รีวิว Nokia 8 เดินหน้าท้าลุยตลาดสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์

การกลับมาของ Nokia ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากให้ความสนใจและติดตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับแบรนด์ระดับตำนาน ซึ่งนับตั้งแต่เปิดตัว Nokia 3, Nokia 5, Nokia 6 คงกล่าวได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนในระดับกลาง ๆ แต่สำหรับ Nokia 8 ที่ผมนำมารีวิวครั้งนี้ จัดให้เป็นสมาร์ทโฟนในระดับไฮเอนด์ ซึ่งราคาที่เกือบ ๆ แตะหลักสองหมื่นแล้ว ยังมีอะไรที่น่าสนใจจนเราต้องยอมควักเงินไปซื้อ มาติดตามกันเลยครับ

รีวิว Nokia 8

สเปค Nokia 8 มีดังนี้

  • หน้าจอ IPS ขนาด 5.3 นิ้ว ความละเอียด QHD 2560 x 1440 พิกเซล, กระจกหน้าจอ Corning Gorilla Glass 5
  • รองรับ 2 ซิมการ์ด ประเภท Nano SIM
  • ระบบปฏิบัติการ Android 7.1.1 Nougat
  • ชิพประมวลผล Qualcomm Snapdragon 835 Octa-Core ความเร็ว 2.5GHz
  • แรม 4GB, หน่วยความจำภายใน 64GB รองรับ microSD Card ความจุสูงสุด 256GB
  • กล้องหลังคู่ เลนส์ ZEISS ความละเอียด 13 ล้านพิกเซล, รูรับแสง f/2.0, แฟลชคู่ Dual LED, ระบบ Auto Focus, สนับสนุนการถ่ายวีดีโอที่ความละเอียดสูงสุด 4K
  • กล้องหน้าความละเอียด 13 ล้านพิกเซล, รูรับแสง f/.20
  • ระบบสแกนลายนิ้วมือที่ปุ่มโฮม
  • พอร์ต USB Type-C 3.1, ช่องต่อหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร
  • แบตเตอรี่ความจุ 3090 mAh พร้อมเทคโนโลยีชาร์จเร็ว
  • ราคา 19,500 บาท

ตัวเครื่อง

สามคำจำกัดความที่ผมขอมอบให้กับดีไซน์ Nokia 8 คือ “บาง เรียบ หรู” เริ่มที่ “ความบาง” ตัวเครื่องมีความบางเป็นพิเศษครับ ขนาดเพียง 7.9 มิลลิเมตรเท่านั้นครับ อย่างที่สอง “เรียบ” จากตัวเครื่องด้านหลังแถบไม่มีรอยต่อใดให้เห็นเลย ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นรูปในลักษณะที่เรียกว่า Unibody นั่นเอง และสุดท้าย “หรู” จากวัสดุด้านหน้าที่เป็นกระจกกับด้านหลังที่เป็นโลหะ เมื่อผสมผสานกันแล้วค่อนข้างให้ความรู้สึกถึงความหรูหราครับ พื้นผิวน่าจับต้อง แม้อาจจะดูเป็นดีไซน์ที่คล้าย ๆ กับสมาร์ทโฟนจำนวนมากในปีนี้ก็ตาม

จากการหยิบตัวเครื่องแบบเพียง ไม่สวมเคสใด ๆ ผมยอมรับตรงนี้เลยครับว่า ค่อนข้างรู้สึกกลัวหลุดจากมือพอสมควรครับ เนื่องจากตัวเครื่องที่มีความบางเป็นพิเศษ ประกอบความลื่นของโลหะด้านหลัง จึงไม่ค่อยกระชับนักเวลาหยิบถือด้วยมือเดียวครับ

สำหรับตำแหน่งปุ่ม หรือพอร์ตต่าง ๆ ไม่ได้มีอะไรแปลกพิศดารครับ ถาดใส่ซิมเป็นแบบไฮบริด หากต้องการใส่ซิมเดียว พร้อม microSD Card ก็ทำได้ หรือจะเป็นสองซิมทีเดียว ไม่ใช้ microSD Card ก็ทำได้เช่นกัน,
ส่วนพอร์ต USB ก็ต้องสมกับความเป็นไฮเอนด์หน่อยด้วยการใช้ USB Type-C 3.1, ตำแหน่งปุ่ม back อยู่ด้านซ้าย กับ Recent app อยู่ด้านขวา ขนาบข้างกับปุ่มโฮมที่เป็นสแกนลายนิ้วมือในตัวเอง และใน Nokia 8 ยังมีช่องต่อหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรครับ

กล้องหลังคู่ พร้อมเลนส์ ZEISS

ลักษณะการเรียงของกล้องหลังคู่จะเป็นในแนวตั้ง แบ่งเป็นเซนเซอร์ที่รับสี RGB และเซนเซอร์ Monochrome ที่เก็บภาพขาวดำ ซึ่งทั้งสองเลนส์ใช้เทคโนโลยี ZEISS สามารถถ่ายภาพแบบโบเก้หรือหน้าชัดหลังเบลอได้ผ่านโหมด “ไลฟ์โบเก้” ซึ่งโหมดนี้จะอยู่แถบด้านล่าง (เหนือจากปุ่มถ่ายภาพ) ซึ่งเราสามารถตั้งถ่ายภาพโบเก้ตั้งแต่ก่อนเริ่มถ่าย หรือจะปรับหลังจากถ่ายเสร็จแล้วก็ได้เช่นกัน นอกจากไลฟ์โบเก้แล้ว ยังมีโหมด Manual, พาโนรามา และทัชอัพ ไว้ให้ลองใช้อีกด้วย

UI ของกล้องหลังถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย แถบเมนูด้านบนนอกจากโหมดสลับกล้องหน้า-หลัง, ตั้งเวลาถ่ายภาพ, HDR และตั้งค่าแฟลชแล้ว ยังมีโหมดเลือกใช้เลนส์ โดยจะมีบอกว่าหากเลือกใช้เลนส์เดี่ยวจะเป็นภาพสี หรือเลนส์เดี่ยวเพื่อใช้สีขาวดำ หรือจะเลือกใช้กล้องคู่พร้อมกันก็ได้

อีกกหนึ่งจุดเด่นของกล้องถ่ายภาพที่ Nokia พยายามนำเสนอ นั่นคือ “Bothie” การถ่ายภาพหรือถ่ายวีดีโอแบบเปิดกล้องหน้า + กล้องหลังพร้อมกัน และยังสามารถเปิดใช้เป็นแบบ Facebook Live หรือ YouTube Live ได้ด้วย

จากความรู้สึกที่ผมได้ลองเล่นโหมดต่าง ๆ รู้สึกได้ชัดเจนครับว่าขาดสีสันและบางโหมดไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ ยกตัวอย่าง การเลือกใช้เลนส์เดียวเพื่อแยกเก็บภาพสีอย่างเดียว ภาพที่ปรากฏออกมาจะค่อนข้างซีดจางครับ

สำหรับกล้องหน้ามาพร้อมความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ซึ่ง UI จะคล้ายกับกล้องหลังครับ

ตัวอย่างภาพถ่าย

ภาพจากโหมดไลฟ์โบเก้

ภาพเปรียบเทียบระหว่างการใช้กล้องหลังคู่ กับกล้องเดี่ยว
ภาพถ่ายจากการใช้กล้องหลังคู่

ภาพสีจากกล้องเดี่ยว

แบตเตอรี่

จากการปล่อยให้อยู่ในโหมด Standby ถืือว่าอยู่ได้หลายวันเลยครับ หรือการใช้งานทั่วไป ไม่เน้นเล่นเกมก็จัดว่าอยู่ได้เกือบ 2 วัน นอกจากนี้ยังมีโหมดประหยัดพลังงานมาให้เลือกใช้ด้วยครับ

Pure Android

ความชัดเจนของ Nokia นับตั้งแต่หันมาใช้ระบบปฏิบัติการหุ่นเขียวอย่างเต็มตัว คือ “Pure Android” ไม่มีการปรับแต่งหรือครอบทับด้วย UI ใด ๆ โดยเป็นความต้องการของทาง HMD Global เพื่อผู้ใช้จะได้สัมผัสกับประสิทธิภาพของ Android ได้อย่างเต็มที่ การันตีว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนในลำดับต้น ๆ ที่จะได้ไปต่อกับ Android ในเวอร์ชั่นใหม่ ๆ อีกอย่างน้อย 2-3 รุ่นครับ ดังนั้นสีสันหรือลูกเล่นจึงแทบไม่มีให้เห็น ซึ่งในมุมหนึ่งอาจถูกใจหลายคน แต่ก็เชื่อว่าก็บางคนที่ไม่ค่อยชอบ Android ในแบบนี้เท่าไหร่

รีวิว Nokia 8 กับบทสรุป

ในความรู้สึกส่วนตัวผมเชื่อว่าชื่อของ Nokia ยังขายได้ครับ ดีไซน์ตัวเครื่องถือว่าไม่ขี้เหร่ ไม่ได้ล้ำมาก จัดว่าทันสมัยตามสไตล์สมาร์ทโฟนยุคนี้ เพียงแต่ยังไม่สามารถก้าวขึ้นไปชนกับพวก iPhone 8 หรือ Samsung Galaxy Note 8 ได้

แต่ถ้าผู้อ่านเป็นหนึ่งในผู้ที่หลงใหลแบรนด์ Nokia มาตั้งแต่ไหนแต่ไร การมาของ Nokia 8 กับความเป็น Pure Android ก็นับว่าน่าสนใจครับ เลือกซื้อได้ตามในใจครับ