หน้าม้าออนไลน์มีไปทำไปกัน? พี่มิ้งค์มีคำเฉลย

ไม่ได้หมายถึงตัดผมหน้าม้า

แต่หมายถึง “หน้าม้า” ตัวแทนบริษัทที่แฝงเข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์แบบเนียนและไม่เนียน ซึ่งส่วนใหญ่มาแบบไม่เนียน !!

ผมเจอกรณีลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะบนชุมชนออนไลน์อย่าง Pantip.com ที่กลายเป็นสวรรค์สำหรับนักการตลาดไปเรียบร้อยแล้วในยุคนี้



ล่าสุดก็เพิ่งเจอมาอีกหนึ่งแบรนด์ที่จำหน่ายเสื้อผ้าชื่อดัง เห็นแล้วก็ขำ ยิ้ม และเวทนาอยู่กับตัวเอง —

พฤติกรรมของหน้าม้ากลุ่มนี้ก็คือ คอยตรวจเช็กกระทู้หรือเนื้อหาต่างๆ บนเว็บหรือเฟซบุ๊ก ว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับแบรนด์หรือสินค้าของตนเองบ้าง จากนั้นก็เชียร์อัพตามโอกาส บ้างเป็นไปอย่างมีมารยาท บ้างก็ออกนอกหน้าจนตั้งข้อสงสัยต่อคนโพสต์ได้ไม่ยาก

เท่าที่ผมทราบ กลุ่มคนเหล่านี้มีตั้งแต่ฝ่ายการตลาดหรือสื่อสารองค์กรของบริษัท ไปจนถึงเอเจนซี่ซึ่งรับหน้าสื่อเป็นตัวแทนตามที่ลูกค้าร้องขอ

ไม่แปลกครับ เพราะผมเองก็เคยได้รับการร้องขออะไรลักษณะนี้เช่นกัน และทุกครั้งที่ได้ข้อสรุปว่าให้ปลอมตัวไปเป็นหน้าม้าบนโลกออนไลน์ ก็จะปฏิเสธทุกครั้ง เพราะนอกจากจะทำแล้วไม่สบายใจ ยังมีเรื่องนักสืบออนไลน์สายพันธุ์ใหม่ที่เก่งกาจ

ดราม่าออนไลน์หลายต่อหลายครั้งถูกคลี่คลายด้วยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล แล้วก็เริ่มขุดคุ้ยหาร่องรอยตามเท่าที่จะคิดได้

อย่าลืมว่าบน Pantip.com และเว็บบอร์ดอีกหลายๆ แห่งนั้นมีการเก็บบันทึกหมายเลขไอพีของเครื่องที่เข้ามาโพสต์ ตลอดจนวันเวลาที่สมัครสมาชิก วันเวลาที่โพสต์ เก็บบันทึกได้ถึงกระทั่งใช้พีซีหรือโมบาย เวอร์ชันวินโดวส์ที่ใช้ บราวเซอร์ที่ใช้ ฯลฯ

ดังนั้นหากข้อมูลเหล่านี้ของบุคคลหนึ่งตรงกับของอีกบุคคลหนึ่งแบบไม่ผิดเพี้ยน แค่ชื่อสมาชิกที่อ้างอิงไว้ไม่ตรงกันเท่านั้น ก็พอจะอนุมานได้ว่า ชื่อทั้งสองคน (หรือมากกว่า) ล้วนเป็นคนเดียวกัน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นก็คือการเข้ามาเชียร์แบรนด์ของตนแบบแอบๆ

อย่าลืมว่าการตัดสินใจใช้กลยุทธ์ลักษณะนี้ นอกจากจะเสี่ยงต่อการโดนจับได้อย่างสูงแล้ว ยังทำให้แบรนด์ต้องโกหกพกลมไปเรื่อยๆ จนหลังพิงฝา แล้วก็หายไปจากระบบ ซึ่งกรณีแบบนี้ก็เกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน ผมเองไม่อยากเอ่ยชื่อแบรนด์ดังเหล่านั้นให้เสียชื่อ

ถ้าจะให้สรุปกระบวนการของขบวนการหน้าม้า คงย่อให้กระชับได้ดังนี้:

แบรนด์ > จ้าง > เอเจนซี่ > สร้างกระแส > โลกออนไลน์ > ปลอมตัว | เปลี่ยนชื่อ > โพสต์เชียร์ | โจมตีฝั่งตรงข้าม > ทำซ้ำเช่นนี้ > เริ่มโดนสงสัย > แก้ตัว (โกหกครั้งที่ 1) > เริ่มมีหลักฐานมากขึ้น > แก้ตัว (โกหกครั้งที่ 2) > มีหลักฐานเด็ด ไอพีเดียวกัน เปลี่ยนหลายชื่อ เช็กไอพีย้อนกลับ ไปโผล่ที่บริษัทเจ้าของแบรนด์หรือเอเจนซี่ > แก้ตัว | แถ | ฯลฯ (โกหกครั้งที่ 100)

เห็นมั้ยครับว่าการสร้างกระแสปลอมๆ นั้น หากไม่ใช่ศิลปินที่ช่ำชองด้านนี้โดยตรง อย่าไปทำเลยครับ ผลเสียมีมากกว่าผลดี ดังขึ้นมาก็มีโอกาสโดนจับผิดสูง ถ้าไม่ดังก็แค่เสมอตัว

นักการตลาดที่ดีไม่จำเป็นต้องโกหกหรือสร้างกระแส ทางเดินของแบรนด์ต่างๆ นั้นมีให้เลือกกันได้หลากหลายรูปแบบ ผมว่าผู้บริโภคยุคใหม่นั้นฉลาดขึ้นจนเราไม่สามารถไปล่อหลอกด้วยกลเม็ดเดิมๆ ที่ดูถูกพวกเขาได้อีกต่อไป

ข้อเท็จจริงและการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ลูกค้าได้รับรู้และพิจารณาด้วยตนเอง น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าในยุคนี้ และจะทำให้แบรนด์ได้รับเสียงชื่นชมมากขึ้นด้วย

ถ้าสินค้าหรือบริการของคุณไม่แย่สุดฤทธิ์ ผมเชื่อว่าต้องหาจุดขายที่แตกต่างได้สักอย่าง จะเป็นคุณสมบัติ ราคา บริการหลังการขาย การรับประกัน ฯลฯ แต่หากหาอะไรดีไม่ได้จริงๆ ก็โปรดกลับไปพิจารณาเถอะครับว่า ควรจะปิดบริษัททิ้งหรือไม่

บางครั้งสิ่งที่นักการตลาดคิดไปเองว่าควรทำ อาจเป็นเรื่องต้องห้ามก็เป็นได้ ก่อนหน้านี้พักใหญ่ๆ มีเว็บดีลชื่อดังอันดับต้นๆ ของไทย ที่โพสต์ดีลอะไรใหม่ลงมา ก็ต้องมีคอมเมนต์ห้อยท้ายเชียร์สินค้าหรือบริการนั้นๆ ติดมาด้วย ซึ่งผมเห็นแล้วก็เอามือก่ายหัว คิดได้ยังไงถึงปลอมคอมเมนต์ขึ้นมาเชียร์เว็บของตัวเอง ตอนหลังมีลูกค้าแบบผมจับได้ ก็ใช้เวลาไปกับการไล่ลบคอมเมนต์เหล่านั้น ดีที่ว่าช่วงหลังเลิกพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว

หากอยากเชียร์อัพสินค้าของตนเองจริงๆ รบกวนเถอะครับ มากันแบบตรงๆ อย่างที่หลายแบรนด์เค้าทำอย่างเป็นทางการบน Pantip.com และอีกหลายเว็บบอร์ด ตัวจริงมาเชียร์เอง ผู้บริโภคอย่างเรายังอยากฟัง มากกว่าที่จะต้องมานั่งทนเห็นโพสต์จอมปลอมที่น่ารำคาญ และดูถูกสติปัญหาของผู้บริโภคอย่างมาก

เห็นหลายแบรนด์ชูกันจังเรื่องธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม — ถ้าจะให้เป็นแบบนั้น เริ่มจริงจังกับนโยบายการตลาดของตนเองก่อนจะดีกว่ามั้ยครับ จะได้ช่วยกันลดความหลอกลวงบนโลกออนไลน์ไปได้อีกสักนิดก็ยังดี

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here