แง้มดูมุมเด่น Excel กับเรื่อง Data และ Chart ตอนที่ 2 : แปลงข้อมูลเป็นตารางได้มากกว่าที่คิด

จากตอนที่แล้วได้เห็นความสามารถของ Excel กับการจัดการข้อมูล ทั้งในเรื่องของการสร้างฟอร์ม การสร้างเงื่อนไขการกรอกข้อมูล สำหรับในตอนนี้มาดูเพิ่มเติมกันต่อนะครับ

เปลี่ยนเป็นตารางได้ประโยชน์มากขึ้น

หลายท่านคงเคยใช้คำสั่งจัดรูปแบบตารางใน Excel นอกจากเป็นการใส่สีสันและเส้นขอบให้แล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกที่อาจจะไม่เคยใช้กันมาก่อนเลย

1. การแปลงข้อมูลให้เป็นตาราง สามารถทำได้สองวิธี คือการแปลงเป็นตารางเฉยๆ กับแปลงพร้อมตกแต่งสีและเส้นขอบ หลังจากที่ปาดเลือกข้อมูลที่ต้องการแปลงเป็นตารางเรียบร้อยแล้ว ให้เลือกไปตรงแท็บ Insert คลิกที่ปุ่ม Table จะเกิดกรอบคำถามว่า ต้องการแปลงข้อมูลเซลล์ไหนบ้างให้เป็นตาราง

แต่ถ้าต้องการแปลงพร้อมใส่เส้น และสีสัน ให้ไปตรงแท็บ Home คลิกเลือกตรง Format as Table เลือกรูปแบบตารางตามต้องการ (รูป 1)

01
รูป 1

2. ตอนนี้จากข้อมูลธรรมดาได้ถูกแปลงเป็นตารางให้เรียบร้อยแล้ว จุดที่อยากให้ไปดูเพิ่มเติมคือส่วนที่ใช้ปรับแต่งเกี่ยวกับตาราง ให้คลิกไปตรงแท็บ Design ของ Table Tools ภายในนั้นมีปุ่มคำสั่งเพื่อใช้จัดการกับตารางอยู่เยอะ ส่วนที่สำคัญๆ มีดังนี้

– Table Name สำคัญมาก ใช้ตั้งชื่อให้กับตารางข้อมูลชุดนี้ เพราะในชีท (Sheet) เดียวกัน อาจมีตารางอยู่หลายๆ ตาราง การตั้งชื่อจะช่วยให้การอ้างอิงข้อมูลถูกตารางมากยิ่งขึ้น เดี๋ยวในตอนหลังจะมีการใช้สูตรที่อ้างอิงกับชื่อตารางมาเป็นตัวอย่างให้ดูกันครับ

– ตรงกลุ่มคำสั่ง Table Style Options มีตัวเลือกว่าให้ตารางแสดงอะไรออกมาบ้าง

– Header Row เลือกเพื่อบอกว่า บรรทัดแรกเป็นหัวคอลัมน์ ไม่ใช่เป็นข้อมูล

– Total Row เลือกให้แสดงบรรทัดสรุปผลด้านล่างสุด

– Banded Rows เลือกเพื่อให้แสดงสีแบบแถวข้ามแถว ทำให้สะดวกต่อการดูข้อมูล

– Banded Columns เลือกเพื่อให้แสดงสีแบบคอลัมน์ข้ามคอลัมน์ ทำให้สะดวกต่อการดูข้อมูล

– First Column และ Last Column เลือกเพื่อให้แสดงข้อมูลที่เป็นคอลัมน์แรกสุด และคอลัมน์ท้ายสุด เด่นชัดสะดุดตา

– Filter Button ดูตรงหัวคอลัมน์ที่มีปุ่มลูกศรชี้ลง ส่วนนั้นเรียกว่า Filter Button เป็นปุ่มที่ใช้คัดกรองให้แสดงเหลือเฉพาะข้อมูลตรงเงื่อนไข (รูป 2)

02
รูป 2

3. มาดูการใช้งาน Filter Button กันครับ วิธีใช้งานไม่ยาก แค่คลิกไปตรงปุ่มลูกศรชี้ลง จะมีตัวเลือกให้เลือกว่า ต้องการเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย หรือเรียงโดยอาศัยสีเป็นตัวแบ่ง ส่วนล่างสุดเป็นเงื่อนไขให้แสดงข้อมูลอะไรบ้าง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับข้อมูลในแต่ละคอลัมน์นั้น ว่ามีข้อมูลอะไร ในตัวอย่างได้กำหนดเงื่อนไขจากคอลัมน์ Position หากต้องการให้แสดงเฉพาะคนที่มีตำแหน่งเป็น Manager ก็ให้เลือกเหลือแต่ manager ไม่ต้องการเลือก Select All (รูป 3)

03
รูป 3

 4. ข้อมูลที่แสดง หากแสดงตามเงื่อนไขที่กำหนด ให้สังเกตดูตรงหัวคอลัมน์จะปรากฏไอคอนการคัดกรองข้อมูลตามเงื่อนไขกำกับอยู่ เพื่อบอกให้ทราบว่า ข้อมูลที่เห็นอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมด แต่เป็นข้อมูลที่ตรงเงื่อนไขแค่นั้น (รูป 4)

04
รูป 4

5. บางท่านมีความเห็นว่า การใช้งาน Filter Button ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ สามารถใช้อีกวิธีหนึ่ง ที่เรียกว่า Slicer โดยให้ไปที่แท็บ Design ของ Table tools คลิกไปตรงปุ่ม Insert Slicer จะเกิดหน้าต่างถามว่า ต้องการเปิด slicer ของข้อมูลคอลัมน์ไหนบ้าง ในตัวอย่างได้เลือกเปิดเฉพาะคอลัมน์ Position กับคอลัมน์ Address (รูป 5)

05
รูป 5

6. ในแต่ละ Slicer ของคอลัมน์ที่เลือกไว้ จะแสดงข้อมูลของคอลัมน์นั้นออกมา หากต้องการคัดดูเฉพาะข้อมูลที่ตรงกับอะไร ก็เพียงแค่คลิกเลือกตรงข้อมูลตามต้องการจาก Slicer ของคอลัมน์นั้น และถ้าต้องการยกเลิกการคัดกรองข้อมูล ให้คลิกไปที่ปุ่มเครื่องหมายคัดกรองพร้อมกากบาทที่อยู่ตรงมุมบนขวาของ Slicer (รูป 6)

06
รูป 6

7. มาดูประโยชน์ของการมี Total Row หลังจากที่กำหนดให้มีปุ่ม Total Row จะอยู่ด้านล่างของตาราง ไม่เกี่ยวกับตาราง จุดสำคัญอยู่ที่แถวซึ่งเป็น Total Row แต่ละคอลัมน์จะมีฟังก์ชันให้คุณพร้อมเรียกใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น Sum, Count, Average, Max, Min หรือจะเรียกใช้ฟังก์ชันตัวอื่นก็ยังได้ (รูป 7)

07
รูป 7
อ้างอิงตารางในการเขียนสูตร

ข้อดีของการสร้างเป็นตาราง ยังช่วยได้มากกับเรื่องของการเขียนสูตร เรื่องสำคัญอย่างที่บอกมาแต่แรก คือควรตั้งชื่อตารางให้พร้อมเสียก่อน เพื่ออะไร? ก็เพื่อใช้อ้างอิงตอนเขียนสูตรที่จะพูดถึงกันในตอนนี้ครับ ตามตัวอย่างได้ตั้งชื่อตารางเป็น Employees

1. ในตัวอย่างได้สร้างคอลัมน์ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย 7% จึงได้ตั้งชื่อคอลัมน์เป็นค่า 7% ไปเลย คือ 0.07

2. วิธีการเขียนสูตรหาภาษี ตามปกติที่เขียนคือ อ้างอิงจากชื่อเซลล์ แต่คราวนี้เมื่อข้อมูลเป็นตารางแล้ว หลังจากที่พิมพ์เครื่องหมายเท่ากับ (=) เพื่อเริ่มพิมพ์สูตร ก็ไม่ต้องอ้างอิงชื่อเซลล์ ให้คลิกไปตรงชื่อคอลัมน์ คือ Salary ได้เลย จากนั้นพิมพ์เครื่องหมายคูณ (*) แล้วไปคลิกตรงชื่อหัวคอลัมน์ .07 สูตรที่ได้จะเป็น =[@Salary]*Employees[[#Headers],[0.07]] เห็นไหมครับ ว่าชื่อตารางมีประโยชน์กันตรงนี้ (รูป 8)

08
รูป 8

3. มาดูกันต่อกับการเขียนสูตรที่อ้างอิงชื่อตาราง ในตัวอย่างจะหาผลรวมของคอลัมน์อะไรสักอย่าง เช่น ผลรวมของคอลัมน์ Salary วิธีการเขียนสูตรได้เริ่มต้นด้วยการพิมพ์ =@sum(ตามด้วยการพิมพ์ตัว e ซึ่งเป็นชื่อตัวแรกของตารางตามที่เราได้ตั้งไว้ให้ พบแล้วตารางชื่อว่า Employees ให้คลิกเลือกตาราง Employees ได้เลย (รูป 9)

09
รูป 9

4. ในขณะนี้สูตรที่ได้จะเป็น =@sum(Employees ให้พิมพ์เครื่องหมาย [ ตามเข้าไป จะปรากฏชื่อคอลัมน์ให้เลือกว่าต้องการหาผลรวมของคอลัมน์อะไร ในตัวอย่างได้เลือกเป็นคอลัมน์ Salary พร้อมกับตบท้ายด้วยการพิมพ์เครื่องหมาย ] และวงเล็บปิด (รูป 10)

10
รูป 10

สำหรับเนื้อหาในตอนหน้า มาติดตามเรื่องของการใช้งานด้านฐานข้อมูลในด้านอื่นๆ อีกครับ รับรองว่าได้ประโยชน์จาก Excel มากกว่าแต่ก่อนอย่างไม่ต้องสงสัย ….สวัสดีครับ

เรียบเรียงโดย นิพนธ์ กิตติปภัสสร
กลับไปอ่านตอนแรกได้ที่นี่ >>> Excel Tips 1 Click <<<

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here