รีวิว : Asus ROG Zephyrus GX501 พกความแรงไปทุกที่ด้วย GTX 1080 Max-Q

คงเหมือนฝันเลยใช่ไหมครับ หากมีโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพสูง (โดยเฉพาะโน๊ตบุ๊คเกมมิ่ง) สามารถพกพาใช้งานข้างนอกได้สบาย ๆ ไม่เป็นภาระกับกระดูกสันหลังและหัวเข่ามากนัก วันนี้มาพบกับ Asus ROG Zephyrus GX501 และ GTX 1080 Max-Q ในร่างเบาบางกัน

เป็นครั้งแรก ที่ผมสามารถถือโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งมือเดียวได้ และเป็นครั้งแรกสำหรับโน๊ตบุ๊คที่มาพร้อมแนวทางการออกแบบอย่าง Max-Q จาก NVIDIA ด้วยการเอาการ์ดจอระดับ GeForce GTX 1080 มาทำให้บางเบาเป็นพิเศษ จนสามารถทำโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งที่ใกล้ขนาดเคียงกับ Ultrabook มากที่สุดอย่าง Asus ROG Zephyrus GX501 ถือเป็นโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งสเปกโหด ที่บางเบาสุดเท่าที่เคยเห็นมาเลย ส่วนประสิทธิภาพจะบางตามไปด้วยไหม มาดูกันครับ

สเปก Asus ROG Zephyrus GX501

Display : หน้าจอ IPS ขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD มี Anti-glare ไม่สะท้อนแสง กับรองรับ NVIDIA G-SYNC ด้วย Refresh Rate 120Hz
CPU : Intel Core i7-7700HQ Kaby Lake
Chipset : Intel HM175
VGA : Nvidia GeForce GTX 1080 Max-Q 8GB GDDR5X
RAM : 24GB DDR4 2400MHz
SSD : 1TB M.2 NVMe Gen 3
Wireless : 802.11ac Wi-Fi/Bluetooth
Port : USB 3.1 Gen 2 Type-C x 1 (Thunderbolt 3), USB 3.1 x 4 , HDMI 2.0 x 1 และ ช่องเสียบหูฟัง 3.5 mm
Size : 37.9 x 26.2 x 1.69cm (W x D x H)
Batterry : 4 cell, 50Wh
OS : Windows 10 Pro หรือ Windows 10 Home
Warranty : 2 ปี

แกะกล่อง

กล่องมาแบบสไตล์ ROG พร้อมนัยน์ตา “Republic of Gamers” สีแดงเด่นบนกล่องสีดำนี้

อุปกรณ์แถมแต่ละชุดจะมีกล่องเก็บเฉพาะอีกที ดูหรูหราทีเดียว

ส่วนอุปกรณ์ที่อัดมาในกล่องทั้งหมดก็มี ตัวเครื่อง ROG Zephyrus , AC Adapter , เมาส์ RGB , หัวแปลง USB 3.0 to LAN , ที่รองคีย์บอร์ด และ ชุดคู่มือพร้อมแผงสติ๊กเกอร์

ปล. ตัวที่รีวีวเป็นรุ่นทดลองใช้ ในชุดขายจริงน่าจะมีแถมมากกว่านี้

AC Adapter หรือชุดต่อไฟเลี้ยง ขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ก็ไม่เล็กเช่นกัน (หนัก 670 กรัม)

วัสดุและการออกแบบ

“GTX 1080 อยู่ในนี้จริงดิ ?” ประโยคแรกที่ผุดขึ้นมาหลังสัมผัสตัวเครื่อง ต้องบอกเลยว่า นี้คือโฉมหน้าใหม่ของวงการเลย ปกติถ้าเป็นโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งสเปกระดับนี้ ตัวเครื่องจะต้องหนา ๆ หนัก ๆ อย่างที่เคยเห็นกัน แต่รุ่นนี้กลับบางเบาจนไม่น่าเชื่อ

ตัวเครื่องใช้แมกนีเซียมผสมอลูมิเนียมอัลลอย ทำให้มีน้ำหนักเบาแต่ยังคงความแข็งแรง ด้านบนมีการแต่งลวดลายขนแมว และสะท้อนแสงอยู่บ้าง ​ส่วนการออกแบบจะต่างกับซีรีย์ ROG ที่ผ่านมานิดหน่อย รอบนี้ใช้สีดำอมม่วงนิด ๆ ตัดขอบด้วยสีทองแดง รอบตัวเครื่องออกเหลี่ยม ๆ โดยรวมให้อารมณ์แบบ “วัตถุโบราณ” เหมือนเป็นสมบัติของ “Zephyrus” (เทพเจ้าแห่งสายลม) ตามชื่อยังไงยังงั้น

แม้จะบางเบา แต่ก็มีพอร์ตเชื่อมต่อครบครัน อาทิ USB 3.1 Gen 2 Type-C x 1 (Thunderbolt 3), USB 3.1 x 4 , HDMI 2.0 x 1 และ ช่องเสียบหูฟัง 3.5 mm

ความบางของเครื่องก็อยู่ที่ 16.9 มม. และน้ำหนักแค่ 2.25 Kg เท่านั้น เป็นโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งสเปกโหดที่บางเบาเอาเรื่องจริง ๆ

เทียบความบางระหว่างตัวเครื่องกับสมุดโน๊ตทั่วไป​ แทบไม่ต่างกันเลย

สำหรับ ROG Zephyrus ตัวนี้ ก็มาพร้อมพัดลมระบายความร้อนด้วยกันที่ด้านหลัง 2 ตัว

โฉมหน้าพัดลมภายในเครื่อง ที่ใช้วัสดุเป็น Liquid-Crystal Polymer กับท่อฮีทไปป์ (Heat Pipe) ที่แทบจะคลุมทั้งหมด หายห่วงเรื่องความร้อนเลยครับ

และแม้จะมี 2 พัดลม แต่ตัวเครื่องก็มีช่องระบายความร้อนมากมายรอบตัว (ยังมีอีกนะ รอดูถัดไป)

Open !!

เมื่อเปิดหน้าจอตัวเครื่อง ก็ได้เห็นความบางกันแบบเต็ม ๆ ซึ่งดูยังไงก็ Ultrabook ชัด ๆ ถ้าจอ 13 นิ้วนะ ใช่เลย

กล้อง HD Web Camera

คีย์บอร์ดแบบ Illuminated Chiclet มี key travel ลึก 1.4 มม. รองรับการกดพร้อมกันหรือ Anti-Ghosting ได้ถึง 30 ปุ่ม หน้าตาโดยรวมก็ชวนแปลกตาอยู่หลายจุด ทั้งปุ่ม F1-F4 กับปุ่ม F5-F12 ที่เว้นห่างชัดเจน ส่วน Touch Pad ก็มาอยู่ข้างขวามือ และตำแหน่งคีย์บอร์ดที่ชิดขอบล่างเลย เนื่องจากด้านบนเป็นโซนชิปประมวลผลทั้งหมด​ (ใต้คีย์บอร์ด​ก็แบตฯ)​ ซึ่งเหตุผลที่เว้นไว้แบบนี้ก็เพราะ

เอาไว้เป็นช่องดูดลมเข้าเครื่อง เพื่อเป่าลมร้อนออกนั้นเอง

หากดูดี ๆ จะเห็นช่องดูดลมเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่เลย

และจุดนี้เองคือฟีเจอร์ชูโรงของ ROG Zephyrus ที่เรียกว่า Active Aerodynamic System (AAS) ระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายความร้อนออกแบบเฉพาะจาก Asus (ขอเรียกมันว่า “ช่องลอย”) ด้วยการขยายช่องระบายอากาศเพิ่มเติมอีก 0.6 มม. ช่วยลดอุณหภูมิลงอีกประมาณ 10 องศากันเลย ทั้งนี้ยังช่วยดันแป้นพิมพ์หรือคีย์บอร์ด ให้โดนนิ้วมือเราง่ายขึ้นด้วย

เท่านี้ก็เห็นแล้วว่า แม้ตัวเครื่องจะบางเบา แต่มีช่องระบายความร้อนพอตัว

การใช้งาน

อีกจุดที่ว้าวถัดจากความบางคือ หน้าจอที่สวยคมสุดยอด โดยเป็นจอ IPS ขนาด 15.6 นิ้ว แบบ Anti-glare ไม่สะท้อนแสง ความละเอียด Full HD และรองรับ NVIDIA G-SYNC กับ Refresh Rate ที่สูงถึง 120Hz !! ช่วยให้การเล่นเกมที่ลื่นไหลกว่าจอ 60Hz เยอะ

เมื่อเปิดเครื่อง ก็จะเห็นไฟ LED Backlight ของคีย์บอร์ด หรือที่เรียกว่า Aura RGB lighting สามารถแต่งแสงสีได้หลากหลาย โดยเฉพาะบริเวณปุ่ม WASD และ QWER ที่สามารถปรับสีแยกต่างหากได้ด้วย (สังเกตขอบขาวของปุ่ม) ทำให้มีความโดดเด่นกว่าปุ่มอื่น ๆ ให้รู้ไปเลยว่า “นี้คือปุ่มหากินของเกมเมอร์”

ลำโพง Stereo ขนาดเล็กที่อยู่ติดคียบอร์ดทั้ง 2 ฝั่ง แต่พลังเสียงใหญ่เกินคาด ให้เสียงได้กระหึ่มดี

หากใครคิดว่าตัวคีย์บอร์ดมันชิดมือไปหน่อย ก็ไม่ต้องห่วง เพราะตัวเครื่องมาพร้อม “ที่รองคีย์บอร์ด” แถมมาในชุดเลย เอามาใช้รองข้อมือให้พิมพ์งานหรือเล่นเกมได้สะดวกขึ้น ต้องบอกเลยว่าเวลาผมยกเครื่องไปไหน จะต้องมีตัวรองข้อมือนี้ติดไปด้วยเสมอ มันจำเป็นจริง ๆ

นอกจากไฟบนคีย์บอร์ดแล้ว หากเราใช้งานแบบเสียบ Adapter ไฟเลี้ยง ตรงช่อง AAS จะมีไฟ LED สีแดงออกมาด้วย

ไฟ LED สีแดงทั้ง 2 ฝั่ง

 ปุ่ม NumPad แบบสัมผัส ที่สลับใช้บน Tound Pad

ส่องไฟ LED สีแดงตรงช่อง ASS อีกซักรอบ

ประสิทธิภาพ

ด้วยสเปกที่จัดเต็ม ทำให้การใช้งานโปรแกรม Gaming Center ได้สมศักดิ์ศรีพอควร (นี้สิเกมมิ่ง) โดยเป็นหนึ่งในโปรแกรมติดเครื่องของ Asus สามารถใช้เช็คสถานะต่าง ๆ ของตัวเครื่อง หรือจะปรับแต่งการทำงานต่าง ๆ ก็ได้ เช่นการ Overclock และการปรับรอบหมุนของพัดลมเป็นต้น

Sonic Studio ll อีกโปรแกรมติดเครื่องที่ใช้สำหรับปรับแต่งรายละเอียดเสียงลำโพงของเครื่อง

และสุดท้าย โปรแกรม Aura ใช้ปรับแสงสี 16 ล้านสีหรือ RGB ของคีย์บอร์ด แต่จากที่ลองใช้ ยังปรับได้ไม่สุด เพราะส่วนที่เป็น RGB ใช้ได้แค่โหมดเดียว ส่วน WASD กับ QWER Mode จะเลือกไฟแบบ​ RGB​ แยกต่างหาก​ไม่ได้

ส่วนสเปกที่ได้มารีวิวคือ Intel Core i7-7700HQ + RAM 24GB DDR4 2400MHz + SSD 1TB M.2 NVMe Gen 3 และ GeForce GTX 1080 Max-Q 8GB GDDR5X จัดหนักจัดเต็มผิดกับรูปร่าง

วัดความแรงด้วย Cinebench R15 คะแนน OpenGL ก็พุ่งสูงถึง 93.11 fps ด้วยอานิสงส์จาก GTX 1080 Max-Q นี้เอง ส่วน CPU ก็ได้คะแนนไป 731 cb ตามสไตล์ Intel Core i7-7700HQ

เทสประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องด้วย PC Mark 10 ก็ได้คะแนนถึง 4,001 เกือบเทียบเท่าเครื่อง Desktop ในสเปคพอ ๆ กัน ส่วนประสิทธิภาพการแสดงผลกราฟฟิกที่วัดด้วย 3D Mark อย่าง Time Spy ได้ไป 5,698 คะแนน และ Fire Strike ก็ได้ไป 14,341 คะแนน จุดนี้จะเห็นแล้วว่า การ์ดจอ GTX 1080 Max-Q แรงกว่า GTX 1070 ก็จริง แต่ยังไม่ถึง GTX 1080 ตัวปกติหรือเต็มใบ ที่ได้คะแนน Time Spy ไป 6,XXX ส่วนคะแนน Fire Strike ก็ได้ถึง 18,XXX คะแนน แสดงว่าการ์ดจอ Max-Q มีการลดสเปกเพื่อแลกกับการประหยัดพลังงานและความเบาบางนั้นเอง

เทสการ encoding หรือถอดรหัสด้วย x264 FHD Benchmark ก็ได้ความเร็ว 24.57 fps แรงพอประมาณ

ส่วน SSD ที่มีความจุถึง 1TB แถมเป็น M.2 PCIe Gen 3 อีก ลองวัดความเร็วอ่าน-เขียนด้วย Crystal Disk Mark ก็ได้ความเร็วพุ่งกระฉูดตามภาพ รันเกม รัน Windows แบบชิว ๆ กันเลย

และสำหรับประสิทธิภาพการระบายความร้อน หลังได้เห็นระบบระบายความร้อนขั้นเทพของตัวเครื่องไปแล้ว ผลที่ได้คือ เมื่อใช้งานเครื่องแบบหนัก ๆ ความร้อนก็อยู่ที่ 80 – 90 องศาเท่านั้น ส่วนเสียงพัดลมก็ไม่ดังจนน่ารำคาญ

เกมมิ่ง

จัดกันไป 4 เกมเหมือนเคย แต่รอบนี้ได้เกมมาใหม่อย่าง PUBG เกม (แดรก) กินสเปกประจำปี 2017 และเกม Rise of the Tomb Raide ที่จัดตอนลดราคาพอดี… ที่เหลือก็ GTA V กับ The Witcher 3 เจ้าเก่า โดยปรับความละเอียดสุดทุกเกม ผลก็ได้ตามนี้

PUBG (Ultra) : Max 109 Average 87 Min 71

The Witcher (Ultra) : Max 80 Average 69 Min 54

Rise of the Tomb Raider (Very High) : Max 116 Average 104 Min 79

GTA V (Very High) : Max 180 Average 167 Min 145

สรุป

ปกติผมจะบอกราคาตอนท้ายของสรุป แต่รอบนี้ขอบอกก่อนเลย สำหรับ Asus ROG Zephyrus GX501 สนนราคาอยู่ที่ 119,990 บาท โอเค ราคานี้คุณได้สเปก Intel Core i7-7700HQ + RAM 24GB DDR4 2400MHz + SSD 1TB M.2 NVMe Gen 3 และ GeForce GTX 1080 Max-Q 8GB GDDR5X พร้อมหน้าจอ 15.6 นิ้ว ที่รองรับ G-SYNC กับ Refresh Rate 120Hz ด้วย สุดท้ายก็ขนาดบางเบาของเครื่องและความเป็น ROG จาก Asus ในเรื่องการออกแบบ (อ่ะ Windows 10 ฟรีด้วย) ก็เรียกได้ว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลแล้ว

จุดขายจริง ๆ ของเครื่อง ก็ไม่พ้นเรื่องความเบาบาง ซึ่งก็บาง ๆ จริง แต่น้ำหนัก เอาตรง ๆ มันยังไม่เบาซะทีเดียว คือยังมีน้ำหนักอยู่เหมือนกันเมื่อรวมกับ Adapter แต่อย่าลืมว่าสเปกภายในมันเถื่อนกว่ารูปร่างไปเยอะ เมื่อเทียบกับโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งที่มีสเปกพอ ๆ กัน ที่หนากว่ามาก จุดนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามแล้วครับ ส่วน GTX 1080 Max-Q มันคือ GTX 1080M นั้นแล ทว่าความแรงยังไม่น่าเกลียดนะ เพราะยังเหนือกว่า GTX 1070 ของ Desktop อยู่ เล่นเกมยังไงก็หายห่วง ปรับสุดเกม PUBG ได้ลื่นหัวแตกนะเออ ส่วนเรื่องระบายความร้อน เล่นได้ยาว ๆ เลย เพราะตัวเครื่องออกแบบมาดีมาก ส่วนคีย์บอร์ดมีขัดใจเล็กน้อย ตรงการวางตำแหน่งและไฟ LED ที่ RGB ไม่สุด เกือบลืมบอก อายุการใช้งานแบตฯ ของตัวเครื่อง ก็อยู่แค่ราว ๆ 2 – 3 ชั่วโมง ตามสไตล์โน๊ตบุ๊คเกมมิ่งสเปกสูง ยังไงก็ควรต่อไฟเลี้ยง หากจะใช้งานจริง ๆ นะ

ข้อดี

  • หน้าจอ IPS สวยคมมาก และมี G-SYNC กับรองรับ 120Hz ด้วย ดีงามน้ำตาไหล
  • ตัวเครื่องบางเบาได้ใจ สามารถแบกไปใช้งานข้างนอกได้ดีระดับหนึ่ง (แต่ยังไม่ถึงระดับ Ultrabook นะ)
  • การออกแบบสวยงาม โดดเด่นสมฐานะโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งจากซีรีย์ ROG By Asus
  • มาพร้อม SSD ขนาด 1TB แบบ NVMe ความเร็วอ่านเขียนสุดยอด ใช้งานลื่นไหลสุด ๆ
  • รองรับการเล่นเกม (ยุคนี้) ปรับสุดได้สบาย ๆ ประสิทธิภาพ GTX 1080 Max-Q แรงเหลือเฟือ
  • พอร์ตเชื่อมต่อครบครัน มีพอร์ตความเร็วสูง Thunderbolt 3 กับตัวแปลง USB 3.0 เป็น LAN ให้ด้วย
  • การระบายความร้อนทำได้ดีเกินขนาด มีช่องระบายความร้อนเพียบ โดยเฉพาะ “ช่องลอย” ที่ช่วยได้เยอะ

ข้อสังเกต

  • ประสิทธิภาพของ GTX 1080 Max-Q แรงกว่า GTX 1070 จริง แต่ไม่เท่ากับ GTX 1080 แบบเต็มใบ
  • หากไม่มีที่รองข้อมือคีย์บอร์ด จะใช้งานลำบากเล็กน้อย
  • ไฟ LED ตัวคีย์บอร์ด ยังปรับแต่งได้ไม่มากเท่าที่ควร
  • ราคายังถือว่าสูงสำหรับคนทั่วไปอยู่ (แม้จะมีสเปกคุ้มก็ตาม)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here