Oon IT Valley ชุมชมไอทีแห่งล้านนา เสริมศักยภาพ SMEs StartUp และเกษตรกร ต่อยอดสู่ Smart City

หากใครที่รู้สึกว่าไอทีเป็นเรื่องไกลตัวคงต้องคิดใหม่ เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีจำนวนมากกำลังก้าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงในวงการอุตสาหกรรมทุกแขนง ไม่เว้นแม้กระทั่งด้านเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย Oon IT Valley ถือเป็นชุมชนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีการผสมผสานเรื่องของไอทีเข้ากับวิถีชีวิตในแบบล้านนา เป็นแหล่งบ่มเพาะ สร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาให้กับ SMEs, StartUp, และเกษตรกร ให้มีความรู้ สามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปส่งเสริมการทำเกษตรกรรม เพื่อก่อให้เกิดรายได้ที่มากขึ้นและยั่งยืน

เมื่อพูดถึง Oon IT Valley คนส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นชื่อกันเท่าไหร่ ซึ่งต้องขอเล่าเป็นเกร็ดความรู้กันเล็กน้อย Oon IT Valley เป็นโครงการที่ตั้งอยู่ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มต้นโครงการเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 59 ก่อตั้งโดย คุณวิโรจน์  เย็นสวัสดิ์ ผู้บริหารจากบริษัท โปรซอฟท์ ภายใต้แนวคิด “ร่วมแรงและแบ่งปัน” มีเป้าหมายในการสร้างงานด้านไอทีให้กับชุมชน เพิ่มขีดความสามารถเพื่อการเแข่งขันให้กับ SMEs, StartUp, และเกษตรกร ให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, มหาวิทยาลัยในพื้นที่, หน่วยงานของเอกชน ในการผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการศักยภาพให้สามารถแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

คุณวิโรจน์ เย็นสวัสดิ์ ผู้บริหารจากบริษัท โปรซอฟท์ ผู้ก่อตั้ง Oon IT Valley

ภายในพื้นที่ Oon IT Valley มีการจัดสร้าง Innovation Center ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง จะแล้วเสร็จประมาณวันที่ 30 เมษายน ก่อจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ภายใต้พื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร จะเป็นพื้นที่ที่ให้กับบริษัท Tech StartUp ในการดำเนินงานสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยในระยะเริ่มแรกจะมี Tech StartUp เข้ามาร่วมปักหลักที่ Innovation Center จำนวน 12 บริษัท ซึ่งประเภทของบริษัท Tech StartUp ได้แก่ บริษัทด้านการพัฒนาเทคโนโลยี IoT, Smart Farm, GPS Tracking และพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น

หัวใจสำคัญของ Innovation Center  คือ พื้นที่แห่งการสร้างโอกาส สร้างคนและสร้างงานให้เกิดขึ้นกับคนต่างจังหวัดให้เข้าถึงแหล่งงานที่มีคุณภาพ ซึ่งงานประเภท BPO (Business Process Outsourcing) จะช่วยลดความเลื่อมล้ำทางสังคม ทุกคนสามารถทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้จากทุกที่ โดยกลุ่มงานที่ทาง Oon IT Valley ได้เตรียมไว้รองรับคนต่างจังหวัด ประกอบไปด้วย

– งานวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์

– E-Commerce

– E-Marketing

– IT Outsourcing

– Call Center

Oon IT Valley เปรียบเสมือนชุมชนไอทีแห่งการแบ่งปันเพื่อ SMEs ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท โปรซอฟท์ ในการแบ่งปันซอฟต์แวร์ทางด้านบัญชีมาให้บริษัท Tech StartUp ได้ใช้งานฟรี เป็นเวลา 2 ปี หรือจนกว่าจะสามารถตั้งตัวได้ ขณะเดียวกันภายในพื้นที่ Oon IT Valley ยังมีส่วนที่เรียกว่า “Dutch Farm” แหล่งท่องเที่ยวที่สามารถให้คนทั่วไปได้ใกล้ชิดกับสัตว์นานาชนิด มีระบบ iBeacons เทคโนโลยีการบอกตำแหน่งและส่งข้อมูลโดยตรงไปยังสมาร์ทโฟน เพื่อสื่อสารให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมไปถึงเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าเกษตรอินทรีแปรรูปของเกษตรกรได้เข้าขายสินค้าของตนเองได้ฟรี โดยไม่คิดค่าเช่า แต่ทาง Oon IT Valley จะเป็นผู้ควบคุม ให้ความรู้ในเรื่องของการนำระบบไอทีต่างๆ ไปใช้ให้ในการบริหารจัดหารสินค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร

ส่วนแสดงสัตว์นานาชนิดภายใน Dutch Farm

นอกจากเรื่องของไอทีแล้ว ภายใน Oon IT Valley ยังมีส่วนที่เรียกว่า “Oon Academy” ศูนย์ฝึกฟุตบอลสำหรับเยาวชน เสริมสร้างทักษะการเล่นฟุตบอลตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ปลูกฝังประสบการณ์ภายใต้การใช้ชีวิตและการอยู่ร่วมกับสังคม

สุดท้ายเป็นเรื่องของโรงแรมที่พัก ซึ่งเป้าหมายของการก่อสร้างโรงแรมใน Oon IT Valley  ไม่ได้มองเรื่องของธุรกิจเป็นสำคัญ แต่มีจุดประสงค์ คือ การเป็นแหล่งพบปะของคนไอทีได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับคนต่างจังหวัด

ในด้านของความร่วมมือทาง Oon IT Valley ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินโครงการ “Smart Farm” เป็นการพัฒนาทั้งในส่วนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อเสริมศักยภาพให้กับอาชีพของเกษตรกรรายย่อย เป็นเครื่องมือที่มีราคาถูก เกษตรกรสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ง่าย โดยภายใน Oon IT Valley มีนาข้าวทดลองที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาส่วนช่วยในการเพาะปลูก เช่น เซนเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศ ที่สามารถให้ข้อมูลของสภาพแสงแดด, ความเร็วลม, ความกดอากาศและความชื้นของอากาศ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้กำลังมีวางแผนพัฒนาเซนเซอร์ตัวใหม่เพื่อเข้ามาใช้ในการปลูกข้าวแบบน้ำน้อย เป็นการปลูกข้าวในลักษณะเปียกสลับแห้ง ที่จะช่วยประหยัดการใช้น้ำในนาข้าวได้ถึง 70% สามารถเพิ่มผลผลิต 30% ประหยัดเวลาได้มากขึ้น และลดการเกิดโรคในนาข้าว โดยเซนเซอร์ต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้คิดค้นขึ้นจะสามารถรายงานข้อมูลมายังแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนและซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์ได้ ผ่านการเชื่อมต่อด้วยระบบ 3G / 4G ได้แบบเรียลไทม์

นาข้าวทดลองภายใน Oon IT Valley
เซนเซอร์ตรวจวันสภาพอากาศภายในนาข้าวทดลอง
แผงโซลาร์เซลล์ภายในนาข้าวทดลอง

เมื่อเซนเซอร์ต่างๆ ทำการเก็บข้อมูล ผลลัพธ์จะถูกส่งมายังซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชัน เพื่อรายงานความเป็นไปที่เกิดขึ้นในนาข้าวแบบเรียลไทม์

ทั้งนี้จากโครงการทั้งหมดภายใน Oon IT Valley ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานของภาครัฐ อย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, หน่วยงานเอกชน บริษัท โปรซอฟท์, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs, StartUp, และเกษตรกร ให้มีความรู้ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้าและบริการให้มีขีดความสามารถของการแข่งขันภายใต้สภาวะที่มีการแข่งขันสูง สามารถพึ่งพาตนเองและสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน เป็นรากฐานที่จะต่อยอดสู่ความเป็น Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here