้วย นาย Ryan Kok Lam Liew และ นางสาว Jia Hui Ng จาก มหาวิทยาลัยซันเวย์ ประเทศมาเลเซีย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เลือกหัวข้อที่เกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งครอบคลุมในส่วนของ SDG 12 – การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production)

นางสาวเวเรน่า เซียว ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการของ เอสเอพี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “การแข่งขัน ASEAN DSE ถือเป็นการวางรากฐานทักษะด้านดิจิทัลที่สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เยาวชนทั่วอาเซียนรับมือกับความท้าทายและใช้ประโยชน์จาก เทคโนโลยี เข้ามาช่วยแก้ปัญหาทางสังคม บ่มเพาะความรู้ทางดิจิทัลด้วยการเสริมทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลให้แก่เยาวชนและคณาจารย์ ขยายโอกาสไปสู่กลุ่มเยาวชนผู้เปี่ยมไปด้วยศักยภาพของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างบุคลากรแห่งอนาคต และด้วยความร่วมมือของเอสเอพี กับ มูลนิธิอาเซียน เรามุ่งหวังที่จะเพิ่มขีดความสามารถของประชาคมอาเซียนที่มีความหลากหลาย ผลักดันการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก สรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืน”

ดร. หยาง มี เอ็ง กรรมการบริหารของมูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า “มูลนิธิอาเซียน และ เอสเอพี ต้องการที่จะขับเคลื่อนศักยภาพของเยาวชนในภูมิภาคให้พร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการเติมทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ภายใต้ธีมหลักของการเป็นประธานอาเซียนของบรูไน ในปี 2564 ‘We Care, We Prepare, We Prosper’  โครงการนี้ยังช่วยให้เยาวชนตระหนักถึงความท้าทายที่คนทั่วทั้งภูมิภาคต้องเผชิญและเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นไปด้วยกัน พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อประชาคมอาเซียน เราหวังว่า ความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิอาเซียน และ เอสเอพี จะสามารถสร้างแนวทางให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในอนาคต เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคนรุ่นต่อไปของเรา”

การแข่งขัน ASEAN DSE ระดับภูมิภาค ประจำปี 2564 มีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง Facebook ของมูลนิธิอาเซียน โดยมีผู้เข้าชมมากกว่า 2,200 คน สามารถรับชมวิดีโอถ่ายทอดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศย้อนหลังได้ทางลิ้งก์นี้ bit.ly/regionalfinal2021

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SAP News Center ติดตามเอสเอพีทางทวิตเตอร์ได้ที่ @sapnews