Fintech เทรนด์แห่งโลกอนาคต

ฟินเทค (Fintech) เริ่มกลายเป็นคำที่พูดกันหนาหูในกลุ่มคนใช้เทคโนโลยี นั่นเพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีเริ่มมีบทบาทต่อวงการการเงินในโลกปัจจุบันมากขึ้น ด้วยการผสานเทคโนโลยีเพื่อสร้างแพลตฟอร์มทางการเงินใหม่ ซึ่งไม่เฉพาะแค่ในประเทศ แต่หมายรวมถึงการเงินของทั้งโลกที่สามารถโอนไปมาระหว่างกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด

03
ภาพจาก http://thefinanser.com/2016/04/the-new-fintech-bank.html/

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถูกกระตุ้นด้วยการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซที่ก้าวเข้าสู่ยุคทองทางการค้าแล้วนั่นเอง แต่หากจะปฏิเสธการเรียนรู้หรือใช้งานฟินเทคให้เข้าถึงประโยชน์ของการใช้งานอย่างแท้จริง ก็น่าจะทำให้ระบบการเงินของไทยเสียผลประโยชน์จากการค้าในระบบอีคอมเมิร์ซอย่างประเมินค่าไม่ได้ และนั่นก็ทำให้รัฐต้องเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจัง ก่อนที่เงินจะไหลเข้าไปในระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยที่รัฐไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด

เทรนด์ของฟินเทคได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยการชำระเงินออนไลน์และการโอนเงินไปมาระหว่างกัน เพื่อตอบสนองการใช้งานที่รวดเร็ว สะดวก และง่ายดายในการโอนเงินไปมาระหว่างกันแบบทั่วโลกด้วยเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้จากทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วงการฟินเทคเติบโต ด้วยเพราะตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้งานด้านการเงินของผู้คนทั่วโลก แพลตฟอร์มของการโอนเงินผ่านแอพพลิเคชันที่ประสบความสำเร็จมีให้เราเห็นเป็นตัวอย่าง เช่น Transferwise ของอังกฤษหรือจะเป็น Ondesk ของสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีด้วยความสะดวกในการใช้งาน ความรวดเร็วของการโอนระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าการโอนปกติเป็นอย่างมาก ซึ่งการลงทุนด้านการสร้างแพลตฟอร์มใหม่นี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีไม่น้อยกว่า 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี

การลงทุนดังกล่าวส่งผลให้แนวโน้มการเกิดขึ้นของกระแสฟินเทคในปี 2560 มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น โดยนับตั้งแต่

1. แนวโน้มที่ธนาคารใหญ่จะเริ่มสนใจศึกษาระบบ Blockchain มากขึ้น ซึ่งนับเป็นหัวข้อใหญ่ในปี 2559 นี้ที่มีการพูดถึงแพลตฟอร์มการชำระเงินที่มีอัตราค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ด้วยความสามารถของการลดตัวกลาง แต่เรียกใช้ทรัพยากรแวดล้อมมาใช้งาน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย ทำให้ธนาคารใหญ่เริ่มตื่นตัวในการเรียกหาข้อมูลของระบบ Blockchain มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากเริ่มมีการเคลื่อนไหวจากธนาคาร ทั้งการร่วมทุนเพื่อศึกษาดูงาน หรือแม้กระทั่งการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลและศึกษาบริบทของฟินเทคอย่างจริงจัง โดยธนาคารราว 42 แห่งในทั่วโลกเริ่มมีการใช้งานระบบ Blockchain ในการให้บริการลูกค้านับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

และในปี 2560 เชื่อกันว่า Blockchain จะเริ่มเข้ามามีบทบาททางโครงสร้างการเงินมากขึ้นกว่าการทำเหมืองขุดเงินแบบเดิม ๆ โดยจะได้รับการพัฒนาต่อยอดไปสู่รูปแบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้จ่ายเงิน ด้วยความสามารถของการตรวจสอบและยืนยันตัวบุคคลที่เข้มแข็งขึ้น โดยเชื่อว่าจะเกิดกลุ่มสตาร์ทอัพที่เริ่มผลิตระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อรองรับการใช้งานแพลตฟอร์มนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะควบรวมความสามารถของการตรวจสอบด้านกายภาพของบุคคล เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการชำระเงินมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายเดิมลงหรือลดเวลาของการให้บริการเพื่อความรวดเร็ว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับระบบเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ธนาคารจะต้องเผชิญในปี 2560 นี้อย่างแน่นอน

2. ระบบอีโคซิสเต็มส์ในรูปแบบฟินเทคจะเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ด้วยองค์ประกอบของการเกิดขึ้นของเหล่าสตาร์ตอัพ นักลงทุนที่ให้โอกาสผู้พัฒนาหน้าใหม่ โอกาสของการใช้งานที่มากขึ้น ตลอดจนนวัตกรรมของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ล้วนเอื้อให้เกิดฟินเทคเติบโตได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และก็อย่างที่เห็นว่าผู้ให้บริการแอพพลิเคชันทางการเงินเริ่มเกิดให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าขอบเขตของการให้บริการนั้นจะไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดนอีกต่อไป และด้วยตัวเลขของการสนับสนุนด้านการเงินให้เกิดระบบอีโคซิสเต็มส์ของฟินเทคทั่วโลกมีกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีอยู่ราว 1.2 หมื่นล้านเหรียญ ก็ยิ่งทำให้เชื่อแน่ว่าระบบอีโคซิสเต็มส์นี้จะต้องเข้ามาแทนที่ระบบการเงินแบบเดิม ๆ อย่างแน่นอน

ในปี 2560 เชื่อแน่ว่าการเติบโตของระบบฟินเทคจะเปิดหน้าเพื่อแข่งขันกับระบบการเงินเดิม ๆ ตามแบบฉบับโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นกับหลายนวัตกรรม ด้วยพฤติกรรมของการใช้งานโลกออนไลน์ การทำธุรกิจที่ง่ายขึ้นด้วยเทคโลยีคลาวด์ หรือแม้กระทั่งการเชื่อมต่อระบบที่สามารถเลือกและเปลี่ยนแพลตฟอร์มได้อย่างสะดวก สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเงินอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยนับรวมการขยายขอบเขตการขายเข้าสู่โลกออนไลน์ที่ต้องการความคล่องตัวทางการเงินให้สอดคล้องกับการขายออนไลน์ที่คล่องตัวมากขึ้นนั่นเอง และหากจะยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แวดวงหนังสือเกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบการขายของ Amazon.com ซึ่งทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเลือกซื้อหนังสือจากทั่วโลกได้ภายในเว็บเดียว และนั่นก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ร้านหนังสือที่ไม่สามารถปรับตัวได้กลายเป็นผู้แพ้และล้มหายตายจากไปในที่สุด

3. การเงินออนไลน์จะใกล้ชิดธนาคารมากขึ้น ด้วยความสามารถของบริษัทออนไลน์ที่มีระบบและแพลตฟอร์ม ตลอดจนความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการมาของเทคโนโลยีฟินเทค ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องศึกษาและต่อยอดจากบริษัทเหล่านี้ ซึ่งหากไม่เป็นเช่นนั้น ธนาคารจะกลายเป็นผู้ตามด้านเทคโนโลยีทันที ดังจะเห็นได้จากมีการจับมือเพื่อพัฒนาระบบร่วมกันระหว่างบริษัทการเงินออนไลน์และธนาคารใหญ่หลายแห่งทั่วโลก เช่น JPMorgan Chase ผู้ให้บริการด้านการเงิน การธนาคาร การลงทุน และการบริหารทรัพย์สินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้จับมือกับ Ondesk ผู้ให้บริการการเงินออนไลน์ ซึ่งนับเป็นดีลที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และนับเป็นอีกหนึ่งการยืนยันของทิศทางที่ธนาคารใหญ่ควรจะวิ่งให้ทันนวัตกรรมทางการเงินใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และลบภาพเดิมของการบริการทางการเงินทิ้งเพื่อเข้าสู่ยุคการเงินออนไลน์อย่างทันท่วงที

01
ภาพจาก http://www.investors.com/news/how-will-lending-clubs-problems-affect-2016-fintech-funding/

ขณะที่ในปี 2560 การจับมือกันระหว่างธนาคารและผู้ให้บริการออนไลน์จะเกิดขึ้นเป็นปกติแล้ว ยังจะครอบคลุมไปถึงการให้บริการออนไลน์อื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก ยกตัวอย่างเช่น การให้บริการด้านสุขภาพ การประกัน ตลอดจนระบบการชำระเงินรูปแบบอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกในการชำระเงินภายใต้ความปลอดภัยในการยืนยันตัวบุคคล โดยคีย์เวิร์ดที่สำคัญคือ ‘ความร่วมมือ’ จะมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องในหลากหลายองค์กร เพื่อตอบสนองอีโคซิสเต็มส์แบบฉบับฟินเทค

4. คลื่นลูกใหม่ด้านการเงินจะถาโถม บรัษัทเทคโนโลยีด้านการเงินจะเกิดขึ้นมาใหม่ราวกับดอกเห็ด ด้วยความรวดเร็วของเทคโนโลยีและความพร้อมของโครงสร้างทางอินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงผู้คนทั่วโลก การโอนและชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นและถูกใช้บริการ แน่นอนว่าพื้นที่ของการให้บริการทางการเงินเป็นส่วนสำคัญที่แต่ละประเทศจะต้องปกป้องและควบคุมการไหลเวียนของเงินตราให้ได้ ซึ่งหากไม่สามารถทำได้ก็น่าจะส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของประเทศนั้น ๆ ซึ่งอาจจะกระทบต่อระบบการจัดเก็บภาษีและต่อเนื่องไปถึงงบประมาณในการบริหารและพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไม่สามารถรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีทางการเงินได้นั่นเอง

ทั้งนี้กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับระบบทางการเงินเดิม ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้บริการออนไลน์ที่ครอบคลุมการให้บริการทางการเงินทั่วโลก แม้ว่าในเบื้องต้นจะเป็นเพียงแพลตฟอร์มกลางในการโอนเงินระหว่างประเทศเท่านั้น แต่กระนั้นทิศทางของการให้บริการก็จะเริ่มครอบคลุมการชำระค่าสินค้าและบริการออนไลน์มากขึ้น เมื่อเกิดการรวมตัวกันของระบบอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม ตามการคาดการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

การถาโถมของเหล่าผู้ให้บริการทางการเงินรุ่นใหม่นี้เกิดขึ้นจากจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าผู้ใช้กว่า 87% เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเปลี่ยนบริการทั้งหมดที่ใช้ เข้าสู่ระบบออนไลน์ที่รวดเร็วและง่ายดาย ตามสไตล์การใช้ชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ แน่นอนว่าสมาร์ตโฟนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้คนเหล่านี้ขาดไม่ได้ และเมื่อบริการทั้งหมดถูกควบรวมอยู่ในสมาร์ตโฟน การเดินเข้าสู่ธนาคารเช่นเดิมจึงกลายเป็นเรื่องไกลตัวของคนกลุ่มนี้ และนั่นก็เป็นสิ่งที่ธนาคารต้องให้ความสำคัญ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้นในอนาคต

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 คือประสบการณ์ใหม่ทางการเงินที่จะต่อยอดไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบพฤติกรรมทางการเงินใหม่ แน่นอนว่าเมื่อพฤติกรรมใหม่เกิดขึ้น การปรับตัวของธนาคารหรือแม้กระทั่งผู้ค้ารุ่นใหม่ก็จะต้องปรับตัวเพื่อสอดรับกับการสร้างประสบการณ์ทางการเงินใหม่ให้ผู้ใช้บริการ ซึ่งหากใครต้องการสร้างแบรนด์ออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ การสร้างประสบการณ์ทางการเงินที่ดีให้เกิดความประทับใจย่อมมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จดังกล่าวอย่างแน่นอน

5. เกิดหมวดหมู่ธุรกิจใหม่ เพื่อก้าวข้ามสิ่งเดิม ๆ การกู้ยืมและการชำระเงินจะยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการเกิดขึ้นของนวัตกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตลอดปี 2559 นี้ โดยเชื่อว่าจะเกิดหน่วยธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจทางการเงิน ยกตัวอย่างเช่นการประกันภัย ที่จะเกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อการขายออนไลน์มากขึ้น โดยปัจจุบันจะเห็นธุรกิจการประกันภัยมีการรุกสู่ตลาดออนไลน์ มีการแข่งขันด้านราคาระหว่างโบรกเกอร์ที่ขายบริการประกันภัย ตลอดจนรูปแบบการส่งเคลมที่ง่ายขึ้นกว่า หรือแม้กระทั่งการกู้ยืมหรือจำนองทรัพย์สิน ที่จะเกิดความคล่องตัวในการใช้บริการมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากประเทศอินเดียที่เริ่มมีแอพพลิเคชันการกู้ยืมเงินที่ใช้การตวจสอบสถานะบุคคลจากโลกโซเชียลทั้งเฟซบุ๊ก และ LinkedIn เพื่อกำหนดเพดานการกู้ยืม และลดขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารทางการเงินที่ยุ่งยากในแบบเดิม ๆ นั่นเอง

ทั้งนี้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์อาจจะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการเกิดขึ้นของระบบประกันออนไลน์มากนัก แต่กระนั้นการแข่งขันทางด้านความสะดวกในการเคลมแบบออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางและความสะดวกให้ลูกค้า ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สอดรับกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่นี้อย่างลงตัว แน่นอนว่าตัวอย่างของการเกิดขึ้นนี้ก็มีให้เห็น เช่น แอพพลิเคชัน Claim Di ของกลุ่มสตาร์ตอัพไทยที่เริ่มโด่งดังจากการให้บริการแอพพลิเคชันเคลมประกัน โดยสามารถส่งเรื่องประกันได้ด้วยสมาร์ตโฟนที่มี เพื่อความคล่องตัวในการใช้ชีวิตประจำวันในยามที่เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน

การเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลทำให้การการไหลเวียนทางการเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งลงลึกไปสู่ปัจจัยการดำรงชีวิต แน่นอนว่าการจ่ายหรือชำระเงินรูปแบบเดิม ๆ จะเริ่มกลายพันธุ์เข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการประกันรูปแบบใหม่ สามารถเปิด-ปิดบริการได้ตามต้องการได้จากแอพพลิเคชัน โดยสามารถเลือกเปิดเฉพาะช่วงเวลาที่ใช้งานเท่านั้น นับเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง เพราะเกี่ยวเนื่องกับการคิดค่าบริการการประกันภัยที่สามารถแปรผันตามการใช้งานได้ทันที

ขณะที่การบริการหมวดหมู่ใหม่ในปี 2560 จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยความร่วมมือของผู้ให้บริการในหลากหลายด้าน จะเริ่มเข้าสู่แพลตฟอร์มการเงินออนไลน์มากขึ้น และแน่นอนว่านวัตกรรมดังกล่าวจะมีส่วนส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์การใช้งานที่ดี ซึ่งสะท้อนไปสู่การสร้างสร้างดิจิทัลแบรนด์ที่ดีของตัวสินค้าเองในอนาคต และธนาคารก็จะเริ่มเข้าใจในโครงสร้างบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น และเริ่มเปิดให้บริการเพื่อเชื่อมต่อระบบทางการเงินให้กับผู้ให้บริการสินค้าได้เชื่อมต่อระบบ เพื่อพร้อมเข้าสู่การให้บริการยุคดิจิทัลมากขึ้น แน่นอนว่าในอนาคตข้างหน้า การเปิดแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมต่อบริการของธนาคารย่อมหมายถึงการดึงดูดลูกค้าของผู้ให้บริการเข้ามาเป็นลูกค้าของธนาคารด้วยเช่นกัน และที่สำคัญการเชื่อมต่อดังกล่าวจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดสังคมฟินเทคที่สำคัญทั้งกับธนาคารเองและผู้ใช้บริการที่เป็นทั้งหน่วยธุรกิจและลูกค้าธนาคารทั้งหมดนั่นเอง

ทั้งนี้ จากเทรนด์ฟินเทคทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การเกิดขึ้นของฟินเทคมีส่วนสำคัญของการผลักดันให้เกิดระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดสไตล์การใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่าการให้บริการไม่ได้ถูกจำกัดด้วยสถานที่ เวลา หรือรูปแบบบริการ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หากแต่การบริการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องเน้นที่ความสะดวกในการเข้าถึงบริการ การชำระเงินที่ง่ายดายสอดรับกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ของผู้ใช้บริการ ความยืดหยุ่นที่เข้ากันดีกับบุคลิกเฉพาะตัวของบุคคล ตลอดจนการไร้ขีดจำกัดด้านสถานที่ของการใช้งาน โดยจะต้องใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา ขอเพียงมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้นก็พอ หรือแม้กระทั่งความปลอดภัยที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อกล่าวถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นั่นเอง ด้วยการผสานการรักษาความปลอดภัยทั้งด้านกายภาพและเทคโนโลยีให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคมั่นใจในการใช้งานและกล้าที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่พฤติกรรมยุคดิจิทัลมากขึ้นนั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า ฟินเทคเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะช่วยผลักดันให้ธนาคารได้เข้าใกล้เป้าหมายทางเทคโนโลยีมากขึ้น จากเดิมที่ไม่มีความเชี่ยวชาญก็จะต้องใช้ความร่วมมือเพื่อสร้างการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมในการให้บริการในอนาคต แต่หากธนาคารยังคงเมินเฉยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กระแสของคลื่นลูกใหม่ในนามฟินเทคก็อาจจะกลืนกินจนธนาคารนั้น ๆ ล้มหายตายจากไปจากแวดวงทางการเงินก็เป็นได้ ซึ่งสิ่งสำคัญของทุกธุรกิจคือการปรับตัว ปรับปรุงบริการ เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ดีให้เกิดขึ้นมากกว่าคู่แข่ง และครั้งนี้ก็เช่นกัน นับเป็นความท้าทายที่ไม่ว่าธนาคารจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม ฟินเทคก็จะยังคงเข้ามาแทรกแซงและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ธุรกรรมทางการเงินของผู้คนสมัยใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

ข้อมูลจากนิตยสาร Eleader ฉบับเดือนสิงหาคม 2559

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here