ไขปริศนาโรคใหม่ มหิดลลุยสร้างฐานข้อมูลชีวภาพ ทำแผนที่เซลล์มนุษย์ เปิดให้เข้าถึงได้

หนึ่งในเหตุผลที่คนไม่สามารถเอาชนะโรคร้ายได้ทันที เป็นเพราะขาดข้อมูลพื้นฐานทางชีวภาพที่จะช่วยค้นหาคำตอบที่เพียงพอ ชัดเจน และแม่นยำ

ในยุคที่โรคติดเชื้อกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะโรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) หรือโรค COVID-19 งานวิจัยทางการแพทย์หลายโครงการต้องล้มพับไปเพราะมีข้อมูลวิจัยที่ไม่เพียงพอ

ความหวังของการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) กำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลตัดสินใจรวมทีมนักวิทยาศาสตร์ เดินหน้าสร้างฐานข้อมูลชีวภาพเพื่อไขปริศนาโรคแห่งยุคสมัยอย่างจริงจัง กลายเป็นความหวังที่จะทำให้ไทยและประเทศเครือข่าย ได้มีฐานข้อมูลชีวภาพเป็นฐานข้อมูลกลางของตัวเอง

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ฐานข้อมูลทางชีวภาพที่ดีที่สุด คือฐานข้อมูลที่สร้างขึ้นมาเองจากคนในท้องถิ่น ที่ทำนายโรคได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลกลางที่สามารถใช้ศึกษาร่วมกันได้ โดยใช้ Single-cell omics technology หรือ “เทคโนโลยีโอมิกส์ระดับเซลล์” เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างทางพันธุศาสตร์ ใช้สร้างแผนที่ความหลากหลายทางภูมิคุ้มกันโรคของคนเอเชีย ในโครงการ Asian Immune Diversity Atlas (AIDA)

โครงการนี้จะทำให้ได้ข้อมูลทางพันธุศาสตร์ คนเอเชีย ที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แต่ยังมีข้อมูลทางพันธุศาสตร์ปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับยุโรปและอเมริกา เป็นความหวังที่จะเชื่อมต่อเข้ากับโครงการระดับโลกที่ชื่อว่า แผนที่เซลล์มนุษย์ (Human Cell Atlas) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเก็บข้อมูล

งานวิจัยครั้งนี้ ไทยได้ร่วมมือกับพันธมิตรจาก 8 ประเทศ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน และ รัสเซีย นำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ และโรคมะเร็ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อ และภูมิแพ้ และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาพันธุศาสตร์และชีวสารสนเทศทางการแพทย์

ร่วมเป็นกำลังใจ และติดตามภารกิจสร้างฐานข้อมูลชีวภาพไขปริศนาโรคแห่งยุคสมัย ได้ที่ Facebook: ICBS – Integrative Computational BioScience center, Mahidol University

รายละเอียดโครงการวิจัยและทุนที่ได้รับ

Immune Cell Atlas of Asian Populations

เครดิตภาพ https://www.broadinstitute.org/research-highlights-human-cell-atlas

#TechhubUpdate