รีวิว : Tenda NOVA MW3 Mesh Technology WiFi ขยายสัญญาณให้ทั่วบ้านในราคาที่เอื้อมถึง

Tenda NOVA MW3 WiFi เราเตอร์ Mesh Technology AC1200 สามารถรองรับ Dual Band ทั้ง 2.4 GHz และ 5 GHz ในราคาย่อมเยา ใน 1 กล่อง มีอยู่ 3 ตัว ช่วยขยายสัญญาณให้ทั่วบ้าน ไม่มีจุดอับสัญญาณอีกต่อไป

ห่างหายไปนานทีเดียวกับ Tenda ผู้ผลิตอุปกรณ์เน็ตเวิร์คระดับตำนานอีกแบรนด์ ที่อยู่ในวงการนี้มากว่า 10 ปี กลับมาปัจจุบัน เชื่อว่าหลายคนน่าจะเริ่มเห็นเทรนด์ Mesh Technology กันบ้างแล้ว คือในหนึ่งกล่องมี WiFi เราเตอร์ ให้ถึง 3 ตัว แต่ละตัวก็เอามาทำเป็น Range Extender ช่วยกันกระจาย Wi-Fi ตามจุดต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาจุดอับสัญญาณภายในบ้าน พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพสัญญาณ Wifi ให้ดีขึ้นอีกด้วย

ในรีวิวก็มาพบกับ NOVA MW3 อุปกรณ์ Wi-Fi เราเตอร์จาก Tenda ช่วยกระจายสัญญาณได้ไกลถึง 300 ตรม. มาพร้อมดีไซน์เรียบ ๆ ขนาดเล็ก แต่สเปกสูง ด้วยความเร็ว AC1200 และเป็น Dual Band ปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ได้ทั้ง 2.4 GHz กับ 5 GHz ที่สำคัญมาพร้อมราคาสวนทางที่ถูกกว่าแบรนด์อื่น ชนิดทำเอาตกใจกันเลยทีเดียว แต่ก่อนอื่นมาดูประสิทธิภาพกันก่อนเลยครับ

สเปก Tenda NOVA MW3 (รายละเอียด)

  • ใน 1 กล่อง มีอยู่ 3 ตัว แต่ละตัวก็มาพร้อมเสาสัญญาณแบบ 3dBi จำนวน 2 เสา (built-in)
  • เป็น Dual Band รองรับการปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ทั้ง 2.4GHz IEEE 802.11b/g/n (300Mbps) และ 5 GHz IEEE 802.11ac/a/n (867Mbps) ความเร็วรวมเป็น AC1200
  • รองรับ PPPoE, Dynamic IP, Static IP, Bridge Mode
  • มี MU-MIMO, DHCP Server, DNS
  • ระบบความปลอดภัย WPA/WPA2-PSK
  • ผ่านการรับรอง FCC, CE, RoHS, EAC, IC
  • พอร์ตเชื่อมต่อ LAN (10/100M) จำนวน 1 ช่อง กับ WAN (10/100M) จำนวน 1 ช่อง
  • ควบคุมการทำงานผ่านแอพฯ Tenda WiFi ใช้งานได้ทั้ง Android กับ iOS (Android 4.0 กับ iOS 8 ขึ้นไป)
  • ขนาด : 90 x 90 x 90 มิลลิเมตร

แกะกล่อง

ตัวกล่องมาแบบเรียบง่ายเลย คือเป็นกล่องจริง ๆ เปิดฝาปุ๊บเจอปั๊บ แต่ลวดลายกล่องภายนอก ก็มาในโทนสีดำตามสไตล์แบรนด์นี้เช่นเคย

ส่วนในกล่องก็ประกอบไปด้วย ตัว Nova MW3 จำนวน 3 ตัว และคู่มือ

วัสดุและดีไซน์

ตัวเราเตอร์ถูกออกแบบมาเป็นรูปทรงกล่องสีเหลี่ยม สีขาวล้วนทั้งตัว มีโลโก้ Tenda กับไฟบอกสถานะ 3 สี (เขียว ส้ม แดง) หนึ่งดวงด้านหน้า ใช้วัสดุเป็นพลาสติก น้ำหนักเบา

ดีไซน์เป็นกล่องสีเหลี่ยมขนาดเล็ก ใหญ่กว่ากำปั้นเล็กน้อย

โดยรวม Nova MW3 ค่อนข้างดีไซน์เรียบไปนิด แต่ด้านบนก็มีสลักลวดลายคล้ายหินอ่อน ทำให้ดูเด่นขึ้นมาบ้าง

อีกมุม เผื่อยังเห็นไม่ชัด

ด้านหลังมีพอร์ต WAN/LAN และ LAN อย่างละพอร์ต พร้อมปุ่ม Reset กับช่องเสียบ Adapter

ด้านล่างก็มีบอกไอดีกับรหัสเข้าใช้ Wi-Fi ครั้งแรก พร้อมช่องแขวน เผื่ออยากติดตั้งกับผนังหรือเพดาน

การใช้งาน

อย่างแรกขอเล่าก่อนเลยว่า ตัว Nova MW3 นี้ แค่เสียบปลั๊กก็ใช้งานได้เลย คือเลือกตัวเครื่องหนึ่งตัว ไปต่อสาย LAN (ผ่านช่อง WAN/LAN) จาก Modem Router ที่แถมมากับผู้ใช้บริการ ที่เหลืออีก 2 เครื่อง เอาไปวางตรงไหนก็ได้ ตามที่เราคิดว่ามุมนั้นมันอับสัญญาณ โดยเสียบแค่ปลั๊กไฟ ไม่ต้องต่อสาย LAN เหมือนตัวแรก

จากนั้นรอประมาณ 1 นาที ก็พร้อมใช้งานแล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนผ่านแอพฯ ไม่ต้องไล่เชื่อมต่ออุปกรณ์ให้ครบทั้ง 3 ตัวให้เหนื่อยเลยครับ

แต่แบบนี้ก็ต้องแลกกับการใช้รหัส Wi-Fi เดียวไปตลอด ลองมาดูหน้า Config หรือการตั้งค่ากันว่า มันจะสวยงามไหม ใช้งานง่ายขนาดไหน และมีฟีเจอร์อะไรน่าสนใจบ้าง

สำหรับตัว Nova MW3 ก็มาพร้อมเทคโนโลยี Wi-Fi แบบ Mesh หรือการกระจายสัญญาณแบบโยงใยเป็นตาข่าย (Mesh Technology WiFi) ทำให้ตัวเครื่องสามารถเชื่อมต่อกันเองโดยอัตโนมัติ และไม่มีสัญญาณหลุดกวนใจ ประมาณว่า แม้เราเดินจากอีกจุดหนึ่งไปแล้ว แต่หากจุดที่เราไปยังมีตัวเครื่องอีกตัววางอยู่ มันก็เชื่อมต่อให้เองทันที โดยที่เราไม่รู้สึกตัวอะไรเลย

นี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเครื่องอีก 2 ตัวที่เหลือ สามารถเสียบปลั๊กแล้วใช้งานได้ทันที (อย่างขีดลูกศรปะสีดำในภาพก่อนหน้า ก็แสดงถึงการเชื่อมต่อ Wi-Fi แบบ Mesh) คือมันทำงานเป็น Range Extender ขยายสัญญาณ Wi-Fi ได้เอง โดยไม่ต้องเพิ่งสาย LAN ทั้งนี้ยังมาพร้อม MU-MIMO ช่วยให้เชื่อมต่อหลาย ๆ อุปกรณ์พร้อมกันได้ดีด้วย

ลากไปซะยาว ต่อไปก็มาดูหน้า Config ตั้งค่าผ่านแอพฯ เสียที อันดับแรก โหลดแอพฯ “Tenda WiFi” ก่อน จากนั้นก็เชื่อมต่อ Wi-Fi ผ่านตัว Nova MW3 แล้วเข้าสู่หน้าแอพฯ

หลังเชื่อมต่อ Wi-Fi ผ่านตัว Nova MW3 แล้ว เมื่อเปิดแอพฯ ขึ้นมา มันจะเข้าสู่หน้าตั้งค่าครั้งแรกทันที ในระหว่างนี้ก็ตามขั้นตอนเลย ใครจะเปลี่ยนชื่อรหัสเข้า Wi-Fi ก็มาเปลี่ยนในนี้ก่อนได้

เมื่อตั้งค่าอะไรเสร็จแล้ว ก็ขอต้อนรับเข้าสู่หน้า Config ของแอพฯ Tenda WiFi ในหน้าแรก ก็จะแสดงสถานะของ Nova MW3 แต่ละตัว ว่ามีการใช้งานอินเทอร์เน็ตไปเท่าไร อุปกรณ์ไหนเชื่อมต่ออยู่

สำหรับฟีเจอร์โดยรวมของ Nova MW3 ก็เหมือน ๆ กับ Router Wi-Fi ทั่วไปเลยคือมีหน้าตั้งค่า Guest Network , Parental Control และ QoS แต่ก็มีฟีเจอร์พิเศษเฉพาะตัว อาทิ

  • Fast Roaming ก็คือฟีเจอร์ช่วยเชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fi ระหว่างกัน โดยที่เราไม่รู้สึกตัวนั้นเอง
  • Smart Assistant ตั้งค่าผู้ช่วยอัจฉริยะ !! คือตั้งค่าให้มันทำงานรวมกับ Amazon Alexa หรือ Google Assistant ได้ด้วย
  • Port Forwarding กำหนดเส้นทางข้อมูล ที่เข้ามายังตัว Nova MW3 (ตรงนี้ผู้ใช้แบบ Hi-End น่าจะรู้กันดี)
  • UPnP ทำ Forword Port แบบอัตโนมัติ

ประสิทธิภาพ

ลองเทสประสิทธิภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตก่อน ที่บ้านผมใช้บริการความเร็วแบบ 30/10 Mbps ผลที่ได้เมื่อเทียบกับตัว Modem Router ถือว่าโอเคเลย

และเมื่อลองวัดสัญญาณหลังวางตัว Nova MW3 ไปตามจุดต่าง ๆ แล้ว ก็อย่างที่เห็นเลยว่า ไปไหนคือมีสัญญาณ Wi-Fi ทั้ง 2.4 GHz และ 5 GHz ให้ใช้แน่นอน

สรุป

มีบางคนให้คำนิยามสำหรับ Router Wi-Fi แบบ 3-in-1 นี้ว่า “ทีเดียวจบ” ในที่นี้ก็เหมือนเราได้ Router ถึง 3 ตัว ในราคาเพียง 3,xxx บาทเท่านั้น แต่แลกกับการหมดปัญหาเรื่องสัญญาณ Wi-Fi ไปไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะใครที่มีบ้านหรือห้องสูทกว้าง ๆ Router ตัวเดียว เอาไม่อยู่แน่นอน

สำหรับตัว Tenda Nova MW3 ก็ถูกพัฒนามาเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ ความประทับใจแรกก็คือ สามารถเสียบปลั๊กแล้วใช้งานได้เลย เหมาะมากสำหรับใครที่มีความรู้ด้านนี้ไม่มาก อีกส่วนก็ประสิทธิภาพการกระจายสัญญาณ Wi-Fi แบบทั่วถึงจริง ๆ ส่วนข้อสังเกตุเล็ก ๆ ก็มีการเชื่อมต่อกับแอพฯ ครั้งแรก มีติดขัดนิด ๆ ต้อง Reset กับเสียบปลั๊กใหม่ กับดีไซน์ที่ดูธรรมดาไปนิด (อยากได้ดีไซน์แบบตัวรุ่นพี่อย่าง “MW6” มากกว่า) แต่ยังดีที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ทำให้วางตรงไหนก็ได้ไม่เกะกะ หรือเอาไปแขวนเลยจบ สุดท้ายนี้ ได้ข่าวว่าอาจจะมี แบบ set 2 ตัว มาวางขาย ให้เลือกซื้อกันอีกด้วย