NECTEC และ SIPA จับมือ 4 พันธมิตรขยายผลการใช้งานระบบ PHR ในระดับจังหวัด

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน จาก 3 กระทรวง ขับเคลื่อนขยายผลการใช้งานระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล หรือ Personal Health Record (PHR) เพื่อให้เกิดการใช้งานในระดับจังหวัด

nectec-and-sipa-phr
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการใช้งานระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล Personal Health Record : PHR

ระบบข้อมูลส่วนบุคคล หรือระบบ PHR นี้ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลและโรงพยาบาลกับหน่วยงาน เกี่ยวกับสาธารณสุขของประชาชนในแต่ละจังหวัด อาทิ ข้อมูลทั่วไป ประวัติการรักษาที่ผ่านมา การแพ้ยา รวมถึงนำเข้าข้อมูลการดูแลสุขภาพของแต่ละบุคคล การออกกำลังกาย ผลการตรวจร่างกาย ช่วยให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองระหว่างรอการพบแพทย์ครั้งหน้า และเปรียบเทียบและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ได้ด้วย สามารถบริหารข้อมูลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวอย่างเป็นระบบ สามารถติดตามและบริหารนัดพบแพทย์ได้ เป็นต้น โดยข้อมูลถูกออกแบบให้รวบรวมไว้ใน PHR Data Center ของแต่ละจังหวัด ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลาโดยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ Tabletหรืออุปกรณ์ Smart Devices

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลที่มาของระบบ PHR เริ่มต้นการพัฒนาโดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า และ ความร่วมมือกับจังหวัดนครนายก โดยสาธารณสุขจังหวัดนครนายก พัฒนาออกมาเป็นระบบต้นแบบและทดลองนำร่องใช้งานจริงใน 4 อำเภอของจังหวัดนครนายก ครอบคลุมโรงพยาบาลนครนายก โรงพยาบาลชุมชน 3 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 56 แห่ง ก่อนการใช้งานประชาชนลงต้องทะเบียนเข้าใช้งานระบบกับนักจัดการสุขภาพของหน่วยบริการในพื้นที่รับผิดชอบ

โครงการระบบ PHR ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสารสนเทศด้านสุขภาพที่มีการสร้างมาตรฐานโครงสร้างข้อมูล สามารถส่งต่อให้บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์นำไปต่อยอดและขยายผลในอนาคตต่อไป ซึ่งระบบ PHR มีฟังก์ชันได้หลากหลายตามขอบเขตการใช้งาน เช่น Software Platform, Open Technology, Database Management System, คลังข้อมูล, Big Data Analytics, Intelligent Search, Visualization, Cloud System, และ Machine Learning และการพัฒนาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Wearable Devices ในอนาคต

nectec-and-sipa-phr-1
นายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ SIPA

ด้านนายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล หรือ PHR เป็นการพัฒนาระบบการบริการซอฟต์แวร์สำหรับภาคประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของประชาชนในพื้นที่ได้ตรงจุด ทำให้การดูแลสุขภาพ และการติดตามการรักษาพยาบาลได้ตลอดเวลา ในการดำเนินโครงการระยะนี้ ซิป้าสนับสนุนการสร้างแอปพลิเคชันที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำไปต่อยอดได้

โดยหวังว่าจะมีแอปพลิเคชันด้านสุขภาพ หรือ Healthcare มาให้ประชาชนเลือกใช้มากขึ้น และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศให้มีการเติบโต จนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งผลิตซอฟต์แวร์ด้านสุขภาพที่ดีได้ต่อไป สำหรับการดำเนินขณะนี้อยู่ในระยะที่ 3 ที่ ตั้งเป้าหมายขยายผลการใช้งานไม่น้อยกว่า 3,000 ราย ใน 4 จังหวัดคือ ภูเก็ต ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ และ กาญจนบุรี

สำหรับความร่วมมือของ 4 สาธารณสุขจังหวัดภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ ช่วยสนับสนุนในเรื่องการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสุขภาพของสาธารณสุขจังหวัด หรือ Health Data Center มาที่ระบบ PHR ที่ทางทีมงานได้ทำการออกแบบระบบไว้ สนับสนุนให้มีการอบรมนักจัดการสุขภาพของจังหวัดและขยายผลโดยเปิดระบบให้ประชาชนเข้ามาใช้ระบบ

ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ เนคเทค และ SIPA คาดหวังว่า จะมีประชาชนใน 4 จังหวัดนี้ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองและใช้ระบบ PHR นี้เต็มที่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการขยายผลการใช้งานไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศในอนาคตอันใกล้นี้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here