เปลี่ยนเราเตอร์ให้กลายเป็น Access Point

ปัญหาเรื่องเน็ตเวิร์กอย่างหนึ่งที่หลายต่อหลายคนต้องเจอก็คือสัญญาณ WiFi ไม่ครอบคลุมทั่วทั้งบ้าน บางทีเข้าไปเล่นในห้องน้ำแล้วสัญญาณไปไม่ถึงบ้างล่ะ เราเตอร์อยู่ชั้น 1 ห้องนอนอยู่ชั้น 3 ใช้เน็ตไม่ได้บ้างล่ะ ซึ่งคำตอบที่ได้จากการไปปรึกษาบรรดากูรูก็คือไปหา Access Point มาใช้งานเพิ่มเพื่อขยายสัญญาณ
แต่จะไปหา Access Point ก็ยากลำบากอยู่เหมือนกัน เพราะนอกจากจะหาซื้อยากแล้ว ราคาของมันยังพอๆ กับเราเตอร์เลย ไหนๆ ก็เท่ากันแล้ว ก็ซื้อเป็นเราเตอร์มาเลยแล้วกันเผื่อเอาไว้ใช้อย่างอื่นในอนาคตด้วย
แต่การนำเราเตอร์มาใช้งานแทน Access Point ก็มีการตั้งค่าที่แตกต่างและต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งด้วย ดังนั้นเราจะมาดูกันว่ามีวิธีการตั้งค่าอย่างไรบ้างเพื่อให้เราเตอร์สามารถนำมาใช้งานเป็น Access Point ได้อย่างสมบูรณ์

1. ตั้งค่า IP ไม่ให้ชนกัน

เราเตอร์ หรือแม้แต่ Access Point นั้นเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งในเน็ตเวิร์ก ซึ่งจะต้องมีหมายเลข IP กำกับอยู่ทุกตัวเช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ และมักจะมีการถูกตั้งค่า IP ตายตัวมาจากโรงงานแล้วอยู่แล้ว โดยจะเป็นประมาณ 192.168.x.1 โดย x นั้นมักจะเป็นเลข 0, 1 หรือ 2 แล้วแต่ยี่ห้อของเราเตอร์ ดังนั้นถ้าหากนำเราเตอร์ 2 ตัวต่ออยู่ในเน็ตเวิร์กเดียวกัน โดยเฉพาะยี่ห้อเดียวกันก็จะเกิด IP ชนกันขึ้นมาทันที เพราะ IP เหมือนกันเป๊ะ
การแก้ไข IP ของเราเตอร์นั้นมีวิธีการดังนี้
101
1. ให้ทำการเชื่อมต่อเข้าไปที่เราเตอร์ผ่านทางบราวเซอร์ ซึ่งเป็นวิธีการมาตรฐานสุดสำหรับการตั้งค่า โดยพิมพ์ในช่อง URL ด้วยหมายเลข IP Address ของตัวเราเตอร์
1022. เราเตอร์ส่วนใหญ่มักจะมีการป้องกันด้วยชื่อผู้ใช้ (ที่มักจะเป็น “admin”) และรหัสผ่านซึ่งอาจจะต้องเปิดคู่มือดูว่ารหัสผ่านที่ตั้งมาจากโรงงานนั้นคืออะไร ในตัวอย่างจะถูกตั้งเป็น Blank คือไม่ต้องใส่
103
3. หาหัวข้อ LAN Setting ซึ่งจะคล้ายๆ กันกับในเราเตอร์แต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ ไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ ซึ่งภายในนั้นจะมีการตั้งค่าเกี่ยวกับ IP ต่างๆ ของตัวเราเตอร์
104
4. การตั้งค่า IP นั้นควรจะตั้งให้อยู่วงเดียวกันกับเราเตอร์หลัก นั่นหมายถึงตัวเลข 3 ชุดแรกจะต้องเหมือนกัน ส่วนตัวเลขชุดสุดท้ายจะต้องต่างออกไป (อะไรก็ได้ตั้งแต่ 2-254) ในที่นี้จะตั้งให้เป็น 254 เพื่อให้ไม่ให้เสี่ยงที่จะชนกับใครเลย เนื่องจากปกติเราเตอร์จะจ่าย IP ไปเรื่อยๆ ตามจำนวนอุปกรณ์ที่เข้ามาเชื่อมต่อ โอกาสที่จะจ่ายไปถึง 254 มีน้อยมากนั่นเอง

2. ปิดการทำงาน DHCP

หลังจากตั้งค่าให้ IP ไม่ชนกันแล้ว คราวนี้ก็มาถึงตา DHCP หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเป็นระบบจ่าย IP ให้กับเครื่องที่มาเชื่อมต่อ ซึ่งเราเตอร์ทุกตัวมักจะมีและเปิดใช้งานจากโรงงานอยู่แล้ว ดังนั้นหากนำเราเตอร์ 2 ตัวมาอยู่ในเน็ตเวิร์กเดียวกัน ก็จะทำให้แย่งกันจ่าย IP และเกิดปัญหาขึ้นทันที ดังนั้นเราต้องปิดระบบ DHCP จากเราเตอร์ตัวอื่นๆ ให้หมด เหลือเพียงแค่ของเราเตอร์หลักเพียงตัวเดียวเท่านั้น
201
1. ทำขั้นตอนเดียวกันกับการแก้ไขค่า IP Address คือเข้าไปตั้งค่าเราเตอร์ผ่านหน้าเว็บ
202
2. มองหาหมวดการตั้งค่าของ DHCP ซึ่งอาจจะใช้ชื่อ DHCP เลย หรืออาจจะอยู่ในส่วนของ LAN Setting ก็ได้เหมือนกัน
203
3. เมื่อเห็นส่วนของ DHCP Server ซึ่งสังเกตไม่ยาก เพราะมักจะมีช่องสำหรับกรอก IP Address หลายๆ ช่องอยู่ด้วย (แต่ไม่ต้องสนใจ IP เหล่านั้น) เมื่อเจอแล้ว ให้ปิดหรือ Disable ซะ แล้วกด Apply เป็นอันเรียบร้อย

3. การตั้งค่า WiFi

การตั้งค่า WiFi นั้นมีอยู่ 2 กรณี คือกรณีที่คุณลากสายแลนจากเราเตอร์ตัวหลักไปต่อกับเราเตอร์ตัวรองที่ซื้อเพิ่มมา โดยต่อจากช่อง LAN ไปยังช่อง LAN ของเราเตอร์ทั้งสอง แบบนี้สามารถตั้งค่า WiFi ได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่สะดวกลากสายและต้องการให้เราเตอร์ตัวรองเป็น WiFi Repeater ซึ่งจะมีความยุ่งยากขึ้นอีกหน่อยก็ต้องเซ็ตค่าแบบ WDS ซึ่งถ้ามีเวลาจะพูดอีกที ตอนนี้เอาแบบลากสายดีกว่า เนื่องจากให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด
301
1. ทำขั้นตอนเดียวกันกับการแก้ไขค่า IP Address คือเข้าไปตั้งค่าเราเตอร์ผ่านหน้าเว็บ
302
2. จากนั้นไปที่หัวข้อ Wireless LAN หรือ WiFi ซึ่งอาจจะมีหัวข้อย่อยๆ อยู่ภายในอีก อันนี้แล้วแต่รุ่นของเราเตอร์ว่าจะออกแบบเมนูมาอย่างไร
303
3. หากเราเตอร์ตัวหลักมี WiFi เหมือนกันและเปิดใช้งานอยู่แล้ว การตั้งค่า WiFi ของเราเตอร์ตัวรองควรจะมีความแตกต่างเพื่อให้รู้ว่าเรากำลังเชื่อมต่อกับเราเตอร์ตัวไหนอยู่ โดยเฉพาะส่วนของชื่อ SSID แต่ส่วนอื่นอย่างการตั้งรหัสผ่าน ยังคงสามารถตั้งค่าให้เหมือนกันได้ครับ

4. กรณีที่เราเตอร์ทั้งสองตัวอยู่ห่างกัน เช่นตัวหลักอยู่ชั้น 1 และตัวที่ซื้อเพิ่มอยู่ชั้น 3 เรื่องของสัญญาณกวนกันไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าวางไว้ข้างกันเลยก็ควรจะตั้งให้ Channel นั้นห่างกันเพื่อลดความตีกันของสัญญาณ หรือปิดตัวใดตัวหนึ่งไปเลยจะดีกว่า

เอาล่ะครับนี่ก็เป็นวิธีการตั้งค่าเราเตอร์ให้มาเป็น Access Point แบบเนียนๆ รับรองว่าไม่มีปัญหา ส่วนใครที่ขี้เกียจเซ็ตเอง จะให้ที่ร้านที่ไปซื้อเซ็ตให้เลยก็สามารถทำได้ แต่ต้องจด IP Address ของเราเตอร์หลักไป และบอกด้วยว่าจะเชื่อมต่อในลักษณะไหน ไม่งั้นร้านเซ็ตให้ไม่ถูกนะครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here