ระเบิดศึกแข่งเขียนโปรแกรมระดับโลก ACM-ICPC World Finals 2016 ที่ภูเก็ต ครั้งแรกในอาเซียน

ACM-ICPC World Finals 2016 การแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับอุดมศึกษานานาชาติที่เก่าแก่ที่สุด รอบ World Finals ระเบิดศึกครั้งแรกในอาเซียนแล้ว โดยจังหวัดภูเก็ตรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปีนี้ ระหว่างวันที่ 15-20 พฤษภาคม ศกนี้

acm-2016-002
พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน ACM-ICPC World Finals 2016 ที่จังหวัดภูเก็ต

โดยพิธีเปิดการแข่งขันมีขึ้นเมื่อเย็นวันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2559 ณ ภูเก็ตแฟนตาซี จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับเกียรติจากพล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธี พร้อมผู้บริหารจาก SIPA, IBM, CAT, Cisco,ตัวแทนจากจังหวัดภูเก็ต, ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมไปถึงผู้บริหารและคณะทำงานจาก ICPC ตลอดจนผู้สนับสนุนการแข่งขันท่านอื่นๆ มาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดการแข่งขันในครั้งนี้กันอย่างพร้อมเพรียง

acm-2016-001

ซึ่ง ACM-ICPC World Finals 2016 นับเป็นครั้งแรกของจังหวัดภูเก็ต และยังเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้รับเกียรติสูงสุดของการเป็นสถานที่จัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมชิงแชมป์โลกรอบสุดท้าย โดยในการแข่งขันครั้งนี้มีทีมจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกผ่านเข้ารอบแข่งขัน 128 ทีม จาก 40 ประเทศ 6 ทวีป รวมถึงตัวแทนจากประเทศไทย 2 ทีม ได้แก่ ทีมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันด้วย

สำหรับทีมจากประเทศไทย ทั้ง 2 ทีม ประกอบไปด้วย

1. ทีม FEDEX นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งประกอบไปด้วย นายธนาพล อนันตชัยวณิช, นายอาริฟ วารัม และนายณภัทร ว่องพรรณงาม ภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร.แสงสุรีย์ วสุพงศ์อัยยะ อาจารย์ที่ปรึษาทีม

2. ทีม CUP Meow Meow นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ สุรฤกษ์

นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาไทย 3 คน ที่เป็นนักศึกษาทุน สสวท. ได้รับทุนการศึกษาโอลิมปิกวิชาการจนจบปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ร่วมทีมมหาวิทยาลัยวิสคอนซินเมดิสัน ในนามตัวแทนจากสหรัฐอเมริกา ประกอบไปด้วย นายกฤติศักดิ์ ไชยกุล, นายทรงวงศ์ ทัศนียพันธ์ และนายอิงครัตน์ รักอำนวยกิจ

ทางด้าน ดร.วิลเลียม เพาเชอร์ ผู้อำนวยการบริหาร ICPC  และศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ กล่าว “เราตื่นเต้นมากที่จะได้เปิดโอกาสให้แก่นักศึกษาที่มากด้วยพรสวรรค์ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความเชี่ยวชาญด้านเทนิคของตนเองในการทดลองแก้โจทย์ปัญหาท้าทายที่ประยุต์จากปัญหาในชีวิตจริงภายใต้สภาพแวดล้อมของการแข่งขันที่กดดัน เรารอคอยที่จะได้พบกับเหล่าโปรแกรมเมอร์รุ่นเยาว์ระดับหัวกะทิที่จะมาแข่งขันกันในภูเก็ต โดยมีไอบีเอ็มเป็นผู้ให้การสนับสนุน และมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเจ้าภาพของงานครั้งนี้”

นอกเหนือจากการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับโลกแล้ว นักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขันจะได้สัมผัสกับเทคโนโลยีล่าสุดจากไอบีเอ็มผ่านทางวิทยากร และเวอร์ชันสาธิตแบบอินเทอร์แอคทีฟของไอบีเอ็มบลูมิกซ์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์ของไอบีเอ็ม รวมถึงไอบีเอ็มวัตสันซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจค็อกนิทิฟ ด้วยการผสมผสานการใช้งานวัตสันบนแพลตฟอร์มบลูมิกซ์ ภายใต้การสนับสนุนจากเอพีไอ (API) ที่ครอบคลุม จึงช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างโซลูชันทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีค็อกนิทิฟได้อย่างรวดเร็ว โดยทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมของคลาวด์แบบไฮบริดที่ปลอดภัย ปัจจุบันมีนักพัฒนารายใหม่ที่เข้ามาร่วมใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 คนต่อสัปดาห์ ทำให้บลูมิกซ์เติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะแพลตฟอร์มซึ่งสามารถเข้าถึงและสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยชุดเอพีไอที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ซึ่งรวมถึงเครื่องมือและบริการเทคโนโลยีค็อกนิทิฟ ข้อมูลแบบไร้โครงสร้าง อินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ DevOps และอื่นๆ

acm-2016-003

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here