เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ธุรกรรม Bitcoin ต่อครั้ง ต้องใช้น้ำระบายความร้อน

[เหรียญมันร้อน] ทุกวันนี้ Bitcoin ก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งเหรียญดิจิตอล (Cryptocurrency) ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด มียอดซื้อขายจำนวนไม่น้อย และจุดนี้เองก็ส่งผลให้เหรียญดิจิตอลนี้ ต้องใช้พลังงานและทรัพยากรที่จำเป็น ในการรันสกุลเงินตัวนี้อยู่พอควร พอควรที่ว่าคือต้องใช้น้ำประมาณสระน้ำหนึ่งสระ

ย้อนไปก่อนหน้านี้ มีการถกเถียงกันว่า Bitcoin กับ Ethereum เป็นสองเหรียญดิจิตอล ที่ต้องใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมากในการประมวลผล ล่าสุดพบกรณีของ Bitcoin ทุก ๆ การทำธุรกรรมแต่ละครั้ง ต้องใช้ทรัพยากรน้ำมากถึง 4,227 แกลลอน

Alex De Vries นักวิทยาศาสตร์จาก DNB ได้เขียนรายงานพิเศษในหัวข้อว่า “Bitcoin’s growing water footprint” ผ่านเว็บ cell.com เผยการทำธุรกรรม Bitcoin อาจส่งผลให้สหรัฐฯ ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดได้เลย หากเหรียญดิจิตอลดังกล่าว ยังคงถูกนำมาใช้งานต่อเนื่อง

สืบเนื่องจากการบำรุงรักษาเซิร์ฟเวอร์ของ Bitcoin ให้ทำงานได้ต่อเนื่องนั้น น้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยระบายความร้อนนี้เอง ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบการใช้น้ำจืดกว่า 8.6 ถึง 35.1 พันล้านลิตรต่อปีในสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 4,227 แกลลอน ต่อการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง ซึ่งเทียบได้กับหนึ่งสระว่ายน้ำ

มีข้อมูลน่าสนใจอีกว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ มีการน้ำจืด 53.1 ถึง 68.4 กิกะลิตร (Gigalitres หรือ GL) ซึ่งทั้งหมดมาจากการใช้เหรียญ Bitcoin และหนึ่ง GL นั้น เทียบได้กับ 1,000,000,000 ลิตร หรือ 264,172,052 แกลลอน !!

ในประเทศคาซัคสถานเอง ก็พบการใช้น้ำจาก Bitcoin ปริมาณมาก ซึ่งมากถึงขนาดที่ประเทศจะขาดแคลนน้ำจืดอย่างมีนัยสำคัญถึง 997.9 GL ภายในปี 2030 กันเลย

ที่ผ่านมาเริ่มมีการหาวิธีดูแลเซิร์ฟเวอร์ Bitcoin แบบอื่น ๆ แทนการใช้น้ำ เช่น การนำตัวเซิร์ฟเวอร์ไปแช่ในของเหลวที่ไม่นําไฟฟ้า หรือใช้ระบบทำความเย็นแบบแห้ง ซึ่งอาจพอช่วยบรรเทาการใช้น้ำจืดได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งก็ต้องรอดูวิธีแก้ไขปัญหากันต่อไป

ที่มา : Tomshardware