รีวิว : Tenda A18 และ Tenda A9 จับคู่ขยาย Wi-Fi ให้ทั่วบ้าน ในงบแสนประหยัด

ก่อนหน้านี้เคยเขียนเรื่อง Mesh Technology หรือ Mesh Wi-Fi ไปแล้ว เชื่อว่าบางคนน่าอ่านแล้วคงอยากจัดซักชุดแน่ ๆ ให้มาแก้ปัญหา Wi-Fi อับสัญญาณที่บ้าน แต่สำหรับใครที่มี Router Wi-Fi อยู่แล้ว ไม่อยากจัด Mesh Wi-Fi ให้เปลืองงบ ฉะนั้นขอเสนอเซ็ต Combo สำหรับสายประหยัดอย่าง Tenda A18 และ Tenda A9 นี้เลย สำหรับตัว Tenda A18 ก็เป็น Wi-Fi Repeater ส่วน Tenda A9 คือ Range Extender สำหรับอุปกรณ์นี้มีคุณสมบัติช่วยขยายสัญญาณ Wi-Fi เหมือนกันทั้งคู่ แต่วันนี้เราจะได้เห็นความแตกต่างของมันกัน ซึ่งจะเป็นยังไงนั้น ลองมาดูกันเลย

สเปก Tenda A18 AC1200 Dual Band Wi-Fi Repeater

  • ความเร็วสูงสุด 1200 Mbps (AC1200) แบ่งเป็น 2.4 GHz (300Mbps) กับ 5 GHz (867Mbps)
  • ช่อง LAN RJ45 รองรับความเร็ว 10/100Mbps
  • เสาสัญญาณ External 2dBi x 2
  • การทำงาน Repeater Mode และ AP Mode
  • ขนาด 80 x 58 x 48 มม.

สเปก Tenda A9 Wireless N300 Universal Range Extender

  • ความเร็วสูงสุด 300 Mbps สำหรับ 2.4 GHz
  • เสาสัญญาณ External 3dBi x 2 กระจายสัญญาณได้ไกลถึง 200 เมตร
  • รองรับการทำงาน SSID Hiding และ Repeater Mode (Client + AP)
  • ขนาด 111 x 56 x 47.7 mm

แกะกล่อง

ตัวกล่องของ Tenda A18 ก็จะมาเป็นสีดำตัดขอบส้ม ส่วน Tenda A9 เป็นสีขาว และมีขนาดใหญ่กว่า แต่สุดท้ายทั้งคู่มีของในกล่องมีเฉพาะตัวเครื่องและชุดคู่เหมือนกัน

วัสดุและดีไซน์

ดีไซน์ของ Tenda A18 Wi-Fi Repeater จะอารมณ์เดียวกับตัว NOVA MW3 ที่เคยรีวิวก่อนหน้า คือมันต้องมีจุดที่ดูอาท ๆ ไม่เรียบเนียนไปเลย อย่างตัว A18 ตรงหน้าเครื่องก็จะมีการเล่นลวดลายเล็กน้อย วัสดุก็ใช้พลาสติกสีขาวทั้งตัว เหมือนกับซีรีย์ NOVA มีช่องระบายความร้อนรอบ ๆ ตัว หน้าเครื่องมีไฟ LED แสดงสถานะ 3 จุด และปุ่ม WPS พอร์ต LAN ความเร็ว 10/100 Mpbs และหัวปลั๊กแบบ Type A ที่คุ้นเคยกันดี สุดท้ายเสาสัญญาณ 2dBi สองต้น ซึ่งสามารถหมุนกางออกได้สองข้าง และเมื่อกางออกมาแล้ว ก็เรียกมันว่า Optimus P**** ได้เลย : b

ส่วนตัว Tenda A9 Range Extender จะมีทรงสูงกว่าตัว A18 แต่ไม่หนาเท่า ไม่มีช่องระบายความร้อน และพอร์ต LAN แต่ใช้วัสดุเป็นพลาสติกสีขาวเหมือนกัน มีปุ่ม WPS เหมือนกัน ซึ่งเป็นทั้งปุ่มและไฟ LED ในตัวเดียว และสุดท้ายเสาสัญญาณ 2 ต้น แต่ตัว Tenda A9 จะเป็นเสาสัญญาณแบบ 3dBi ซึ่งมีสเปกสูงกว่าตัว A18

การใช้งาน Tenda A18

ขอเริ่มจากตัว Tenda A18 เพียวตัวกันก่อนจุดเด่นของแบรนด์ Tenda ก็ยังคงแจ่มเช่นเคย อย่างตัว Tenda A18 ก็สามารถเสียบใช้งานได้เลย โดยไม่ต้องเปิดแอพฯ หรือเว็บเพื่อ Config ให้วุ่นวาย แต่ด้วยความที่เป็น Wi-Fi Repeater ก็ต้องไปขอความร่วมมือจาก Wi-Fi Router ประจำบ้านที่ใช้อยู่เล็ก ๆ น้อย ๆ คือ

ให้เราไปกดปุ่ม WPS ใน Wi-Fi Router ให้ทำงานก่อน จากนั้นก็ไปกดปุ่ม WPS บนตัว Tenda A18 ด้วยเช่นกัน รอจนกว่ามันจะขึ้นไฟ LED ครบทั้ง 3 จุด

เมื่อไฟ LED ครบทั้ง 3 จุดแล้ว ตอนนี้ชื่อ Wi-Fi จากเดิม Tenda Official ก็เปลี่ยนเป็นชื่อ KBenZ69 ตามที่ตั้งใน Wi-Fi Router ประจำบ้านเรียบร้อย สำหรับรหัส Wi-Fi ก็ใช้แบบเดียวกับตัว Wi-Fi Router ที่ใช้อยู่ตามปกติได้เลย เท่านี้ก็พร้อมใช้งาน

ประสิทธิภาพ Tenda A18

สำหรับการทดสอบครั้งนี้ ผมก็ได้วางตัว Tenda A18 ใกล้ ๆ กับตัว Wi-Fi Router อยู่บ้าง หากแต่แม้จะอยู่ใกล้ ๆ กัน แต่ก็มีสิ่งกีดขวางหลายชั้นคือ

ประตูไม้และประตูกระจก 2 ชั้น ที่คอยลดทอนสัญญาณ Wi-Fi มาตลอด ทำให้เวลาอยู่ในห้องนั่งเล่น สัญญาณจะขาด ๆ หาย ๆ หากอยู่ในห้องนอนคือดับสนิท ทว่าหลังเอาตัว Tenda A18 มาวางในห้องนั่งเล่น แล้วดูด Wi-Fi จาก Wi-Fi Router ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ผลที่ได้คือ

ความเร็ว Wi-Fi จาก Tenda A18 ที่ขยายสัญญาณจาก Wi-Fi Router ประจำบ้าน จากตำแหน่งห้องนั่งเล่น เมื่อวัดความเร็ว คลื่น 2.4 GHz ก็ได้ไป 81/34 Mbps ส่วนคลื่น 5 GHz ก็ได้เท่ากับตอนอยู่ใกล้ ๆ Wi-Fi Router ที่ใช้อยู่เลย

และเมื่อลองมาที่ห้องนอนที่เคยมีปัญหาอับสัญญาณ แต่หลังติดตั้งตัว Tenda A18 เข้าไป ก็พบสัญญาณ Wi-Fi กระจายมาถึงห้องนี้ด้วย ลองวัดความเร็วก็ได้ไป 21/17 Mbps สำหรับคลื่น 2.4 GHz มีความเร็วตกจากเดิมตามระยะความห่าง

ส่วนคลื่น 5 GHz ก็วัดความเร็วได้ที่ 47/27 Mbps

การใช้งาน Tenda A18 + Tenda A9

แค่ Tenda A18 ตัวเดียวก็กินขาดแล้ว คราวนี้ได้ Tenda A9 มาช่วยขยายสัญญาณเพิ่มเติม สำหรับการติดตั้ง รอบนี้ผมจะใช้ตัว Tenda A9 ขยายสัญญาณจาก Wi-Fi Router แทนที่ Tenda A18 ที่ลองใช้ก่อนหน้า จากนั้นก็นำ Tenda A18 มาทวนสัญญาณจาก Tenda A9 อีกที โดยรูปแบบการติดตั้งก็แบ่งตามนี้

Tenda A9 ขยายสัญญาณ Wi-Fi จาก Wi-Fi Router ประจำบ้าน ส่วน Tenda A18 ก็ขยายสัญญาณ Wi-Fi จาก Tenda A9 อีกที

ส่วนการตั้งค่า หลังติดตั้งตัว Tenda A9 ให้เชื่อมต่อ Wi-Fi ไปยังตัวมันก่อน ซึ่งจะมีชื่อตามภาพ จากนั้นให้เข้าไปเซ็ต Config ตาม IP ที่ปรากฏ (ในสมาร์ทโฟนบางรุ่นจะมี Link ให้พร้อม สามารถจิ้มเข้าไปได้เลย) จากนั้นก็ตั้งค่าให้ตัว Tenda A9 จับคู่กับ Wi-Fi Router ที่ต้องการ พร้อมใส่รหัสเดิมที่ใช้ จากรอสักพักเป็นอันเสร็จ

ประสิทธิภาพ Tenda A18 + Tenda A9

ในตอนแรก หากติดตั้งเฉพาะ Tenda A9 กับ Wi-Fi Router ก็จะมีชื่อ “KBenZ69” สำหรับคลื่น 2.4 GHz ขึ้นมา 2 ชื่อในแอพฯ Wi-Fi Analyzer แต่หลังติดตั้งทั้ง Tenda A9 กับ Tenda A18 และ Wi-Fi Router คราวนี้จะมี 2 ชื่อเลย เหมือนกำลังใช้ Mesh Wi-Fi อยู่เลย

เนื่องจากตัว Tenda A18 มีคลื่น 5 GHz ให้ด้วย ตอนนี้เลยมี Wi-Fi ให้เชื่อมต่อถึง 3 ชื่อ ความเร็วก็ตามภาพเลย

และประสิทธิภาพนั้น ตอนเทสผมยืนอยู่ใกล้กับตัว Tenda A18 ซึ่งอยู่ห่างจาก Wi-Fi Router ค่อนข้างมาก (ตามตำแหน่งในภาพแผนผัง ก็อยู่ห้องนอน) จากจุดนี้ยังพอเชื่อมต่อกับ Tenda A9 ที่ขยายสัญญาณจาก Wi-Fi Router ได้อยู่ แต่ความเร็วได้ไป 14 Mbps ตามสภาพ ทว่าหลังเชื่อมต่อกับ Tenda A18 ที่มีทั้งคลื่น 2.4 GHz และ 5GHz ก็ได้ความเร็วใกล้เคียงกับตอนที่อยู่ใกล้กับ Wi-Fi Router กันเลย โดยเฉพาะ 5GHz ที่ได้ความเร็วตามที่สมัครบริการ (100/30) เป๊ะ ๆ เมื่อเทียบกับตอนที่ไม่มี Tenda A9 ในตอนแรกแล้ว ซึ่งความเร็วได้แค่ 21 Mbps กับ 47 Mbps สำหรับคลื่น 2.4 GHz และ 5GHz พอมี Tenda A9 เข้ามาช่วยทีเดียว กลายเป็นหนังคนละม้วนเลยครับ

สรุป

เห็นผล Combo ของเจ้า Tenda A18 กับ Tenda A9 แล้ว บอกเลยว่า สุดยอด แค่ก็เดียวก็สามารถขยายสัญญาณได้ทั่วถึงแล้ว แต่พอมี 2 ตัว ก็ได้ความเร็วที่เทียบเท่ากับตอนอยู่ใกล้ Wi-Fi Router ได้อารมณ์แบบเดียวกับตอนใช้ Mesh Wi-Fi เลย หารู้ไหมว่า นี้คือ Wi-Fi Repeater และ Range Extender รวมร่างกัน ซึ่งจากรีวิวก็น่าจะเห็นความแตกต่างของมันแล้ว คือตัว Range Extender ช่วยขยายสัญญาณ ทำให้มีชื่อ Wi-Fi เดียวกับตัว Wi-Fi Router ที่ใช้อยู่ ส่วนตัว Wi-Fi Repeater ก็ช่วยทวนสัญญาณ ทำให้มีชื่อ Wi-Fi เพิ่มขึ้นมา แต่ใช้รหัสเดียวกับ Wi-Fi Router

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับ Mesh Wi-Fi ที่มีราคาแล้ว พวกนี้มักจะมีเทคโนโลยีหรู ๆ อย่าง MU-Mimo, Beamforming, Seamless Wi-Fi และอื่น ๆ ที่ช่วยให้การเชื่อมต่อ Wi-Fi มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะบ้านไหนที่มีอุปกรณ์หลายตัว (เช่น สมาร์ทโฟน, สมาร์ททีวี, NAS) หรือสมาชิกเป็นจำนวนมาก จะเห็นผลมากกว่า ทว่าหากใครอยากได้แค่สัญญาณ Wi-Fi แรง ๆ กระจายทั่วบ้านก็พอแล้ว มีแค่ 2 ตัวนี้จบ ไม่ต้องเพิ่มอะไรอีก

สุดท้ายนี้ราคาทั้ง 2 รุ่น ตัว Tenda A18 ก็อยู่ที่ 1,500 บาท ส่วนตัว Tenda A9 ก็อยู่ที่ 690 บาท รวมประมาณ 2 พันบาท แต่ได้สัญญาณ Wi-Fi ที่ทั้งแรงและครอบคลุมทั่วบ้าน ในงบแค่นี้เองครับ