นักวิจัยมาเอง แนะเทคนิคใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ดันมาตรฐาน เพิ่มความปลอดภัย

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในปี 2566 มียอดสะสมของยานยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริด และไฮบริดมากกว่า 10,000 คัน ขณะที่ความรู้ด้านการใช้งาน และมาตรฐานความปลอดภัยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC สวทช. ได้เริ่มศึกษาวิจัยและให้บริการทดสอบแบตเตอรี่ลิเธี่ยมสำหรับทั้งปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างถูกต้อง โดยนักวิจัย PTEC ได้แนะนำข้อควรรู้ฉบับขั้นพื้นฐาน เพื่อให้คนที่กำลังสนใจด้านรถยนต์ไฟฟ้าได้รู้ข้อจำกัดต่าง ๆ และเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

: ในสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมขังถนน

เนื่องจากการออกแบบและติดตั้งแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตทุกรายได้ทำการติดตั้งแบตเตอรี่อยู่ใต้ที่นั่งผู้ขับขี่เพื่อให้มีพื้นที่ในห้องโดยสารกว้าง แต่ประเทศไทยในช่วงฤดูฝนมักมีน้ำขังบนถนนในระดับสูง บางครั้งสูงถึงครึ่งคันรถ ดังนั้นการขับผ่านน้ำบ่อยๆ การจอดยานยนต์ไฟฟ้าแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือการใช้งานรถเป็นเวลานาน ๆ หลายปี ผู้ขับขี่ควรหมั่นตรวจสอบเรื่องน้ำ ความชื้น และการเสียหายภายใต้ท้องรถให้บ่อยขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีน้ำรั่วเข้าสู่แบตเตอรี่ได้ 

นอกจากนี้การขับรถข้ามผ่านหลังเต่าที่สูง ๆ การจอดรถคร่อมฟุตบาทและมีการกระแทกใต้ท้องรถอาจทำให้เกิดความเสียหายขึ้นโดยไม่ได้สังเกตจึงควรระมัดระวังให้มาก

: สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับการติดตั้งชาร์จเจอร์แบบใช้ในบ้าน

สำหรับผู้ที่ติดตั้งหัวชาร์จที่บ้าน ควรตรวจสอบขนาดสายไฟฟ้าที่เหมาะสมกับกระแสไฟฟ้าที่จะชาร์จรถ ไม่ควรใช้สายไฟฟ้าที่มีอายุการใช้งานนาน เช่น สายหุ้มเปราะหรือแตกหัก หากกระแสไฟฟ้าเสี่ยงไม่เพียงพอก็ไม่ควรพ่วงต่อสายไฟฟ้าในบ้านเข้าสู่หัวชาร์จโดยตรง 

นักวิจัยแนะนำว่า ก่อนการติดตั้งควรให้ผู้ที่มีความรู้เรื่องการติดตั้งหัวชาร์จ ช่วยทำการประเมินด้านความปลอดภัยทางไฟฟ้าเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานออกข้อแนะนำในการติดตั้งมาให้แล้ว เช่น การไฟฟ้านครหลวง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และควรแยกประเภทหัวชาร์จให้ถูกต้องด้วยว่าแบบใดเหมาะที่จะติดตั้งในบ้าน แบบใดติดตั้งนอกอาคาร เพราะหัวชาร์จแต่ละประเภทมีความสามารถในการต้านทานอุณหภูมิ น้ำฝน และฝุ่นที่แตกต่างกัน

โดยที่ผ่านมา PTEC ได้เปิดให้บริการทดสอบชิ้นส่วนสำคัญในยานยนต์ไฟฟ้าหลายประเภท ตั้งแต่ แบตเตอรี่ลิเธียม ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ ระบบไฟส่องสว่าง หัวชาร์จ และทดสอบ EMC สำหรับยานยนต์ทั้งคัน รวมไปถึงสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า หนุน EV Ecosystem แบบครบวงจรในไทย ที่มีห้องทดสอบด้านหัวชาร์จใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

รวมถึงได้ร่วมมือกับ SGS ประเทศฟินแลนด์ ทำให้ชิ้นส่วนด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ สามารถทดสอบ EMC ได้สะดวก เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ไปได้ไกลขึ้น

#PTEC #รถยนต์ไฟฟ้า #EV #TechhubUpdate #Nstda